บันทึกความทรงจำของคลินตัน จากคอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร

dr.weerapong_ramakul_.jpg

 เรื่องที่น่าสนใจที่คุณทนง ขันทอง เอามาเขียนลงในหนังสือพิมพ์ "เดอะเนชั่น" นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจและสะกิดใจมาก อดีตประธานาธิบดี คลินตัน คงตั้งใจเขียนไว้ให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เรื่องที่ว่าก็คือเรื่องที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เริ่มต้นจากบ้านของเราในปี 2540 จนได้รับการขนานนามว่า "โรคต้มยำกุ้ง" เพราะต้มยำกุ้งเป็นอาหารไทยที่ได้รับความนิยมและรู้จักไปทั่วโลก วิกฤตการณ์นั้นลุกลามข้ามทวีปไปยังประเทศรัสเซียและบราซิลอย่างที่เราทราบ

อดีตประธานาธิบดีคลินตัน ยอมรับว่าตัดสินใจผิดที่ไม่ได้ช่วยเหลือประเทศไทยเลย แม้แต่ดอลลาร์เดียว
ท่านเล่าว่าเมื่อประเทศไทยถูกโจมตีหลังจากฟองสบู่แตกในปี 2540 ระบบสถาบันการเงินล้มระเนระนาด หนี้ต่างประเทศของไทยถีบตัวสูงขึ้นถึง 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ตลาดหลักทรัพย์ฯพังพินาศ เจ้าหนี้ต่างประเทศเรียกหนี้คืนหมด ทำให้เงินไหลออกจากประเทศอย่างรวดเร็ว

ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็วจนต้องประกาศลอยตัวเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 หลังจากนั้นค่าเงินบาทลดลงอย่างรวดเร็ว

ท่านคลินตันเขียนเล่าต่ออย่างไร  กรุณาติดตาม...

 dr.weerapong_ramakul_.jpg

คอลัมน์ คนเดินตรอก  โดย วีรพงษ์ รามางกูร  

ประชาชาติธุรกิจ หน้า 2   วันที่ 12 กรกฎาคม 2547  ปีที่ 27 ฉบับที่ 3600 (2800)

หนังสือที่เป็นที่ฮือฮากันไปทั่วโลกในขณะนี้ก็คือ หนังสือชื่อ "ชีวิตของข้าพเจ้า" หรือ "My Life" ของอดีตประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน หลังจากที่ ฮิลลารี่ คลินตัน อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐเขียนหนังสือชื่อ "ประวัติ ศาสตร์ที่ยังมีชีวิต" หรือ "Living History" จนเป็นหนังสือขายดีเมื่อปีที่แล้ว หนังสือ "ชีวิตของข้าพเจ้า" เป็นบันทึกความทรงจำของอดีตประธานาธิบดี คลินตันที่ได้ข่าวว่าก็เป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่งของปีนี้
____my_life___.jpg

ผมเองไม่ได้อ่านจากต้นฉบับแต่ก็เห็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวฮือฮาว่าท่านเขียนยอมรับผิดหลายเรื่อง เรื่องที่ฮือฮามากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องที่ท่านเขียนยอมรับผิด เรื่องที่ท่านมีเรื่องอื้อฉาวกับนักศึกษาสาว ที่มาฝึกงานอยู่ที่ทำเนียบขาว จนเกือบจะโดนรัฐสภาขับออกจากประธานาธิบดี แต่บังเอิญขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่นั้น เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริการุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก ประชาชนมีความพอใจ ประชาชนจึงให้อภัยจนเกิดเป็นกระแสให้รัฐสภายกโทษให้ ท่านจึงรอดพ้นจากการถูกลงมติให้ขับออกจากการเป็นประธานา ธิบดีมาได้อย่างหวุดหวิด แต่ภริยาของท่านก็ไม่ให้เข้านอนด้วย ต้องนอนที่โซฟาร์นอกห้องนอนอยู่หลายเดือน

