คลังหลวง รับทอง 600 กก.ยอดรวมโครงการหมื่นล้าน
managerผู้จัดการรายวัน - หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนจัดพิธีมอบทองคำ 48 แท่ง น้ำหนัก 600 กิโลกรัม ครั้งที่ 14 ให้คลังหลวงเพิ่มเติม โดยมีผู้ว่าแบงก์ชาติเป็นผู้รับมอบ ทำให้ล่าสุดยอดบริจาคในโครงการช่วยชาติมีทองคำทั้งสิ้น 931 แท่ง น้ำหนักรวม 11,637.5 กิโลกรัม และเงินดอลลาร์กว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้าน ธปท.โยงเรื่อง พ.ร.บ.เงินตราให้ รมว.คลังคนใหม่ดูแทน

วานนี้ (19 ธ.ค.) เวลา 14.00 น. ณ สวนแสงธรรม ถนนพุทธมณฑลสาย 3 กรุงเทพมหานคร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีมอบทองคำเข้าทุนสำรองเงินตราหรือคลังหลวง ครั้งที่ 14 จำนวน 48 แท่ง น้ำหนักรวม 600 กิโลกรัม จาก พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ซึ่ง นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นตัวแทนรับมอบครั้งนี้

มอบทอง50โดยการมอบทองคำให้แก่ ธปท. ในครั้งนี้ เพื่อนำเข้าคลังหลวงเพิ่มเติม หลังจากหลวงตามหาบัวตั้งใจจะปิดโครงการช่วยชาติของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ในการบริจาคครั้งสุดท้าย คือ ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 47 ที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นยังมีพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปบริจาคอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีจัดพิธีมอบทองคำเพิ่มเติมในครั้งนี้ ทำให้ล่าสุดโครงการดังกล่าวมียอดรับบริจาคทั้งสิ้น 931 แท่ง น้ำหนักรวม 11,637.5 กิโลกรัม และเงินดอลลาร์สหรัฐ 10,214,600 เหรียญสหรัฐ หรือมียอดบริจาคในรูปของเงินบาททั้งสิ้น 10,300 ล้านบาท

สำหรับโครงการช่วยชาติ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนได้รับบริจาคมาแล้ว 9 ปี โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 41 มอบเงินดอลลาร์จำนวน 1,278,000 เหรียญสหรัฐ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 พ.ค.42 ทองคำ 83 แท่ง น้ำหนัก 1,036.73 กิโลกรัม และเงินดอลลาร์จำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ครั้งที่3 เมื่อวันที่ 21 เม.ย.44 ทองคำ 82 แท่ง น้ำหนัก 1,024.24 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ครั้งที่4 เมื่อวันที่ 2 ก.ค.44 มอบทองคำ 55 แท่ง คิดเป็น 687.10 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 3 แสนเหรียญ

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 26 ก.ย.44 มอบทองคำ 145 แท่ง น้ำหนัก 1,811.75 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 4 แสนเหรียญ ครั้งที่6 เมื่อวันที่ 11 เม.ย.45 ทองคำ 40 แท่ง น้ำหนัก 499.61 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 3 แสนเหรียญ ครั้งที่7 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.45 ทองคำจำนวน 40 แท่ง น้ำหนัก 499.61 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 3 แสนเหรียญ ครั้งที่8 มอบ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.46 มอบทำคำ 42 แท่ง น้ำหนัก 525 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 4 แสนเหรียญ

โดยในปี 46 มีการบริจาคถึง 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 10 ก.ค.46 ส่งมอบทองคำ 49 แท่ง น้ำหนัก 612.5 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 4.32 แสนเหรียญ ครั้งที่10 เมื่อวันที่ 26 ส.ค.46 ทองคำ 82 แท่ง น้ำหนัก 1,025 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 3 แสนเหรียญ ครั้งที่11 เมื่อวันที่ 26 ส.ค.46 ทองคำ 112 แท่ง น้ำหนัก 1,400 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 5 แสนเหรียญ

