พิธีมอบทองคำเข้าคลังหลวงครั้งที่ ๑๔

14tongkom.jpeg 


ณ สวนแสงธรรม กรุงเทพฯ  ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐

ผู้แทนโครงการช่วยชาติ พลเรือโทตรีรัตน์ ชมะนันท์ กล่าวรายงาน พิธีมอบทองคำเข้าคลังหลวง ครั้งที่ 14 

                   ขอพระราชทานกราบทูลใต้ฝ่าพระบาท ข้าพระพุทธเจ้า พลเรือโทตรีรัตน์ ชมะนันท์ ผู้แทนโครงการช่วยชาติ พร้อมด้วย พุทธศาสนิกชน และประชาชนที่มาเฝ้าใต้ฝ่าพระบาท ณ ที่นี้มีความปลาบปลื้มและสำนึกในพระกรุณาเป็นล้นพ้น ที่ใต้ฝ่าพระบาทได้เสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีมอบทองคำเข้าคลังหลวง ครั้งที่ ๑๔ วันนี้จึงนับเป็นวันมหามงคลยิ่งของพวกเราชาวไทย จะได้มีการประกอบพิธีมอบทองคำ เพื่อนำไปเพิ่มพูนสินทรัพย์ในคลังหลวง เป็นสมบัติของพี่น้องและลูกหลานชาวไทยสืบไป

                     โดยข้อเท็จจริง โครงการช่วยชาติโดยองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ปิดโครงการช่วยชาติไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๗ โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์  พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีดังกล่าว แต่หลังจากนั้นมา ก็ยังคงมีประชาชนผู้รักชาติ ผู้มีจิตศรัทธา และมีความเชื่อมั่นในองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ถวายทองคำเพื่อให้หลวงตารวบรวมมอบเข้าคลังหลวง  ซึ่งได้กำหนดพิธีมอบทองคำเข้าฝ่ายออกบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งในวันนี้
                จากประวัติศาสตร์ชาติไทย บุรพมหากษัตริยาธิราชและบรรพบุรุษท่านต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการกว่าจะวางรากฐานบ้านเมือง ให้ลูกหลานได้อยู่อย่างผาสุกร่มเย็นตลอดมาจนทุกวันนี้ ท่านต้องยอมพลีชีพ พลีทรัพย์สินเงินทอง พลีครอบครัวเหย้าเรือน เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายออกไปต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้     ท่านต้องเพียรเสาะแสวงหารายได้เพื่อนำมาพัฒนาบ้านเมือง ทรัพย์สมบัติที่หามาได้ ท่านก็รู้จักใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลและมีประมาณ แม้กระนั้น ท่านยังพอใจที่จะตัดแบ่งทรัพย์ โดยแยกเก็บสะสมไว้เป็นทุนรอนแก่ลูกหลานในวันหน้า และจากอดีตที่ผ่านมา ท่านก็ไม่เคยก่อหนี้สินพะรุงพะรังให้ลูกหลานที่เกิดมาภายหลังต้องแบกหามภาระอันหนักหนา หรือต้องมาทนทุกข์ยากลำบากเพราะท่าน
                   แม้ยามวิกฤตไม่มีทางออก ลูกหลานก็ได้อาศัยทุนสำรองที่บรรพบุรุษท่านเก็บสะสมไว้ มาช่วยไถ่ถอนบ้านเมือง เช่นเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ ต้องใช้ทั้งเงินถุงแดงที่เก็บไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ยาวนานถึงรัชกาลที่ ๕ และใช้เงินทองบริจาคของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชการ จึงสามารถระงับดับไฟให้ผ่านพ้นไปจากสยามประเทศได้ จาก เงินถุงแดง จนกระทั่งในปัจจุบันเรียกว่า  ทุนสำรองเงินตรา เป็นการเรียกชื่อของ คลังหลวง ตามความหมายของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แต่สิ่งที่บุรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ตลอดจนบรรพบุรุษทุกยุคสมัย ท่านดำรงรักษาไว้อย่างมั่นคงตลอดกาลนั้นมิได้เคยแปรเปลี่ยนไปเลย
                การมอบทองคำเข้าสู่ คลังหลวงของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงความรักความเสียสละและสามัคคีของคนในชาติ ตลอดจนเป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินรอยตามบรรพบุรุษเพื่อปกป้อง คลังหลวงจะรักษาหลักการและเจตนารมณ์ของ คลังหลวงมิให้แปรเปลี่ยนไป เพราะคลังหลวงคือหัวใจของชาติ เมื่อสิ้นคลังหลวงก็เท่ากับสูญสิ้นแล้วซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 
                การมอบทองคำแท่งในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๑๔ โดยประกอบด้วยทองคำแท่งบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙% จำนวน ๔๘ แท่ง น้ำหนัก ๖๐๐ กิโลกรัม หลังจากพิธีมอบในวันนี้แล้ว จำนวนทองคำแท่งบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙% ที่มอบเข้าคลังหลวงแล้ว จะมีทั้งสิ้น ๙๓๑ แท่ง น้ำหนัก ๑๑,๖๓๗.๕ กิโลกรัม และเงินดอลลาร์สหรัฐ ๑๐,๒๑๔,๖๐๐ เหรียญ คิดเป็นเงินบาทในวันนี้รวมประมาณ ๑๐,๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท 
                ด้วยเมตตาอันเปี่ยมล้นของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ปลุกจิตสำนึกชาวไทยให้รู้ซึ้งในหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกี่ยวกับโภควิภาค ๔และ ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ท่านสอนให้จัดสรรทรัพย์ออกเป็นส่วน รู้จักว่าส่วนใดควรใช้ ส่วนใดควรลงทุน และส่วนใดพึงเก็บรักษาไว้ในยามจำเป็น มิให้สุรุ่ยสุร่าย ท่านให้ขยันหมั่นเพียรในการงานชอบ รู้จักรักษาทรัพย์ไม่ให้เสื่อมสูญไป คบคนดีเป็นมิตร และมีประมาณในการกินอยู่ใช้สอย ไม่ดีดดิ้นเกินตัว
                บัดนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ความวิริยะอุตสาหะขององค์หลวงตาได้บรรลุผลทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ เป็นการสร้างคน สร้างชาติ และบำรุงพระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กัน  ขอผลานิสงส์ในครานี้ ถวายเป็นปฏิบัติบูชา เป็นพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา และ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมหาบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ตลอดจนบรรพบุรุษของไทย จงเป็นผลให้แผ่นดินไทยและประชาชนชาวไทย มีความร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มเงาของพระบวรพุทธศาสนาตลอดกาลนาน  
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม    
จากนั้น นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถวายรายงานแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

                "ทองคำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับพระราชทานในครั้งนี้จำนวน ๔๘ แท่ง น้ำหนักรวม ๖๐๐ กิโลกรัม จะนำเข้าเป็นทุนสำรองเงินตราเพื่อเพิ่มสินทรัพย์ของชาติ และจะดูแลรักษาให้มีความมั่นคงตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค และหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน สืบไป"