ควรเลื่อน พ.ร.บ.เงินตรา โดย ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร

viwatchai.jpg

แหล่งที่มา  หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  ฉบับวันที่ 10  ตุลาคม  2550  หน้าที่4  คอลัมน์เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต 

ควรเลื่อน  พ.ร.บ.เงินตรา 
โดย  ดร.วิวัฒน์ชัย  อัตถากร

 1.นำเรื่อง  ร่าง พ.ร.บ.เงินตรา  พ.ศ. .....  ได้ถูกนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  เมื่อวันพุธที่ 3 ตุลาคม  2550  ท่ามกลางกระแสคัดค้านท้วงติงจากสังคม  รัฐบาลจึงเลื่อนการพิจารณาออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์เป็นวันพุธที่  10  ตุลาคม  2550  ทางกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ยังคงยืนยันความจำเป็น  ในขณะที่อีกฝ่ายท้วงติงด้วยความห่วงใยอยากให้แก้ไข 2.บทบาท  ธปท.   ภาระกิจหลักของ ธปท. คือ การดูแลความมั่นคงทางการเงินของชาติ  รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  ไม่ให้เกิด เงินเฟ้อ / เงินฝืด / เงินตึงจนเกินไป  กำหนดนโยบายการเงินอย่างเหมาะสม  กำกับตลาดการเงิน  ตลาดทุน  และสถาบันการเงิน  ดูแลค่าเงินบาทหรืออัตราแลกเปลี่ยนให้มีค่าถูกต้องสม่ำเสมอ  ไม่ผันผวน  มีเสถียรภาพ  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน            

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคือ  หลักการ  หากแต่ในทางการปฏิบัติอาจทำได้บ้าง หรือทำไม่ได้บ้าง  หรือทำไม่ได้เลย  หรือทำแล้วประสบความล้มเหลว  ดังเช่นวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี  2540  กลายเป็น  โศกนาฏกรรมต้มยำกุ้ง” ที่ยังเป็นเหตุการณ์ฝังใจคนไทยอย่างไม่รู้ลืม  ประเทศไทยขาดทุนจากการปกป้องค่าบาทนับแสนล้านบาท  และขาดทุนหลายแสนล้านบาทจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุน 56แห่งที่ปิดกิจการ  ดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)ในยุครัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์   อันเป็นผลสืบเนื่องจากการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน  ในกรอบคิดที่ผิด  โดยเฉพาะปรัชญาว่าด้วยสถาบันการเงินล้มไม่ได้ต้องอุ้ม ถึงแม้ว่าการบริหารนั้นขาดประสิทธิภาพและมีการฉ้อฉลปนอยู่ด้วยก็ตามแต่   ความจริงจะโทษเป็นความล้มเหลวของ ธปท.ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ อันที่จริงเป็นผลจากความผิดพลาดของแนวทางและการพัฒนาของฝ่ายการเมืองในหลายๆรัฐบาล รวมอยู่ด้วยจนนำมาซึ่งฟองสบู่แตก  รวมไปถึงการฉ้อฉลคดโกงในภาคการเงิน  ภาคบรรษัท  ภาคการเมือง  ภาคราชการ  ตลอดจนกิเลสอันล้นเกินของภาคประชาชนอีกด้วย      

         

 อย่างไรก็ตาม  ธปท.คงปฏิเสธความรับผิดชอบใน,ฐานะ  “ปราการทางการเงิน”  ของชาติได้ยากยิ่ง ในภาวะวิกฤติ ธปท.ย่อมเป็นประหนึ่งปราการด่านสุดท้ายทางเศรษฐกิจ  ที่คนไทยหวังเป็นที่พึ่งพิงได้ ในช่วงปี  2550  ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับจนถึงประมาณ 33 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเป็นค่าทีไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่การเข้าไปแทรกแซงเพื่อชะลอค่าที่แข็งขึ้นครั้งนั้น ว่ากันว่าธปท.ขาดทุนกว่า 170,000 ล้านบาท อันที่จริงหลังวิกฤตการณ์ปี  2540  ธปท.เองก็มีความตั้งใจที่จะปรับตัวเองและพัฒนาขนานใหญ่  เพื่อเรียกศรัทธากลับคืนมา  หากย้อนมองความจริงในอดีตถึงการบริหารยุคผู้ว่าการธปท.  ศาสตราจารย์  ดร.  ป๋วย  อึ้งภากรณ์  ได้เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการต่างประเทศอย่างกว้างขวาง  ว่าเงินบาทเป็นเงินสกุลหนึ่งที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในโลกนานนับสิบปี อันเป็นผลจากการบริหารยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัดในยุคนั้น                

