ชำแหละไส้ใน พ.ร.บ.เงินตรา ธปท.ซ่อนเงื่อนใช้เงิน คลังหลวง ล้างขาดทุน 1 ต.ค. 50
thairat.jpgร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา ซึ่ง นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.กระทรวงการคลัง ได้ขอถอนเรื่องออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึง 3 ครั้ง เพื่อให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง นำกลับไปแก้ไข ปรับปรุงใหม่

โดยเฉพาะในประเด็นที่ถูกสื่อมวลชน และนักวิชาการ คัดค้านกันมากว่าเปิดช่องว่างให้ ธปท. และกระทรวงการคลัง รวมถึงนักการเมือง สามารถจะยื่นมือเข้าไปล้วงเงินจากบัญชีที่เรียกว่า คลังหลวง

 s_eco1.jpegอันเป็นสมบัติของชาติของแผ่นดินออกไปได้โดยสะดวกโยธิน ขณะเดียวกัน ก็มีจุดประสงค์เพื่อจะล้างผลการขาดทุนสะสมจากการแทรกแซงค่าเงินบาทของ ธปท.ทั้งในอดีต และที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในปี 2549 ได้นั้น กำลังจะถูกนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช. อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าคงจะเป็นสัปดาห์นี้ หลังจากที่ รมว.กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. รับหน้าที่ไปเชื้อเชิญบรรดาสมาชิก สนช.กว่า 40 คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปเหตุผล และสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายที่ผู้บรรยาย ทั้งฝ่าย ธปท.และกระทรวงการคลังต่างก็ยืนกรานในเจตนารมณ์ของพวกตนว่า ต้องการจะปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้น และสะท้อนกับผลการดำเนินงานของ ธปท.มากขึ้น นอกจากนี้แล้ว สาระสำคัญในร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ยังเป็นไปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการทุนสำรองเงินตรา ให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยให้ ธปท.สามารถจัดการกับสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราได้อย่างคล่องตัว ลดความเสี่ยงจากการถือหลักทรัพย์ต่างประเทศลง และเพิ่มความชัดเจนให้ ธปท.สามารถจะทำธุรกรรมการเงินต่างๆได้มากขึ้นด้วยอย่างไรก็ตาม แม้ผู้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ จะพยายามอ้างถึงเหตุผล และเจตนารมณ์อันดีของตนอย่างไร แต่ ทีมเศรษฐกิจ เชื่อว่า ยังมีสมาชิก สนช.อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้มีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ ธปท. และกระทรวงการคลังขณะเดียวกัน ผลพวงจากพฤติกรรมเก่าๆของการบริหารจัดการนโยบายการเงินของผู้บริหาร ธปท. ยังเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เราและสาธารณชนส่วนใหญ่ เกิดความไว้วางใจ และเชื่อมั่นในความสามารถของ ธปท.ในการบริหารจัดการ ทุนสำรองเงินตรา

หลังจากที่ประเทศ และประชาชนคนไทยกว่า 63 ล้านคน ต้องตกเป็นผู้รับภาระจากความเสียหายที่ผู้บริหารของ ธปท.ทั้งในอดีต และปัจจุบันเป็นผู้ก่อขึ้น!

 วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ความทรงจำที่น่าสะพรึงกลัวs_eco2.jpegความไว้เนื้อเชื่อใจที่รัฐบาล และประชาชนมีให้แก่ ธปท. และผู้ว่าการ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการนโยบายการเงินได้อย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงใดๆจากการเมืองอย่างต่อเนื่องมานาน ทำให้ไม่มีฝ่ายใดสามารถคัดค้าน หรือทัดทานการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย หรือการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท หรือแม้แต่การต่อสู้ค่าเงินบาทจนหมดหน้าตักในปี 2540 ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศได้! ยิ่งเมื่อมีการทำสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้า เสมือนเป็นการสร้างหนี้ในอนาคตผนวกรวมอยู่ในการต่อสู้ครั้งนั้นด้วย ความเสียหายที่มีการเปิดเผยออกมา ก็ยิ่งช็อกคนทั้งประเทศ และครั้งนั้น ไม่ใช่ ธปท.หรอกที่พ่ายแพ้แก่กองทุนเก็งกำไรข้ามชาติ (Hedge Fund) หากแต่คนไทยทั่วประเทศต่างหากที่ต้องตกอยู่ในสภาพที่พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ มีผลให้เศรษฐกิจยับเยินไปทุกหัวระแหง สิ่งที่อดีตผู้บริหาร ธปท.ทำในปีนั้น ไม่เพียงทำให้ความมั่งคั่งของประเทศไทยมลายหายไปในชั่วพริบตาเท่านั้น แต่ยังทำให้เศรษฐีจำนวนมากต้องกลายเป็นยาจก ยาจกกลายเป็นขอทาน บริษัทห้างร้านหลายพันแห่งต้องปิดกิจการ แบงก์ถูกยึด ไฟแนนซ์ถูกปิด ผู้คนหลายหมื่นต้องตกงาน ในขณะที่หลายกิจการของคนไทยมีอันต้องตกไปอยู่ในมือต่างชาติ หากย้อนกลับไปตรวจสอบความเสียหายในครั้งนั้นจากรายงานของ ธปท. เราๆท่านๆจะพบว่า ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ ที่เก็บสะสมมาหลายปีจนมีจำนวนทั้งสิ้น 39,830 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,035,500 ล้านบาท (26 บาท/เหรียญสหรัฐฯ) ได้ถูกนำไปสู้ค่าเงินบาทจนเกือบหมดสิ้น คงมีเหลือติดบัญชีอยู่เพียง 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ ธปท.ยังมีภาระหนี้จากการทำสัญญาซื้อขายเงินตราล่วงหน้าในวันที่ลอยตัวค่าเงินบาทอีก 25,700 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 668,200 ล้านบาท และในปีถัดมาขาดทุนอีก 83,417.9 ล้านบาท พร้อมกับมีผลการขาดทุนล่วงหน้าอีก 185,000 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 1,972,117.9 ล้านบาท เมื่อความเสียหายมีจำนวนมหาศาลดังเช่นที่ปรากฏ ในปี 2543 จึงมีความพยายามจะเสนอขอแก้ไขพระราชบัญญัติเงินตรา เพื่อรวมบัญชีของฝ่ายออกบัตรซึ่งเป็นผู้ดูแล คลังหลวงอันได้แก่ บัญชีทุน สำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีทุนสำรองพิเศษ เข้าไปรวมกับบัญชีของ ธปท.ในฝ่ายการธนาคาร เพื่อจะล้างผลการขาดทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เพื่อล้างความผิดพลาดของอดีตผู้บริหาร ธปท.ไปด้วยแต่โชคดีที่ข้อเสนอการรวมบัญชีคราวนั้น ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากหลวงตามหาบัว และประชาชนจำนวนมากที่ได้เข้าร่วมบริจาคเงิน และทองคำ เพื่อส่งมอบแก่ ธปท.นำเข้าเก็บรักษาในคลังหลวง โดยหวังจะช่วยกันเติมทุนสำรองในส่วนที่ขาดหายไปจากการสู้ค่าเงินบาทได้บ้างบางส่วน

ผลจึงทำให้ความพยายามจะแก้ไขพระราชบัญญัติเงินตรา โดยวิธีการมั่วนิ่มรวมบัญชีมีอันต้องล้มเลิกไป

