ลืมรหัสผ่าน?
  • Narrow screen resolution
  • Wide screen resolution
  • Auto width resolution
  • Increase font size
  • Decrease font size
  • Default font size
  • default color
  • red color
  • green color
Home arrow บทความวิชาการ arrow ควรเลื่อน พ.ร.บ.เงินตรา โดย ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร
ควรเลื่อน พ.ร.บ.เงินตรา โดย ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร PDF พิมพ์ อีเมล์

viwatchai.jpg

แหล่งที่มา  หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  ฉบับวันที่ 10  ตุลาคม  2550  หน้าที่4  คอลัมน์เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต 

ควรเลื่อน  พ.ร.บ.เงินตรา 
โดย  ดร.วิวัฒน์ชัย  อัตถากร

 1.นำเรื่อง  ร่าง พ.ร.บ.เงินตรา  พ.ศ. .....  ได้ถูกนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  เมื่อวันพุธที่ 3 ตุลาคม  2550  ท่ามกลางกระแสคัดค้านท้วงติงจากสังคม  รัฐบาลจึงเลื่อนการพิจารณาออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์เป็นวันพุธที่  10  ตุลาคม  2550  ทางกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ยังคงยืนยันความจำเป็น  ในขณะที่อีกฝ่ายท้วงติงด้วยความห่วงใยอยากให้แก้ไข 2.บทบาท  ธปท.   ภาระกิจหลักของ ธปท. คือ การดูแลความมั่นคงทางการเงินของชาติ  รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  ไม่ให้เกิด เงินเฟ้อ / เงินฝืด / เงินตึงจนเกินไป  กำหนดนโยบายการเงินอย่างเหมาะสม  กำกับตลาดการเงิน  ตลาดทุน  และสถาบันการเงิน  ดูแลค่าเงินบาทหรืออัตราแลกเปลี่ยนให้มีค่าถูกต้องสม่ำเสมอ  ไม่ผันผวน  มีเสถียรภาพ  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน            

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคือ  หลักการ  หากแต่ในทางการปฏิบัติอาจทำได้บ้าง หรือทำไม่ได้บ้าง  หรือทำไม่ได้เลย  หรือทำแล้วประสบความล้มเหลว  ดังเช่นวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี  2540  กลายเป็น  โศกนาฏกรรมต้มยำกุ้ง” ที่ยังเป็นเหตุการณ์ฝังใจคนไทยอย่างไม่รู้ลืม  ประเทศไทยขาดทุนจากการปกป้องค่าบาทนับแสนล้านบาท  และขาดทุนหลายแสนล้านบาทจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุน 56แห่งที่ปิดกิจการ  ดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)ในยุครัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์   อันเป็นผลสืบเนื่องจากการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน  ในกรอบคิดที่ผิด  โดยเฉพาะปรัชญาว่าด้วยสถาบันการเงินล้มไม่ได้ต้องอุ้ม ถึงแม้ว่าการบริหารนั้นขาดประสิทธิภาพและมีการฉ้อฉลปนอยู่ด้วยก็ตามแต่   ความจริงจะโทษเป็นความล้มเหลวของ ธปท.ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ อันที่จริงเป็นผลจากความผิดพลาดของแนวทางและการพัฒนาของฝ่ายการเมืองในหลายๆรัฐบาล รวมอยู่ด้วยจนนำมาซึ่งฟองสบู่แตก  รวมไปถึงการฉ้อฉลคดโกงในภาคการเงิน  ภาคบรรษัท  ภาคการเมือง  ภาคราชการ  ตลอดจนกิเลสอันล้นเกินของภาคประชาชนอีกด้วย      

         

 อย่างไรก็ตาม  ธปท.คงปฏิเสธความรับผิดชอบใน,ฐานะ  “ปราการทางการเงิน”  ของชาติได้ยากยิ่ง ในภาวะวิกฤติ ธปท.ย่อมเป็นประหนึ่งปราการด่านสุดท้ายทางเศรษฐกิจ  ที่คนไทยหวังเป็นที่พึ่งพิงได้ ในช่วงปี  2550  ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับจนถึงประมาณ 33 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเป็นค่าทีไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่การเข้าไปแทรกแซงเพื่อชะลอค่าที่แข็งขึ้นครั้งนั้น ว่ากันว่าธปท.ขาดทุนกว่า 170,000 ล้านบาท อันที่จริงหลังวิกฤตการณ์ปี  2540  ธปท.เองก็มีความตั้งใจที่จะปรับตัวเองและพัฒนาขนานใหญ่  เพื่อเรียกศรัทธากลับคืนมา  หากย้อนมองความจริงในอดีตถึงการบริหารยุคผู้ว่าการธปท.  ศาสตราจารย์  ดร.  ป๋วย  อึ้งภากรณ์  ได้เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการต่างประเทศอย่างกว้างขวาง  ว่าเงินบาทเป็นเงินสกุลหนึ่งที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในโลกนานนับสิบปี อันเป็นผลจากการบริหารยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัดในยุคนั้น                