ธปท.มีหน่วยงานสองฝ่ายดูแลค่าเงินบาท  ได้แก่  ฝ่ายการธนาคารและฝ่ายออกบัตร  รายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้าและบริการส่งออกให้นำเข้าบัญชีฝ่ายการธนาคาร  ฝ่ายนี้รับผิดชอบด้านการปกป้องค่าเงิน  รวมถึงการเก็งกำไรในตลาดเงินตราต่างประเทศ  ส่วนฝ่ายออกบัตรมีหน้าที่หลักในการผลิตธนบัตร  ตามหลักกฎหมายกำหนดให้ทุกบาทที่พิมพ์ออกมาจะต้องหนุนหลังโดยทุนสำรองเงินตราในรูปทองคำและเงินตราต่างประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ60 และพันธบัตรรัฐบาลได้ไม่เกินร้อยละ  40  ฝ่ายออกบัตรประกอบด้วยสามบัญชีคือ บัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ  ในทางปฏิบัติจะโอนเงินตราต่างประเทศจากฝ่ายการธนาคาร มาเข้าบัญชีทุนสำรองเงินตรา ยามใดเมื่อมีการพิมพ์ธนบัตร               ปัจจุบันบัญชีทุนสำรองเงินตรามีทรัพย์สินประมาณเกือบ 8 แสนล้านบาท  สำหรับดอก

ผลจากทุนสำรองเงินตรา  จะถูกนำเข้าบัญชีผลประโยชน์ประจำปี  ตอนนี้มีรวม 1 หมื่นล้านบาทเศษ  ส่วนที่เหลือจากค่าใช้จ่ายต่างๆ  ในบัญชีผลประจำปี  จะโยกไปไว้ในบัญชีทุนสำรองพิเศษ ซึ่งมีรวมกันกว่า 7แสนล้านบาทบัญชีนี้รวมถึงบัญชีผ้าป่ามหากุศลกู้ชาติของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน  เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานีอยู่ด้วย  เงินทั้ง3บัญชีมีรวมกันอยู่ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ในอดีตด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลด้านความมั่นคงทางการคลังของประเทศ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทานเงิน 12 ล้านบาท (เมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีที่แล้วมีมูลค่ามหาศาล) เป็นทุนประเดิมในคลังหลวง  เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจักต้องจารึกและจดจำ  เพราะเงินจำนวนนี้เป็นเสมือน “เงินขวัญถุง”  อันเป็นสิริมงคลอเนกอนันต์ที่รักษาไว้เรื่อยมา  เป็นเงินเริ่มต้นเข้าคลังหลวงเพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงให้กับประเทศซึ่งจัดอยู่ในบัญชีสำรองพิเศษ   เรื่องอดีตที่ทรงคุณค่าน่าจดจำอย่างนี้ กลับไม่ได้รับการบอกกล่าวเล่าต่อ  ถ่ายทอดให้ลูกหลานไทยได้รับรู้รับทราบ   จึงไม่น่าแปลกใจว่า  ทำไมคนไทยสมัยนี้จึงตัวเป็นคนไร้ราก