แต่เรื่องที่น่าสนใจที่คุณทนง ขันทอง เอามาเขียนลงในหนังสือพิมพ์ "เดอะเนชั่น" นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจและสะกิดใจมาก อดีตประธานาธิบดี คลินตัน คงตั้งใจเขียนไว้ให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เรื่องที่ว่าก็คือเรื่องที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เริ่มต้นจากบ้านของเราในปี 2540 จนได้รับการขนานนามว่า "โรคต้มยำกุ้ง" เพราะต้มยำกุ้งเป็นอาหารไทยที่ได้รับความนิยมและรู้จักไปทั่วโลก วิกฤตการณ์นั้นลุกลามข้ามทวีปไปยังประเทศรัสเซียและบราซิลอย่างที่เราทราบ
tomyamkung.jpg
อดีตประธานาธิบดีคลินตัน ยอมรับว่าตัดสินใจผิดที่ไม่ได้ช่วยเหลือประเทศไทยเลย แม้แต่ดอลลาร์เดียว

ท่านเล่าว่าเมื่อประเทศไทยถูกโจมตีหลังจากฟองสบู่แตกในปี 2540 ระบบสถาบันการเงินล้มระเนระนาด หนี้ต่างประเทศของไทยถีบตัวสูงขึ้นถึง 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ตลาดหลักทรัพย์ฯพังพินาศ เจ้าหนี้ต่างประเทศเรียกหนี้คืนหมด ทำให้เงินไหลออกจากประเทศอย่างรวดเร็ว

ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็วจนต้องประกาศลอยตัวเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 หลังจากนั้นค่าเงินบาทลดลงอย่างรวดเร็ว

ท่านคลินตันเขียนเล่าว่า กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และสภาความมั่นคงของสหรัฐได้เสนอความเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐควรจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกาในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้

ท่านอดีตประธานาธิบดีเล่าว่าท่านเห็นด้วยกับ 3 หน่วยงานนี้ แต่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐในขณะนั้นคือ นายโรเบิร์ต รูบิน ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ ท่านโยนความผิดไปที่นายรูบิน
ท่านเห็นว่าแม้ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในแง่ของการเมืองและเศรษฐกิจในแง่ของสหรัฐอเมริกา แต่เป็นการให้สัญญาณที่ผิด พอข่าวออกไปว่าสหรัฐจะไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศไทยเท่านั้น ผู้คนและสถาบันการเงินก็ตกใจรีบขนเงินตราต่างประเทศออกจากเมืองไทย เจ้าหนี้ก็ตกใจรีบเรียกหนี้คืน ในที่สุดประเทศไทยก็ต้องขอความช่วยเหลือยืมเงินจากประเทศอื่นๆ ผ่านทางไอเอ็มเอฟเป็นจำนวนเงินประมาณ 17 พันล้านเหรียญ

robert_rubin_and_president_clinton.jpgนายรูบินคัดค้านการช่วยเหลือประเทศไทยก็เพราะก่อนหน้านั้น ทางรัฐสภาอเมริกาเคยโจมตีนายรูบินที่รัฐบาลอเมริกันเคยจ่ายเงินจาก "กองทุนรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน" หรือ "Exchange Stabilization Fund" ของกระทรวงการคลังสหรัฐ ผ่านไอเอ็มเอฟเพื่อช่วยเหลือประเทศเม็กซิโก เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ในประเทศเม็กซิโก ก่อนประเทศไทยราวๆ ปีครึ่ง

ที่กระทรวงการคลังสหรัฐช่วยเหลือเม็กซิโกก็เพราะเม็กซิโกอยู่ติดกับ อเมริกา ถ้าเม็กซิโกเป็นอะไรไปก็จะกระทบกระเทือนอเมริกา เพราะเม็กซิโกเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของอเมริกา เม็กซิโกเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของอเมริกา บริษัทอเมริกันเข้าไปลงทุนในเม็กซิโกเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญถ้าคนเม็กซิกันตกงานก็จะทะลักเข้ามาหางานทำในอเมริกา อเมริกาก็จะเดือดร้อน

แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กที่อยู่ห่างไกล อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยก็ไม่น่าจะมีผลอะไรกับอเมริกา กล่าวคือ ดูผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเป็นหลักเพียงแต่สนับสนุนให้ไอเอ็มเอฟเข้ามาปล่อยเงินกู้ให้ แต่ไม่มีเงินจากอเมริกาเลย เป็นเงินของไอเอ็มเอฟเองส่วนหนึ่งที่เหลือมาจากญี่ปุ่น จีน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งนั้น


ท่านคลินตันยังเล่าต่อไปว่า เรื่องดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก นอกจากจะไม่ช่วยเหลืออะไรประเทศไทยแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรเบิร์ต รูบิน แลร์รี่ ซัมเมอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้ง ปู่อลัน กรีนสแปน ต่างก็แสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อประเทศไทย บังคับให้ประเทศไทยใช้มาตรการต่างๆ อย่างรุนแรง

ทั้ง 3 คน กดดันประเทศไทยผ่านทางไอเอ็มเอฟจนเข้ามุมอับ ให้เปิดเผยฐานะของทุนสำรองเหลือเท่าไหร่ เอาไปสู้ป้องกันเงินบาทเท่าไหร่ มิฉะนั้น ไอเอ็มเอฟจะไม่ให้เบิกเงิน พอเปิดตัวเลขออกมาคนยิ่งตกใจเงินยิ่งไหลออก ค่าเงินบาทยิ่งตกหนักลงไปอีก วิกฤตการณ์ก็ยิ่งลึกลงไปอีก

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อเราประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เงินบาทอ่อนค่าลงจาก 25 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ไปอยู่ที่ประมาณ 29 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์เป็นเวลานาน ซึ่งน่าจะเป็นค่าที่แท้จริง พวกเราเคยคิดกันว่า ถ้าไม่ไปต่อสู้ป้องกันค่าเงินบาท ประเทศไทยประกาศลดค่าเงินบาทลงเป็น 29 บาทต่อดอลลาร์ก็น่าจะพอและอยู่ได้ แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศว่าทุนสำรองเมื่อหักภาระการไปขายดอลลาร์ล่วงหน้าไว้เท่าไหร่เท่านั้นเอง ค่าเงินบาทตกต่อจาก 29 บาทเรื่อยไปจนถึง 56 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ ซึ่งเป็นหายนะของประเทศ

คนไทยขมขื่นมากเพราะทุกคนรู้ว่าคนอเมริกันเอาเงินออมของตนมาลงทุนกับ "กองทุนตรึงมูลค่า" หรือ "hedge fund" ที่มาโจมตีประเทศไทย นายรูบินมีพื้นเพอาชีพเดิมมาจากสถาบันการเงินที่ทำมาหากินกับเรื่องพวกนี้ที่ถนนกำแพง หรือวอลล์ สตรีท (Wall street) ศูนย์กลางทางการเงินของสหรัฐอยู่ที่มหานครนิวยอร์กมาก่อน เมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ไปดำรงตำแหน่งประธานสถาบันการเงินที่ถนนกำแพง ดังนั้นทั้งรูบินและซัมเมอร์ ก็ติดตามมาตรการและอยู่เบื้องหลังไอเอ็มเอฟในการดำเนินการให้ประเทศไทยปฏิบัติตามนโยบายที่ไอเอ็มเอฟทำไว้ให้

ในเดือนมิถุนายน 2541 กระทรวงการคลังไทยได้เชิญนายบ๊อบ รูบิน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐมาเป็นแขกของกระทรวง แล้วได้ขอให้สถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญนายรูบินมากล่าวปาฐกถาที่ห้องประชุมสถาบัน ผมได้รับเชิญไปฟังด้วย ปาฐกถาของนายรูบินเต็มไปด้วยข้อกล่าวหาว่าร้ายประเทศของเรา คนของเราต่างๆ นานา พร้อมกับบอกพวกเราว่าเราต้อง "ปฏิรูปเศรษฐกิจ" ของเราอย่างรีบด่วน ซึ่งก็ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร คงจะแปลว่าควรจะจัดการกวาดล้างของเสียให้สิ้นไป แล้วเงินทุนของนักลงทุนใหม่จะได้เข้ามา เราถึงจะฟื้นคืนชีพ ซึ่งบัดนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง

เราต้องยอมรับความเจ็บปวด เหมือนต้องกัด "ลูกปืน" หรือ "bite the bullet" ที่ถูกยิงทะลุคางขึ้นมาแล้วเอาฟันกัดลูกปืนไว้ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นสหรัฐจะยืนอยู่เคียงข้างประเทศไทย เขาหยอดคำหวาน แต่ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