ส่วนในปี 47 มีการบริจาค 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.47 มอบทองคำ 95 แท่ง น้ำหนัก 1,187.5 กิโลกรัม เงินดอลลาร์ 2,004,600 เหรียญ ครั้งที่13 เมื่อวันที่ 19 ส.ค.47 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์มอบทองคำเข้าคลังหลวงแก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธปท.ในสมัยนั้นรับมอบทองคำ 58 แท่ง น้ำหนัก 725 กิโลกรัม และล่าสุดเมื่อวานนี้(19ธ.ค.)มอบทองคำ 48 แท่ง น้ำหนัก 600 กิโลกรัมมอบ50

ด้าน นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า การรับมอบทองคำ 48 แท่ง น้ำหนักรวม 600 กิโลกรัมในครั้งนี้จะนำเข้าทุนสำรองเงินตรา ซึ่งจะรักษาความมั่นคงตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค และการรับบริจาคครั้งนี้ไม่ได้พูดคุยกับหลวงตามหาบัวเรื่องพ.ร.บ.เงินตราแต่อย่างใด และต่อไปการเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.เงินตราต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในสมัยหน้าเป็นผู้ดูแล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคนปัจจุบัน

พล.ร.ท.ตรีรัตน์ ชมะนันท์ ผู้แทนจากโครงการช่วยชาติ กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์ชาติไทย บุรพมหากษัตริยาธิราชและบรรพบุรุษต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการกว่าจะวางรากฐานบ้านเมืองให้ลูกหลายได้อยู่อย่างมีความสุขร่มเย็นตลอดจนทุกวันนี้ ต้องยอมพลีชีพ พลีทรัพย์สินเงินทอง พลีครอบครัวเหย้าเรือน เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายออกไปต่อสู้ เพื่อรักษาผื่นแผ่นดินนี้ไว้ และต้องพยายามเสาะแสวงหารายได้ เพื่อนำมาพัฒนาบ้านเมือง ทรัพย์สมบัติที่หามาได้ ขณะเดียวกันก็รู้จักใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลและมีประมาณ แม้กระทั่งแบ่งทรัพย์ โดยแยกเก็บสะสมไว้เป็นทุนรอนแก่ลูกหลานในวันหน้า และจากอดีตที่ผ่านมา ท่านก็ไม่เคยก่อหนี้สินพะรุงพะรังให้ลูกหลานที่เกิดมาภายหลังต้องแบกรับภาระอันหนักหนาหรือต้องมาทนทุกข์ยากลำบากเพราะท่าน

แม้ในยามวิกฤตไม่มีทางออก ลูกหลานก็ได้อาศัยทุนสำรองที่บรรพบุรุษท่านเก็บสะสมไว้มาช่วยไถ่ถอนบ้านเมือง เช่น เหตุการณ์ ร.ศ.112 ปีพุทธศักราช 2436 ต้องใช้ทั้ง เงินถุงแดงที่เก็บไว้ตั้งแต่รัชการที่ 3 ยาวนานถึงรัชการที่ 5 และใช้เงินทองบริจาคของล้นเกล้ารัชการที่ 5 พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชการ จึงสามารถระงับดับไฟให้ผ่านพ้นไปจากสยามประเทศได้จากเงินถุงแดงจนกระทั่งในปัจจุบันเรียกว่า ทุนสำรองเงินตรา หรือคลังหลวงตามความหมายของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แต่สิ่งที่บุรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ตลอดจนบรรพบุรุษทุกยุคสมัยดำรงรักษาไว้อย่างมั่นคงตลอดกาลไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย

"การมอบทองคำเข้าสู่คลังหลวงของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2541 จนกระทั่งปัจจุบันนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงความรัก ความเสียสละและความสามัคคีของคนในชาติ ตลอดจนเป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินรอยตามบรรพบุรุษ เพื่อปกป้องคลังหลวง และจะรักษาหลักการ รวมทั้งเจตนารมณ์ของคลังหลวงไม่ให้เปลี่ยนแปลงไป เพราะคลังหลวง คือ หัวใจของชาติ เมื่อสิ้นคลังหลวงก็เท่ากับสูญสิ้นแล้ว ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์" พล.ร.ท.ตรีรัตน์ กล่าว