คลังถอน พ.ร.บ.เงินตรา-ขอแก้ไขก่อนเข้าสภาฯ
managerรมว.คลังเสนอให้ ครม.ถอนวาระร่าง พ.ร.บ.เงินตราฉบับปรับปรุงแก้ไขของธนาคารแห่งประเทศไทย ออกจากการพิจารณาของ สนช.ตลอดเดือนนี้ ให้เหตุผลขอปรับปรุงแก้ไขก่อน นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (4 ก.ย.) ว่า กระทรวงการคลังได้เสนอให้ ครม.ถอนวาระเรื่องร่าง พ.ร.บ.เงินตราฉบับปรับปรุงแก้ไข ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนนี้ ซึ่งตามกำหนดเข้า สนช.วันที่ 12 ก.ย. กระทรวงการคลังให้เหตุผลว่าเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันที่จะนำเสนอร่างดังกล่าวให้ผ่านการพิจารณาให้ทันในรัฐบาลชุดนี้

ก่อนหน้านี้ นายฉลองภพได้สั่งการให้ถอนร่าง พ.ร.บ.เงินตรา ออกจากการพิจารณาของสภาฯ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.มาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่า หากนำเข้าในขณะนั้นอาจถูก สนช.ตั้งคำถามที่ไม่สามารถชี้แจงได้ โดยเฉพาะประเด็นเปิดทางให้ ธปท.รวมบัญชีคลังหลวงกับบัญชี ธปท.เพื่อล้างขาดทุนสะสมของ ธปท.ในการแทรกแซงค่าเงินบาท ใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูและใช้เป็นทรัพย์สอนหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ทั้งนี้ กำหนดการณ์ใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.อีกครั้งในวันที่ 12 ก.ย.นี้ กระทั่งวานนี้ได้เลื่อนออกไปอีกครั้ง

นายฉลองภพระบุว่า สาเหตุการเสนอถอนร่างแก้ไขพระราชบัญญัติเงินตราวานนี้ เพื่อนำมาปรับปรุงในบางประเด็นที่ทำให้เกิดการโจมตีได้แก่มาตรา 34/2 ที่อนุญาตให้ธนาคารแห่งประเทสไทย มีอำนาจโอนสินทรัพย์จากบัญชีสำรองพิเศษขึ้นเป็นสินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อหนุนหลังธนบัตร โดยจะแก้ไขข้อความเดิมที่ไม่ได้ระบุขอบเขต "อำนาจ" ของ ธปท.ให้มีความชัดเจน ได้แก่ อำนาจในการโอนสินทรัพย์จากบัญชีพิเศษมายังบัญชีทุนสำรองเงินตราและอำนาจในการบริหารสินทรัพย์บัญชีทุนสำรองเงินตราและบัญชีผลประโยชน์ประจำปี โดยอาจจะกำหนดเพดาน วงเงินที่ ธปท.ใช้ หรือออกประกาศกระทรวงการคลังประกอบ พ.ร.บ.

เขายืนยันว่า มาตราดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีอยู่เดิมและได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎเกณฑ์ให้ ธปท. สามารถนำสินทรัพย์ไปใช้ได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อกลายเป็นประเด็นที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการเปิดช่องให้ ธปท. นำเงินไปใช้ก็จะตัดมาตราดังกล่าวทิ้งพร้อมยืนยันว่าจะทำให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้

"กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินมักจะมีข้อกฎหมายด้านเทคนิคที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจยากจึงต้องทีการชี้แจงให้ทุกฝ่ายได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อบังคับใช้ โดยเฉพาะการชี้แจงรายละเอียดในเชิงเทคนิคของกฎหมายฉบับนี้ให้กับ สนช.ได้รับทราบถึงผลดี"
นายฉลองภพกล่าว

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ ธปท.ได้จัดสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.เงินตรา ในงานดังกล่าว ผู้บริหาร ธปท.ชี้แจงว่า การแก้ไขกฎหมายเงินตราในครั้งนี้มีหลักการสำคัญอยู่ 3 ประการคือ

  1. เพื่อให้การบริหารทุนสำรองเงินตรามีการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ดีขึ้น เนื่องจากกฎหมายเงินตราฉบับปัจจุบันกำหนดให้แบงก์ชาติสามารถนำสินทรัพย์ในงบทุนสำรองเงินตราไปลงทุนในหลักทรัพย์บางประเภทเท่านั้น

  2. เป็นการจำกัดอำนาจของแบงก์ชาติในการนำสินทรัพย์ในบัญชีสำรองพิเศษไปหนุนหลังธนบัตรออกใช้ ทั้งนี้ กฎกระทรวงจะกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขข้อจำกัดเกี่ยวกับการขออนุญาตนำสินทรัพย์ออกจากบัญชีสำรองพิเศษ เช่น กำหนดให้ธปท.ต้องชี้แจงเหตุความจำเป็นในการนำสินทรัพย์ออกใช้อย่างชัดแจ้ง กำหนดวิธีบันทึกบัญชีสำหรับการโอนสินทรัพย์ดังกล่าวให้ถูกต้อง กำหนดวงเงินให้ธปท.สามารถนำออกใช้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดรวมทั้งเงื่อนไขในการนำสินทรัพย์นั้นส่งคืนเมื่อเหตุแห่งความจำเป็นนั้นสิ้นสุดลง

  3. การเปลี่ยนแปลงวิธีการลงบัญชีให้สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงมากขึ้น

สนช.เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบวันนี้

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันนี้ (5 ก.ย.) จะเริ่มขึ้นในเวลา 13.30 น. จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 วงเงินงบประมาณ 1,660 ล้านบาท หลังคณะกรรมการวิสามัญซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีการปรับลดและเพิ่มงบประมาณในบางรายการ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคณะกรรมาธิการมีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องของนโยบาย และการบริหารการจัดการงบประมาณ โดยเห็นว่าหลายหน่วยงานมีการกำหนดโครงสร้าง และขอบเขตอำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจน ซ้ำซ้อน และขาดประสิทธิภาพ การดำเนินงานขององค์การมหาชน และเงินทุนหมุนเวียนบางแห่ง เหมือนกับส่วนราชการมีการใช้จ่ายเงิน ในอัตราที่สูงเกินความจำเป็น และควรทบทวนระยะเวลาการก่อหนี้ผูกพัน โครงการของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากหากมีการก่อหนี้ผูกพันที่มีระยะเวลายาวเกินไป จะทำให้การบริหารการเงินการคลังขาดสภาพคล่อง และจะกลายเป็นภาระ ต่อการบริหารงานของรัฐบาลชุดต่อๆ ไป