ธปท.มีหน่วยงานสองฝ่ายดูแลค่าเงินบาท  ได้แก่  ฝ่ายการธนาคารและฝ่ายออกบัตร  รายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้าและบริการส่งออกให้นำเข้าบัญชีฝ่ายการธนาคาร  ฝ่ายนี้รับผิดชอบด้านการปกป้องค่าเงิน  รวมถึงการเก็งกำไรในตลาดเงินตราต่างประเทศ  ส่วนฝ่ายออกบัตรมีหน้าที่หลักในการผลิตธนบัตร  ตามหลักกฎหมายกำหนดให้ทุกบาทที่พิมพ์ออกมาจะต้องหนุนหลังโดยทุนสำรองเงินตราในรูปทองคำและเงินตราต่างประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ60 และพันธบัตรรัฐบาลได้ไม่เกินร้อยละ  40  ฝ่ายออกบัตรประกอบด้วยสามบัญชีคือ บัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ  ในทางปฏิบัติจะโอนเงินตราต่างประเทศจากฝ่ายการธนาคาร มาเข้าบัญชีทุนสำรองเงินตรา ยามใดเมื่อมีการพิมพ์ธนบัตร               ปัจจุบันบัญชีทุนสำรองเงินตรามีทรัพย์สินประมาณเกือบ 8 แสนล้านบาท  สำหรับดอก

ผลจากทุนสำรองเงินตรา  จะถูกนำเข้าบัญชีผลประโยชน์ประจำปี  ตอนนี้มีรวม 1 หมื่นล้านบาทเศษ  ส่วนที่เหลือจากค่าใช้จ่ายต่างๆ  ในบัญชีผลประจำปี  จะโยกไปไว้ในบัญชีทุนสำรองพิเศษ ซึ่งมีรวมกันกว่า 7แสนล้านบาทบัญชีนี้รวมถึงบัญชีผ้าป่ามหากุศลกู้ชาติของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน  เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานีอยู่ด้วย  เงินทั้ง3บัญชีมีรวมกันอยู่ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ในอดีตด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลด้านความมั่นคงทางการคลังของประเทศ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทานเงิน 12 ล้านบาท (เมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีที่แล้วมีมูลค่ามหาศาล) เป็นทุนประเดิมในคลังหลวง  เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจักต้องจารึกและจดจำ  เพราะเงินจำนวนนี้เป็นเสมือน “เงินขวัญถุง”  อันเป็นสิริมงคลอเนกอนันต์ที่รักษาไว้เรื่อยมา  เป็นเงินเริ่มต้นเข้าคลังหลวงเพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงให้กับประเทศซึ่งจัดอยู่ในบัญชีสำรองพิเศษ   เรื่องอดีตที่ทรงคุณค่าน่าจดจำอย่างนี้ กลับไม่ได้รับการบอกกล่าวเล่าต่อ  ถ่ายทอดให้ลูกหลานไทยได้รับรู้รับทราบ   จึงไม่น่าแปลกใจว่า  ทำไมคนไทยสมัยนี้จึงตัวเป็นคนไร้ราก