3.ฝ่ายหนุน vs ฝ่ายค้าน      รัฐบาลอ้างเหตุผลของการแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา  เพื่อมุ่งให้เกิดความคล่องตัว  นำทรัพย์สินในบัญชีลงทุนหาดอกผล  อ้างหลายประเทศทำเช่นนั้น  ต้องแก้ไขให้เอื้ออำนวยต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ศิษย์หลวงตามหาบัวยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีขอให้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะประเด็นการให้อำนาจ  ธปท.มากเกินไป  เกรงว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของระบบเงินตราของประเทศ  เพราะธปท.เคยบริหารเงินผิดพลาดมาแล้ว                ดร.วีรพงศ์  รามางกูร ไม่เห็นด้วยกับ ธปท.โดยชี้ว่าไม่ควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการของทุนสำรองเงินตรา  ซึ่งเดิมทรัพย์สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศของธปท.ในผ่านการธนาคารที่อยู่ในบัญชีทุนสำรองทั่วไปนั้น ธปท.จะบริหารจัดการเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน  พอทำแล้วมีกำไรหรือขาดทุนของฝ่ายการธนาคาร  จะไปโยกเงินจากสามบัญชี ซึ่งถือเป็นคลังหลวงไม่ได้ (ประชาชาติธุรกิจ17-19ก.ย.50)         ธปท.ยังถูกวิจารณ์อีกว่า  การแก้กฎหมายนั้นทำเพื่อล้างการขาดทุนสะสมจากการแทรกแซงค่าเงินที่ล้มเหลวหรือไม่?  แต่ธปท.ปฎิเสธว่า  ไม่เกี่ยวกัน  อย่างไรก็ดียังมีข้อสงสัยจากสาธารณชนตามมาอีก  เช่น  จะมีหลักประกันหรือไม่อย่างไรว่า  ธปท.จะดูแลค่าเงินในระบบอนาคตได้ดีกว่าระบบปัจจุบันหลังจากมีระบบใหม่แล้ว  เมื่อพ.ร.บ.นี้ประกาศใช้แล้ว

 

4. ปรับแก้ให้รอบด้านบนฐานคิดที่รอบด้าน เรื่องของการปรับปรุงกฎหมายเพื่อก้าวให้ทันโลก  คงไม่มีใครเถียงว่า  ถ้าดีจริง ?!?  ทำนองกลับกันธปท.ก็ควรใส่ใจรับฟังเสียงท้วงติงเสนอะแนะจากสังคมอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน  อย่างนี้แล้ว  การพัฒนาตัวบทกฎหมายจึงจะสามารถนำพาการบริหารนโยบายการเงินของชาติยกระดับสู่”คุณภาพใหม่” ได้ไม่ยาก  ควรเลื่อนพิจารณา  ร่างพ.ร.บ. เงินตราออกไปอีกซัก 3 ถึง 4 สัปดาห์ เปิดเวทีสาธารณะถกกันปรับปรุงให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงเสนอต่อ  สนช.ใหม่ ไม่ใช่ไปเร่งรีบรวบรัดอย่งที่ รมช.คลัง(นายสมหมาย ภาษี) ผลักดันอย่างเต็มเหนี่ยวจะให้ผ่าน  สนช.ในวันพุธที่10 ตุลาคม 2550 นี้ให้จงได้  ของดีจริงต้องผ่านการกลั่นกรองให้มีส่วนร่วมจากสาธารณะในวงกว้าง  โดยเฉพาะกฎหมายการเงินฉบับนี้  จะผูกพันกับการได้เสียบนชีวิตของคนไทยในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ  รัฐบาลจึงควรทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดีกว่านี้           

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจ  ธปท.ขาดทุนสะสมแทบทุกปี  ผลขาดทุน 1,742ล้านบาท ในปี 2548 เพิ่มเป็น 102,287 ล้านบาทในปี 2549 เป็นผลจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ  และดอกเบี้ยจ่ายจากการเข้าดูแลค่าเงินบาทเป็นหลัก  ธปท.ยังมีภาระต้องชดเชยความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาสถาบันการเงิน(กรส)ในส่วนเงินต้น และกระทรวงการคลังในส่วนดอกเบี้ย  การที่ธปท.ดำเนินงานขาดทุนจึงไม่สามารถนำเงินส่งกระทรวง  การคลังได้  ส่วนเงินต้นของ กรส. มีค้างชำระอยู่หลายแสนล้านบาท  อีกทั้งกระทรวงการคลังต้องแบกภาระดอกเบี้ยถึงปีละ 6 หมื่นล้านบาท

 

ผมมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้1.   แก้กฎหมายให้ธปท.นำเงินเฉพาะของฝ่ายการธนาคารลงทุนได้มากขึ้น  โดยจัดความเสี่ยงให้เหมาะสม  อย่า แก้กฎหมายให้นำทุนสำรองจากสามบัญชีในฝ่ายออกบัตร  ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง  ควรเก็บรักษาไว้เพื่อแนวทางเดิมจะดีกว่า2.   ออกกฎหมายเก็บภาษีมรดก  ภาษีกำไรจากการขายหุ้น  และแก้ภาษีกำไรจากการเก็งกำไรที่ดินให้มีอัตราก้าวหน้ายิ่งขึ้น  นำเงินภาษีดังกล่าวมาแก้ไขความเสียหายจากวิกฤติการณ์ทางการเงิน ในส่วนดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลัง  รับภาระอยู่   ส่วนภาระเงินต้นให้  กรส.รับผิดชอบครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งนำมาจากภาษีทางตรงตัวใหม่ดังกล่าว  ทำอย่างนี้เป็นธรรมกับประชาชนคนชั้นกลางและชั้นล่างมากกว่า  ไม่ต้องแบกรับจนเกินไป  เพราะไม่ใช่”ตัวการ”ทำให้เกิดวิกฤติการณ์ในครั้งนั้นเลย  โครงสร้างภาษีที่ดำรงอยู่ไม่ยุติธรรม  เพราะพึ่งพาภาษีทางอ้อมทุกยุคทุกรัฐบาล  จนป่านนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดๆ กล้าหาญชาญชัยคิดจะปฏิรูปภาษีที่ทางตรงตัวใหม่ดังกล่าวเลยมาช้านานแล้ว  การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเมือง  จึงมักสร้างภาวะให้คนชั้นล่างที่หมดทางไป  มายาวนานชั่วนาตาปีก็ว่าได้3.    ไม่ปฏิเสธการมอบบทบาทสำคัญแก่ ธปท.ในการบริหารนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนแต่ควรมีการคาดคะเนให้ดี  การมีคณะกรรมการหลายชุด มิใช่  จะมีหลักประกันอย่างดีพร้อมเสมอไปอย่างที่ธปท.อ้าง  ได้แก่  คณะกรรมการนโยบายการเงิน  คณะกรรมการสถาบันการเงิน  และคณะกรรมการระบบชำระเงิน  ซึ่งจะมีคนภายนอกมากกว่ากรรมการจากธปท.  แต่มักครอบงำด้วยจิตสำนึกคิดยึดติดคัมภีร์การเงินของฝรั่งอย่างไม่จำแนกแยกแยะ  ขาดความลึกซึ้งในกระบวนการโลกาภิวัฒน์ที่มีทั้งโอกาสและภัยคุกคามดีไม่ดีอาจมีประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นได้ไม่ยาก  ดังนั้นจึงควรมีกลไกคัดค้านจากภาคประชาชน  นักวิชาการอิสระ  และรัฐสภา อย่างเป็นจริงเสมอ ๆ                4 รมช.คลัง  นายสมหมาย   ภาษี  อ้างความเร่งด่วน  บอกให้เร่งผ่าน  สนช.วาระแรกเลย  แล้วค่อยไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ  ในสมัยรัฐบาลชั่วคราวอยากผลักดันกฎหมายไหนให้ผ่านเร็วๆ ก็จะเล่นมุกนี้ทั้งนั้  ผมกลับมองต่างมุมว่า  กฎหมายที่มีความสำคัญต่ออนาคตของชาติอย่างนี้  ควรทำให้เรียบร้อยก่อนนำเข้า  สนช.จะดีกว่า  โดยการเปิดเวทีสาธารณะเคารพการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง  ปรับปรุงร่างพ.ร.บ. ให้สมบูรณ์เสียก่อน  มากกว่าจะไปทำกันในกรรมาธิการไม่กี่สิบคน  อย่าให้คนเขาวิจารณ์กันเลยว่า  จะเร่งรีบรวบรัดเพื่ออะไรไปถึงไหน  ก็รู้อยู่แก่ใจว่ายุคนี้เป็นยุครวบอำนาจ  คมช.สภาเดียวอยู่แล้ว                ควรเลื่อนการพิจารณา พ.ร.บ. เงินตราออกไป  ทำให้สมบูรณ์เสียก่อนแล้วนำสู่สนช.พิจารณาต่อไปหากอยากได้ของดีเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย  เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ  ไม่มีอะไรล่าช้าไปหรอกครับ ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2550 หน้า4 คอลัมน์เศรษฐศาตร์เพื่อชีวิต