หลังจากปาฐกถาเสร็จ สื่อมวลชนมารุมสัมภาษณ์ ผมก็กล่าวว่าขอบคุณสหรัฐ แต่สหรัฐจะช่วยไทยได้ก็ต้องมีความเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และเข้าใจระบบเศรษฐกิจไทยด้วย มิฉะนั้นจะช่วยถูกได้อย่างไร ที่พูดมานั้นผิด ถ้าทำอย่างที่ว่าประเทศไทยจะแย่ลงกว่านี้มาก ทีวี วิทยุไปออกข่าวกันใหญ่ รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ "เดอะเนชั่น" เอารูปผมกับรูปนายรูบินลงคู่กันแต่มีความเห็นต่างกัน

ต่อมาหนังสือพิมพ์ "เดอะเนชั่น" จัดให้ผมและ ดร.สแตนลี่ ฟิชเชอร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอเอ็มเอฟมาโต้กันที่โรงแรมแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดร.ฟิชเชอร์ก็พูดเหมือนนายรูบิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ ผมก็คัดค้านอีกว่าถ้าทำอย่างนั้นเศรษฐกิจไทยก็จะเลวร้ายลงไปอีก แต่ดูเหมือน ดร.ฟิชเชอร์ไม่ฟังเลย

เมื่อตอนที่เรากำลังเจรจาทำข้อตกลงเงื่อนไขฉบับแรกกับไอเอ็มเอฟ ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี วันหนึ่ง ดร.สแตนลี่ ฟิชเชอร์ บินมาเมืองไทย ขอเชิญผมกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไปรับประทานอาหารเช้ากับเขาที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ผมบอกเขาว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ที่เจรจาเงื่อนไขทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงแล้ว เราสองคนซึ่งก็เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งคู่ เพราะ ดร.ฟิชเชอร์เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT เราควรจะมาตรวจดูเหมือนกับการตรวจวิทยานิพนธ์แล้วปรึกษากันว่า เงื่อนไขที่จะใส่ในหนังสือแสดงความจำนงนั้น จะถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ยาที่ใช้จะถูกกับโรคหรือไม่

เขาตอบผมว่าเขาไม่มีเวลาดูหรอกเพราะเขาไม่มีเวลา เขาต้องดูแลประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขอให้เชื่อนายฮูแบร็ต ไนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ เพราะเคยให้ยากับประเทศต่างๆ มาทั่วโลกแล้ว ผมแย้งว่า "ประเทศต่างๆ มีโครงสร้างเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจต่างกัน จะใช้ยาขนานเดียวกันทั่วโลกได้อย่างไร" เขาตอบว่า "ไม่เป็นไร ยาขนานเดียวใช้ได้หมด" ผมเดินออกมาอย่างเศร้าใจ กับวิธีทำงานของ ดร.ฟิชเชอร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ

ดูเหมือนว่ารัฐบาลต่อมาไม่มีใครข้องใจกับมาตรการต่างๆ ไอเอ็มเอฟยัดเยียดบังคับให้เราใช้เลย ไปเห็นดีเห็นงามกับเขาเสียหมด มิหนำซ้ำใครไปพูดคัดค้านไอเอ็มเอฟ หรือกระทรวงการคลังสหรัฐ รัฐบาลก็ค่อนข้างจะขุ่นเคือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมูลทรัพย์สินของ ปรส. ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างยิ่ง แต่ไปสร้างความร่ำรวยให้กับธนาคารวาณิชย์ธนกิจบนถนนกำแพง เป็นอย่างมาก เพราะไปเชื่อฟังสมมุติฐานที่ไม่เป็นความจริงของเขามากเกินไป

ความจริงอยากจะลืมความขมขื่นเหล่านี้ไปแล้ว แต่เมื่อมาอ่านที่คุณทนง ขันทอง เอามาย่อลงในหนังสือพิมพ์ "เดอะเนชั่น" ความรู้สึกขมขื่นก็ฟุ้งขึ้นมาอีก อย่างช่วยไม่ได้

บทเรียนอันนี้เราคนไทยน่าจะจดจำตลอดไป


_________________