3.ฝ่ายหนุน vs ฝ่ายค้าน      รัฐบาลอ้างเหตุผลของการแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา  เพื่อมุ่งให้เกิดความคล่องตัว  นำทรัพย์สินในบัญชีลงทุนหาดอกผล  อ้างหลายประเทศทำเช่นนั้น  ต้องแก้ไขให้เอื้ออำนวยต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ศิษย์หลวงตามหาบัวยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีขอให้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะประเด็นการให้อำนาจ  ธปท.มากเกินไป  เกรงว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของระบบเงินตราของประเทศ  เพราะธปท.เคยบริหารเงินผิดพลาดมาแล้ว                ดร.วีรพงศ์  รามางกูร ไม่เห็นด้วยกับ ธปท.โดยชี้ว่าไม่ควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการของทุนสำรองเงินตรา  ซึ่งเดิมทรัพย์สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศของธปท.ในผ่านการธนาคารที่อยู่ในบัญชีทุนสำรองทั่วไปนั้น ธปท.จะบริหารจัดการเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน  พอทำแล้วมีกำไรหรือขาดทุนของฝ่ายการธนาคาร  จะไปโยกเงินจากสามบัญชี ซึ่งถือเป็นคลังหลวงไม่ได้ (ประชาชาติธุรกิจ17-19ก.ย.50)         ธปท.ยังถูกวิจารณ์อีกว่า  การแก้กฎหมายนั้นทำเพื่อล้างการขาดทุนสะสมจากการแทรกแซงค่าเงินที่ล้มเหลวหรือไม่?  แต่ธปท.ปฎิเสธว่า  ไม่เกี่ยวกัน  อย่างไรก็ดียังมีข้อสงสัยจากสาธารณชนตามมาอีก  เช่น  จะมีหลักประกันหรือไม่อย่างไรว่า  ธปท.จะดูแลค่าเงินในระบบอนาคตได้ดีกว่าระบบปัจจุบันหลังจากมีระบบใหม่แล้ว  เมื่อพ.ร.บ.นี้ประกาศใช้แล้ว

 

4. ปรับแก้ให้รอบด้านบนฐานคิดที่รอบด้าน เรื่องของการปรับปรุงกฎหมายเพื่อก้าวให้ทันโลก  คงไม่มีใครเถียงว่า  ถ้าดีจริง ?!?  ทำนองกลับกันธปท.ก็ควรใส่ใจรับฟังเสียงท้วงติงเสนอะแนะจากสังคมอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน  อย่างนี้แล้ว  การพัฒนาตัวบทกฎหมายจึงจะสามารถนำพาการบริหารนโยบายการเงินของชาติยกระดับสู่”คุณภาพใหม่” ได้ไม่ยาก  ควรเลื่อนพิจารณา  ร่างพ.ร.บ. เงินตราออกไปอีกซัก 3 ถึง 4 สัปดาห์ เปิดเวทีสาธารณะถกกันปรับปรุงให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงเสนอต่อ  สนช.ใหม่ ไม่ใช่ไปเร่งรีบรวบรัดอย่งที่ รมช.คลัง(นายสมหมาย ภาษี) ผลักดันอย่างเต็มเหนี่ยวจะให้ผ่าน  สนช.ในวันพุธที่10 ตุลาคม 2550 นี้ให้จงได้  ของดีจริงต้องผ่านการกลั่นกรองให้มีส่วนร่วมจากสาธารณะในวงกว้าง  โดยเฉพาะกฎหมายการเงินฉบับนี้  จะผูกพันกับการได้เสียบนชีวิตของคนไทยในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ  รัฐบาลจึงควรทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดีกว่านี้           

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจ  ธปท.ขาดทุนสะสมแทบทุกปี  ผลขาดทุน 1,742ล้านบาท ในปี 2548 เพิ่มเป็น 102,287 ล้านบาทในปี 2549 เป็นผลจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ  และดอกเบี้ยจ่ายจากการเข้าดูแลค่าเงินบาทเป็นหลัก  ธปท.ยังมีภาระต้องชดเชยความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาสถาบันการเงิน(กรส)ในส่วนเงินต้น และกระทรวงการคลังในส่วนดอกเบี้ย  การที่ธปท.ดำเนินงานขาดทุนจึงไม่สามารถนำเงินส่งกระทรวง  การคลังได้  ส่วนเงินต้นของ กรส. มีค้างชำระอยู่หลายแสนล้านบาท  อีกทั้งกระทรวงการคลังต้องแบกภาระดอกเบี้ยถึงปีละ 6 หมื่นล้านบาท

 

ผมมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้1.   แก้กฎหมายให้ธปท.นำเงินเฉพาะของฝ่ายการธนาคารลงทุนได้มากขึ้น  โดยจัดความเสี่ยงให้เหมาะสม  อย่า แก้กฎหมายให้นำทุนสำรองจากสามบัญชีในฝ่ายออกบัตร  ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง  ควรเก็บรักษาไว้เพื่อแนวทางเดิมจะดีกว่า2.   ออกกฎหมายเก็บภาษีมรดก  ภาษีกำไรจากการขายหุ้น  และแก้ภาษีกำไรจากการเก็งกำไรที่ดินให้มีอัตราก้าวหน้ายิ่งขึ้น  นำเงินภาษีดังกล่าวมาแก้ไขความเสียหายจากวิกฤติการณ์ทางการเงิน ในส่วนดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลัง  รับภาระอยู่   ส่วนภาระเงินต้นให้  กรส.รับผิดชอบครึ่งหนึ่ง  อีกครึ่งหนึ่งนำมาจากภาษีทางตรงตัวใหม่ดังกล่าว  ทำอย่างนี้เป็นธรรมกับประชาชนคนชั้นกลางและชั้นล่างมากกว่า  ไม่ต้องแบกรับจนเกินไป  เพราะไม่ใช่”ตัวการ”ทำให้เกิดวิกฤติการณ์ในครั้งนั้นเลย  โครงสร้างภาษีที่ดำรงอยู่ไม่ยุติธรรม  เพราะพึ่งพาภาษีทางอ้อมทุกยุคทุกรัฐบาล  จนป่านนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดๆ กล้าหาญชาญชัยคิดจะปฏิรูปภาษีที่ทางตรงตัวใหม่ดังกล่าวเลยมาช้านานแล้ว  การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเมือง  จึงมักสร้างภาวะให้คนชั้นล่างที่หมดทางไป  มายาวนานชั่วนาตาปีก็ว่าได้3.    ไม่ปฏิเสธการมอบบทบาทสำคัญแก่ ธปท.ในการบริหารนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนแต่ควรมีการคาดคะเนให้ดี  การมีคณะกรรมการหลายชุด มิใช่  จะมีหลักประกันอย่างดีพร้อมเสมอไปอย่างที่ธปท.อ้าง  ได้แก่  คณะกรรมการนโยบายการเงิน  คณะกรรมการสถาบันการเงิน  และคณะกรรมการระบบชำระเงิน  ซึ่งจะมีคนภายนอกมากกว่ากรรมการจากธปท.  แต่มักครอบงำด้วยจิตสำนึกคิดยึดติดคัมภีร์การเงินของฝรั่งอย่างไม่จำแนกแยกแยะ  ขาดความลึกซึ้งในกระบวนการโลกาภิวัฒน์ที่มีทั้งโอกาสและภัยคุกคามดีไม่ดีอาจมีประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นได้ไม่ยาก  ดังนั้นจึงควรมีกลไกคัดค้านจากภาคประชาชน  นักวิชาการอิสระ  และรัฐสภา อย่างเป็นจริงเสมอ ๆ                4 รมช.คลัง  นายสมหมาย   ภาษี  อ้างความเร่งด่วน  บอกให้เร่งผ่าน  สนช.วาระแรกเลย  แล้วค่อยไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ  ในสมัยรัฐบาลชั่วคราวอยากผลักดันกฎหมายไหนให้ผ่านเร็วๆ ก็จะเล่นมุกนี้ทั้งนั้  ผมกลับมองต่างมุมว่า  กฎหมายที่มีความสำคัญต่ออนาคตของชาติอย่างนี้  ควรทำให้เรียบร้อยก่อนนำเข้า  สนช.จะดีกว่า  โดยการเปิดเวทีสาธารณะเคารพการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง  ปรับปรุงร่างพ.ร.บ. ให้สมบูรณ์เสียก่อน  มากกว่าจะไปทำกันในกรรมาธิการไม่กี่สิบคน  อย่าให้คนเขาวิจารณ์กันเลยว่า  จะเร่งรีบรวบรัดเพื่ออะไรไปถึงไหน  ก็รู้อยู่แก่ใจว่ายุคนี้เป็นยุครวบอำนาจ  คมช.สภาเดียวอยู่แล้ว                ควรเลื่อนการพิจารณา พ.ร.บ. เงินตราออกไป  ทำให้สมบูรณ์เสียก่อนแล้วนำสู่สนช.พิจารณาต่อไปหากอยากได้ของดีเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย  เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ  ไม่มีอะไรล่าช้าไปหรอกครับ ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2550 หน้า4 คอลัมน์เศรษฐศาตร์เพื่อชีวิต

 

 
< ก่อนหน้า