ลืมรหัสผ่าน?
  • Narrow screen resolution
  • Wide screen resolution
  • Auto width resolution
  • Increase font size
  • Decrease font size
  • Default font size
  • default color
  • red color
  • green color
Home arrow ข่าวจากสื่อ arrow จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2245 19 ส.ค. - 22 ส.ค. 2550
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2245 19 ส.ค. - 22 ส.ค. 2550 PDF พิมพ์ อีเมล์
tan.jpgการปลุกกระแสของฝ่ายคัดค้านโดยหยิบยกตัวเลขขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินมาเป็นประเด็นต่อต้าน แม้นว่าธปท.จะยืนยันว่าตัวแดง 1.7 แสนล้านบาทเป็นเพียงตัวเลขขาดทุนทางบัญชีก็ตาม หากฟันธงได้เลยสังคมจะเลือกเชื่อเหตุผลของฝ่ายคัดค้านมากกว่า ตราบใดที่ตัวเลขในบัญชีดอกผลของการเข้าแทรกแซงค่าเงินของธปท. ยังเป็นตัวแดงเพิ่มขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน
'ตัวแดง'อุ้มบาทแสนล้าน ปิดทางแบงก์ชาติ รื้อพ.ร.บ.เงินตรา
กลางที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา สมาชิกสนช.หลายคนที่เตรียมฟิตซ้อมมาเต็มที่เพื่อซักถาม ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เงินตรา แต่ต้องผิดหวังเพราะเจ้าตัว (รมว.คลัง) ส่ง สมหมาย ภาษีรมช.คลังมาขอเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 12 กันยายนแทน หรือเลื่อนออกไปอีก 1 เดือน โดยที่ก่อนหน้านี้ รมว.คลังเคยขอเลื่อนนำร่างพ.ร.บ.เงินตราให้ที่ประชุมสนช.พิจารณามาแล้วครั้งหนึ่ง ทั้งที่ในครั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว 1 วัน (14 สิงหาคม) รมว.คลังเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ต่อหน้าสื่อมวลชนเองว่า สนช.จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินตรา ในวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งการขอเลื่อนการชี้แจงในครั้งนี้ เป็นการขอเลื่อนก่อนหน้าที่จะถึงวาระไม่ถึง 1 ชั่วโมง **** ‘ฉลองภพอ้างปชช.ยังไม่เข้าใจ เหตุผลที่ รมว.คลังอ้างถึงในการขอเลื่อนเสนอ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะ "ต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.เงินตรากับประชาชนและสังคม เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในเนื้อหาร่างแก้ไขกฎหมาย" ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รับผิดชอบในการจัดสัมมนาโดยเชิญสนช.และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือก่อนประมาณสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ แต่โดยเหตุผลเบื้องหลังที่เป็นที่รู้กันอยู่ คือ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสนช.บางกลุ่ม ที่ตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการให้อำนาจธปท.ในการนำเงินจากบัญชีที่ธปท.ดูแลอยู่ไปใช้นอกวัตถุประสงค์ และอาจเป็นการกลบผลขาดทุนที่ธปท.ทำไว้จากการเข้าแทรกแซงค่าเงิน ****ตีความมาตรา 16 และ 17เอื้อธปท.ใช้เงิน หากจะทำความเข้าใจกับร่างพ.ร.บ.เงินตรา อย่างคร่าวๆ ก็คือ บัญชีที่ธปท.ดูแลในขณะนี้ จะมีพ.ร.บ. 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นบัญชีฝ่ายการธนาคาร มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับธุรกิจทั่วไปของธปท. ส่วนพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 เป็นบัญชีฝ่ายออกบัตรธนาคาร หรือคลังหลวง วัตถุประสงค์เกี่ยวกับการบริหารธนบัตรที่ออกใช้ โดยประกอบด้วย 1. บัญชีทุนสำรองเงินตรา หนุนหลังธนบัตรที่ออกใช้ 2. บัญชีผลประโยชน์ประจำปี เป็นบัญชีเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายประจำปีของธปท. และ 3. บัญชีสำรองพิเศษ เป็นบัญชีที่เกี่ยวกับการสะสมกำไร ตีราคา และรายได้สุทธิของธปท. แต่เนื่องจากในร่างแก้ไขพ.ร.บ.เงินตรานั้น มี 2 มาตรการที่ทำให้เกิดการตีความในทางที่ผิด และทำให้ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังถูกโจมตีอยู่ในขณะนี้ คือ มาตรา 16 ที่ระบุว่าให้อำนาจธปท.โอนสินทรัพย์จากบัญชีสำรองพิเศษ เป็นสินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตรา เพื่อสามารถนำออกมาใช้ในการหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตร ส่วนมาตรา 17 ของร่างพ.ร.บ.เงินตรา ระบุไว้ว่า ให้ธปท.มีอำนาจบริหารจัดการสินทรัพย์ในบัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ เพื่อไปหาผลประโยชน์ได้ด้วยเนื้อหาดังกล่าวจึงทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการเปิดทางให้ธปท.