กระทรวงการคลัง ? นักวิชาการ หนุน แบงก์ชาติรวมบัญชีรายรับ - รายจ่าย

Money channel : Posted on Friday, March 05, 2010

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเงินทุนสำรองมาชำระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่ปัจจุบันมีประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งการนำเงินสำรองมาชำระหนี้สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการออกพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำให้ธปท.รับซื้อ เพื่อลดภาระการคลัง หรือแก้กฎหมาย เพื่อรวมบัญชี แต่เบื้องต้นจำเป็นต้องประเมินข้อดี - ข้อเสีย และผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องสามารถอธิบายให้ทุกฝ่ายเข้าใจได้

นายกรณ์ บอกด้วยว่า หลังจากวิกฤติปี 2540 รัฐบาลต้องแบกรับภาระจ่ายดอกเบี้ยหนี้กองทุนฟื้นฟูประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุกคน ต่างมีแนวคิดที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด และยอมรับว่าเป็นปัญหาที่หนักมาก

 

ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ในทางเศรษฐกิจมีความจำเป็นมากที่ธปท. ควรรวมบัญชีรายรับ - รายจ่ายจากปัจจุบันที่มีทั้งหมด 3 บัญชีประกอบด้วย บัญชีทุนสำรองเงินตรา , บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ เป็นบัญชีเดียวกัน เพื่อให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวมากขึ้น และสะท้อนฐานะแท้จริงของแบงก์ชาติที่มีโอกาสจะมีกำไร ซึ่งหากรวมทั้ง 3 บัญชีเข้าด้วยกันจะทำให้แบงก์ชาติมีเงินสำรองสูงถึง 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะสามารถนำส่งเงินต้น เพื่อชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูได้ หลังที่ผ่านมาแบงก์ชาติไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ส่งผลให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงถึงเฉลี่ยปีละ 6 – 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผลต่อฐานะการคลังของประเทศ

 

ทั้งนี้จากการสำรวจธนาคารกลางทั่วโลกจำนวน 52 ประเทศ ที่มีการใช้ระบบเงินสำรองพบว่า ส่วนใหญ่ได้รวมบัญชีเข้าไว้ด้วยกันแล้ว ซึ่งมีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่ยังแบ่งแยกบัญชีอยู่ เช่น ประเทศอังกฤษ และไทย เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสำรองระหว่างประเทศหนุนหลังการออกพันธบัตรแล้ว