 แก้ไข พ.ร.บ.เงินตราปี 45 ให้ อุ๋ยล้วงเงินจาก คลังหลวงs_eco3.jpegสาธารณชนได้รับทราบถึงการเสนอขอแก้ไขพระราชบัญญัติเงินตรา ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ ที่ใช้ในการรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงทางการเงินของประเทศอีกครั้ง ก็เมื่อ นายฉลองภพ เข้ามาสานต่องานในหน้าที่ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ และ รมว.กระทรวงการคลัง ที่ทิ้งค้างการผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการเงิน 4 ฉบับเอาไว้ให้กฎหมายการเงินฉบับแรกที่นายฉลองภพ เสนอเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนจะนำเข้าสู่วาระการพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบจากสนช. แต่ต้องถอนออกถึงสามครั้งสามคราอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็คือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา ฉบับนี้นี่เองสาเหตุที่ทำให้ นายฉลองภพ จำต้องถอนเข้าถอนออก ก็เพราะหวั่นว่า ประเด็นการให้อำนาจ ธปท. สามารถล้วงเอาเงิน หรือสินทรัพย์จากบัญชีทุนสำรองพิเศษไปเข้าบัญชีทุนสำรองเงินตรา ได้โดยไม่ต้องนำทรัพย์สิน จากบัญชีของฝ่ายการธนาคารมาแลกออกไปตามจำนวนธนบัตรที่พิมพ์ ออกใช้ ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้แก้ไขให้อำนาจแก่ ธปท.ไว้ในปี 2545 นั้น จะกลาย เป็นเชือกรัดคอตัวเองให้ต้องตกม้าตายกลางที่ประชุม สนช. ขณะเดียวกัน หากยังคงไว้ซึ่งสาระ สำคัญดังกล่าว อาจทำให้สาธารณชนรู้สึกถึงความไม่จริงใจในอันที่จะรักษาหลักการ ของพระราชบัญญัติเงินตราที่บรรพบุรุษให้ไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในกรณีที่ห้ามมิให้บุคคล หรือคณะบุคคล แตะต้องบัญชีอันเป็นคลังหลวง แม้ ธปท.จะอ้างว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ได้กำหนดขอบเขตของอำนาจการใช้เงินจากคลังหลวงไว้ว่า ธปท.จะดำเนินการดังกล่าวได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก รมว.กระทรวงการคลังก่อนก็ตาม แต่การคงไว้ซึ่งประเด็นดังกล่าว อีกทั้งการดึงเอาฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมกัน ในการล้วงเอาสมบัติเจ้าคุณปู่จากคลังหลวงมาใช้ได้ด้วย อาจหนักกว่าการรวมบัญชีที่เคยมีการเสนอมาในอดีตด้วยซ้ำนี่เองที่ทำให้หลายฝ่ายได้ทราบความจริงว่า ในช่วงเวลาที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ ธปท.อยู่นั้น เขาได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2545 ให้ ธปท.มีอำนาจนำเงิน หรือสินทรัพย์จากบัญชีทุนสำรองพิเศษ ไปเข้าเป็นสินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตราเพื่อหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ได้ถึงแม้ว่า ก่อนหน้าที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร จะเข้าไปนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการ ธปท. เขาจะโดดเข้าไปร่วมกระแสการคัดค้าน นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.กระทรวงการคลัง และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการ ธปท. ขณะนั้นอย่างแข็งขันไม่ให้มีการรวมบัญชี โดยเหตุที่เห็นว่า นั่นจะทำให้ประเทศไทยต้องล้มละลาย หากเปิดให้ ธปท.ล่วงละเมิดเปิดหีบสมบัติจากคลังหลวงไปใช้ได้ก็ตามที แม้สิ่งที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ทำจะไม่ได้เป็นการรวมบัญชี แต่การให้อำนาจ ธปท.ดำเนินการดังกล่าวได้โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้นำออกไปใช้ในการหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรแล้ว 225,000 ล้านบาท นั่นก็แทบไม่แตกต่างอะไรจากการรวมบัญชี ทั้งนี้ไม่ว่า จะอ้างว่า ทุนของ ธปท.ติดลบ หรือบัญชีในฝ่ายการธนาคารของ ธปท. ไม่มีสินทรัพย์เพียงพอจะนำไปหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตร จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดช่องให้ ธปท.ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ก็ตาม แต่ท้ายที่สุด มันก็ได้คำตอบแบบเดียวกัน รวมทั้งให้ความรู้สึกถึงความยอกย้อนซับซ้อน และไม่น่าไว้วางใจเพิ่มขึ้นยิ่งเมื่อสาธารณชนได้รับรู้ตัวเลขการขาดทุนจากการต่อสู้เพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลงในครั้งใหม่ของ ธปท.ซึ่งประมาณว่าจะสูงถึง 195,127 ล้านบาท นับแต่ช่วงปลายปี 2548 ต่อเนื่องถึงปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องผิดพลาดของ ธปท.อีกครั้ง เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปมากถึง 23.1% ทั้งยังแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกันแล้ว

ถึงจุดนี้ ความรู้สึกหวาดระแวง และไม่ไว้วางใจ ธปท.ยิ่งแผ่ขยายวงกว้างออกไป แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากจะฝากคลังหลวงเอาไว้กับคนที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก

 ธนบัตรหมดค่า ประชาชนล่อนจ้อนs_eco4.jpegถึงวันนี้ แม้ ธปท. และกระทรวงการคลัง จะยอมยกเลิกความในมาตรา 34/2 ที่ได้ให้อำนาจแก่ ธปท.นำเงิน หรือสินทรัพย์จากบัญชีทุนสำรองพิเศษ เข้าไปเป็นสินทรัพย์หนุนหลังธนบัตรออกใช้ในบัญชีทุนสำรองเงินตราแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะหยุดยั้ง ธปท.ไม่ให้ล่วงละเมิดคลังหลวงเกินกว่าความจำเป็นในการล้างผลการขาดทุนสะสม หรือเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงินตามวัตถุประสงค์แต่เดิม หรือแม้แต่เพื่อล้างผลการขาดทุนจากการดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดในรอบใหม่ได้!เพราะมาตรา 34/3 ที่ถูกเพิ่มเติมเข้าไป ได้ให้ อำนาจแก่ ธปท.ในการเข้าบริหารจัดการสินทรัพย์ในบัญชีคลังหลวงทั้ง 3 บัญชี อันได้แก่บัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษได้ จากเดิมที่กฎหมายห้ามไม่ให้มีการนำเอาทุนสำรองเงินตราไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ นอกจากเป็นสินทรัพย์ที่รัฐบาลประเทศที่น่าเชื่อถือเป็นประกันเท่านั้น และอำนาจนี้ ทำให้ ธปท.สามารถทำธุรกรรมการเงิน โดยมีทุนสำรองเงินตราเป็นเดิมพันได้อย่างกว้างขวาง! นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสหลายคนแสดงความห่วงใยอย่างมากว่า การให้อำนาจมากมายแก่ ธปท.ในลักษณะที่สามารถจะทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า แลกเปลี่ยนภาระการรับจ่ายดอกเบี้ย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่ทำให้ ธปท.สามารถจะนำทุนสำรองเงินตราเข้าไปเสี่ยงเพื่อการเก็งกำไร หรือหากำไรที่สูงขึ้นได้ หรืออาจใช้บัญชีทุนสำรองเงินตราไปต่อสู้ป้องกันค่าเงินบาทในอนาคต หรือเปลี่ยนสถานะของ คลังหลวงเป็นกองทุนเก็งกำไร (Hedge Fund) ได้เช่นนี้ อาจจะทำให้เกิดหายนะกับทุนสำรองเงินตราของประเทศขึ้นอีกครั้ง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงหลักการใหม่เป็นการถาวร โดยให้หักเอาดอกผล และกำไรจากบัญชีทุนสำรองพิเศษซึ่งเปรียบเสมือนบัญชีออมทรัพย์ และเป็นหัวใจสำคัญของคลังหลวง ไปใส่ในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ซึ่งเปรียบเสมือนบัญชีกระแสรายวัน เพื่อให้ ธปท.สามารถนำไปใช้หนี้ในต้นเงินกู้คืนกองทุนฟื้นฟูฯได้ก่อนนั้น นอกจากจะขัดหลักการทางบัญชีที่ ธปท.พร่ำบอก และบังคับให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ต้องใช้มาตรฐานบัญชีใหม่อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกรณีที่ต้องหักค่าใช้จ่ายจากบัญชีกำไรขาดทุนก่อน ไม่ใช่มาหักค่าใช้จ่ายจากบัญชีออมทรัพย์แล้ว วิธีการเช่นนี้ ยังไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนโดยรวมด้วยอย่าลืมว่า สินทรัพย์ในบัญชีสำรองเงินตราเป็นสินทรัพย์ ที่ต้องคงไว้ให้มีมูลค่าเท่ากับจำนวนธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ หากปล่อยให้มีการนำออกไปใช้ หรือเจาะเซฟเอาดอกผลที่เก็บอยู่ในบัญชีทุนสำรองพิเศษไปใช้ตลอดเวลาเพียง เพื่อจะชดเชยการขาดทุนจากผลการบริหารจัดการนโยบายการเงินที่ผิดพลาด โดยที่ผู้บริหารของ ธปท.ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ต้องรับผิดชอบ หรือปรับปรุงวิธีการทำงานของตนนั้น อย่าว่าแต่ธนบัตรไทยจะหมดค่าลงในที่สุดเลย เผลอๆคนไทยทั้งประเทศ อาจต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่เหลือแม้แต่ผ้าผ่อนปิดร่างกาย ถ้าปล่อยให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาจนมีผลบังคับใช้!!

ทีมเศรษฐกิจ