มีอำนาจ ในการใช้เงินในบัญชีไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่น แม้ว่าด้วยเหตุผลของร่างแก้ไข พ.ร.บ.นี้ จะยึดสาระสำคัญ คือ 1. เป็นการเพิ่มระบบที่จะจำกัดขอบเขตการบริหารจัดการสินทรัพย์ และ 2. เพิ่มระบบตรวจสอบให้รัดกุมยิ่งขึ้นเท่านั้นก็ตาม ฝ่ายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.เงินตรา ซึ่งยังมีสนช.กลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย และไม่พร้อมที่จะให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณา เป็นเหตุที่รมว.คลังละล้าละลังที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา โดยยกเหตุผลว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นการเปิดทางให้มีการนำเงินจากคลังหลวงไปใช้เพื่อหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม และล้างขาดทุนจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินของธปท. ขณะที่ ล่าสุดซึ่งธปท.เคยชี้แจงถึงตัวเลขการขาดทุนในปี 2549 ระบุว่า ณ สิ้นปี 2549 ประเทศไทยมีเงินสำรองรวม 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แยกเป็นส่วนที่ธปท.ดูแล 29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่วนของทุนสำรองเงินตรา 36.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือเป็นของทุนรักษรระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยผลขาดทุนของธปท.และทุนสำรองเงินตรา ที่เกิดขึ้นจำนวนมากถึงประมาณ 174 พันล้านบาท ในปี 2549 เป็นการขาดทุนจากการตีราคาเงินสำรองในรูปของบาทเมื่อค่าเงินแข็งขึ้นถึงจำนวน 173 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการ เพราะเป็นเพียงตัวเลขขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการตีราคาเงินสำรองทางการตามมาตรฐานบัญชีเท่านั้น ขณะที่สินทรัพย์ต่างประเทศซึ่งเป็นองค์ประกอบของเงินสำรองทางการที่ธปท.ดูแลยังคงมีอยู่ครบถ้วน และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อวัดในรูปของเงินตราต่างประเทศ ขณะที่ข้อมูลรายงานฐานะทางการเงินของธปท. ณ วันที่ 12 เมษายน 2550 จากรายงานประจำสัปดาห์ของฝ่ายออกบัตรธนาคารและฝ่ายการธนาคาร ระบุถึงตัวเลขฐานะทางการเงินของฝ่ายออกบัตรธนาคาร ในส่วนของบัญชีทุนสำรองเงินตรา (ธนบัตรออกใช้) บัญชีทุนสำรองเงินตราในส่วนที่ออกใช้หมุนเวียนอยู่ที่ 760,952.30 ล้านบาท บัญชีทุนสำรองเงินตรา อยู่ในฝ่ายการธนาคาร อยู่ที่ 23,532.43 ล้านบาท บัญชีสำรองพิเศษ อยู่ที่ 755,835.58 ล้านบาท และบัญชีผลประโยชน์ประจำปีอยู่ที่ 11,992.35 ล้านบาท เทียบกับข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2550 บัญชีทุนสำรองเงินตรา (ธนบัตรออกใช้)ออกใช้หมุนเวียนอยู่ที่ 759,811.95 ล้านบาท อยู่ในฝ่ายการธนาคาร 34,672.78 ล้านบาท บัญชีสำรองพิเศษ อยู่ที่ 753,435.46 ล้านบาท และบัญชีผลประโยชน์ประจำปีอยู่ที่ 1,935.21 ล้านบาท ****แก้ร่างพ.ร.บ.เงินตราผ่าน4ยุคผู้ว่าฯจริงๆแล้ว ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และร่างพ.ร.บ.เงินตรานั้น ถูกผลักดันมาตั้งแต่สมัยนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นผู้ว่าการธปท. ล่วงเลยมาจนถึงขณะนี้ นับได้เป็น 4 รุ่น 4 สมัย ของผู้ว่าการธปท.แล้ว นับตั้งแต่ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และล่าสุด ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบันที่เข้ามาพร้อมกับประกาศนโยบายทำหน้าที่หลัก คือ ดำเนินนโยบายการเงินและรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินงานในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทั้ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 และ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 เมื่อเร็วๆนี้มีบทความหนึ่งจากนักวิชาการแบงก์ชาติที่เขียนไว้ในหัวข้อประชาชนได้อะไรจากกฎหมายการเงิน 4 ฉบับ’ (ร่างพ.ร.บ.ธปท. ร่างพ.ร.บ.เงินตรา ร่างพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินและ ร่างพ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝาก) โดยระบุว่าแบงก์ชาติเริ่มเสนอร่างกฎหมายเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2543 โดยผู้ว่าการแบงก์ชาติ 3 คนเสนอต่อรมว.คลังมาแล้ว 5 คน ประเด็นวัตประสงค์หลัก และเหตุผลของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตั้งแต่ยุคแรกๆ จนถึงขณะนี้คือ ฐานะของธปท.มีผลขาดทุนจำนวนมาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในธปท. และระบบการเงินของประเทศ และเป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้ ธปท.จึงได้เสนอให้มีการรวมบัญชีของฝ่ายกิจการธนาคารและฝ่ายออกบัตรธนาคาร เพื่อให้ผลการดำเนินงานของธปท. ไม่มีผลขาดทุน และสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ต่างประเทศที่ฝายออกบัตรสะสมไว้เป็นจำนวนมากอย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ธปท.ต้องทำเอกสารชี้แจงกรณีที่มีสื่อมวลชนรายงานข่าวว่า ธปท.แก้ไข พ.ร.บ. เงินตราเพื่อเป็นการรวมบัญชีของทุนสำรองเงินตรา (คลังหลวง) และบัญชีของฝ่ายกิจการธนาคาร (ธปท.) เข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ ธปท.สามารถล้างขาดทุนสะสม นั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง โดยยืนยันว่า ในร่างแก้ไข พ.ร.บ. เงินตรา ไม่มีข้อความที่กำหนดให้มีการรวมบัญชีของทุนสำรองเงินตรา (คลังหลวง) และบัญชีของฝ่ายกิจการธนาคาร (ธปท.) เข้าด้วยกันเพื่อล้างขาดทุนสะสมของ ธปท. ดังนั้นภายหลังการแก้ พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว ผลการขาดทุนก็ยังคงอยู่ที่บัญชีของฝ่ายกิจการธนาคาร ธปท. ตามเดิม ขณะที่ข้อเท็จจริงของการแก้ไข พ.ร.บ. เงินตรา มีหลักการและสาระที่สำคัญ คือ เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์ของทุนสำรองเงินตรามีประสิทธิภาพมากขึ้นและสอดคล้องกับพัฒนาการของตลาดการเงินโลก และเพื่อให้การบันทึกบัญชีของทุนสำรองเงินตรามีความเหมาะสมกับภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยการปรับปรุงวิธีการบันทึกบัญชีของทุนสำรองเงินตราตาม พ.ร.บ. เงินตราฉบับใหม่ ให้บันทึกผลกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี และให้บันทึกกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ในบัญชีสำรองพิเศษ เพื่อให้การแสดงผลกำไรขาดทุนในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีมีความถูกต้องแท้จริงในแต่ละขณะ และแสดงประสิทธิภาพการบริหารจัดการของ ธปท. ได้อย่างถูกต้อง ในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว นอกจากการบังคับให้ ธปท. ต้องแยกสินทรัพย์ของทุนสำรองเงินตราไว้ต่างหากจากสินทรัพย์ของธปท.ตามที่ปฏิบัติเช่นเดิมแล้ว ยังเพิ่มเงื่อนไข หรือกรอบให้ ธปท. ต้องบริหารจัดการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการธปท.กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง และผลประโยชน์ตอบแทน ของสินทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ ดังนั้น ธปท. จึงไม่อาจใช้เงินทุนสำรองเงินตราไปบริหารจัดการ เช่น การทำธุรกรรมซื้อขายล่วงหน้า (Swap, Forward) อย่างไม่มีข้อจำกัด ใด ๆ นอกจากนี้ ธปท. ก็เป็นหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดูจากสถานการณ์ในขณะนี้แล้ว แม้ว่าธปท.ยืนยันว่าการแก้ไขร่างพ.ร.บ.เงินตรา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล้างขาดทุนสะสมจากการแทรกแซงค่าเงิน และการรวมบัญชี มิได้ให้อิสระกับธปท.ในการนำเงินจากคลังหลวงไปใช้ตามอำเภอใจตามที่หลายฝ่ายกล่าวอ้าง และกระทรวงการคลังกับธปท.เตรียมจัดเวทีชี้แจงก่อนเห็นร่างพ.ร.บ.เงินตรากลับเข้าสู่สภาอีกครั้งในวันที่ 12 ก.ย. หากความสลับซับซ้อนของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่ผูกโยงกับบัญชีเงินทุนของชาติ ซึ่งยากที่สังคมจะทำความเข้าใจในช่วงเวลาสั้นๆ อีกทั้งการปลุกกระแสของฝ่ายคัดค้านโดยหยิบยกตัวเลขขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินมาเป็นประเด็นต่อต้าน แม้นว่าธปท.จะยืนยันว่าตัวแดง 1.7 แสนล้านบาทเป็นเพียงตัวเลขขาดทุนทางบัญชีก็ตาม หากฟันธงได้เลยสังคมจะเลือกเชื่อเหตุผลของฝ่ายคัดค้านมากกว่า ตราบใดที่ตัวเลขในบัญชีดอกผลของการเข้าแทรกแซงค่าเงินของธปท. ยังเป็นตัวแดงเพิ่มขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน อีกทั้งธปท.ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าถ้าแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแล้วการดูแลค่าเงินจะมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ด้วยเงื่อนไข ที่กล่าวมาทั้งหมด ทิศทางการแก้ไขร่างพ.ร.บ.เงินตราของธปท. เป็นอื่นไปได้ยาก นอกจากต้องรอต่อไป หลังรอคอยมาแล้วเกือบ 10 ปี
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >