เมื่อ คลังหลวง จะถูกถลุง โดย ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ |
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6 คอลัมน์ หน้าต่างความจริง วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10837 เมื่อ “คลังหลวง” จะถูกถลุง โดย ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ กฎหมาย 11 ฉบับ (ซึ่งเรียกกันในหมู่นักวิชาการว่า “กฎหมายขายชาติ”) ได้เปิดทางให้ทุนข้ามชาติสามารถเข้าซื้อสินทรัพย์อันเป็นหัวใจเศรษฐกิจของประเทศได้เกือบทุกอย่าง เช่น ธนาคาร รัฐวิสาหกิจ สนามบิน (ยกเว้น “ดอนเมือง” และ “สุวรรณภูมิ” เท่านั้น) สถาบันการศึกษา ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ บริษัทประกันภัย ธุรกิจเอกชน รวมทั้งอนุญาตให้ทุนข้ามชาติเข้ามาค้าปลีกเพื่อแย่งอาชีพแข่งกับคนไทยได้อย่างเสรี รวมความแล้ว “กฎหมาย 11 ฉบับ” ได้เปิดประเทศไทยให้ล่อนจ้อนเพื่อให้ทุนข้ามชาติเข้ามาข่มขืนเศรษฐกิจไทยได้อย่างเสรี และในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 ที่มูลค่าสินทรัพย์ลดต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอย่างมาก (บางครั้งเหลือเพียง 10% ของมูลค่าจริง) ทุนข้ามชาติได้เข้ามาซื้อไว้อย่างมหาศาล ไม่มีใครรู้ว่า “สินทรัพย์อันเป็นหัวใจเศรษฐกิจของประเทศไทย” อยู่ในมือของต่างชาติเป็นจำนวนเท่าใด ต่อมารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากจะไม่ได้แก้คืนกฎหมาย 11 ฉบับตามที่ได้หาเสียงไว้แล้ว ยังได้แก้กฎหมายเพื่อเปิดช่องให้ตนเองขายดาวเทียมและกิจการโทรคมนาคม (ในรูปของหุ้นชินคอร์ป) อันเป็น “สัมปทานของชาติ” ให้แก่กองทุน “เทมาเส็ก” ของสิงคโปร์ และแก้กฎหมายสรรพากรเพื่อให้ตนเองไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียวจากรายได้มหาศาลนั้น นับเป็นการสูญเสียอธิปไตยด้านข้อมูลข่าวสาร อันนำไปสู่วิกฤตการเมืองจนกระทั่งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจ ในท่ามกลางภาวะล้มละลายทางการเงินของประเทศ ซึ่งนักวิชาการหลายคนเปรียบว่าเป็น “การเสียกรุงครั้งที่ 3” พระภิกษุผู้สูงอายุรูปหนึ่งซึ่งจำศีลภาวนาอยู่ในป่า เมื่อได้ทราบถึงความเดือดร้อนของบ้านเมืองแล้วก็ไม่อาจที่จะนิ่งดูดาย ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ประชาชนออกมาช่วยกันกอบกู้บ้านเมือง เหมือนดัง “สมเด็จพระพนรัตน์” วัดป่าแก้ว และ “มหาเถรคันฉ่อง” เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 1 หรือเหมือนดัง “พระอาจารย์ธรรมโชติ” แห่ง “ค่ายบางระจัน” (สิงห์บุรี) และ “พระอาจารย์เจี้ยง” แห่ง “ค่ายบางกุ้ง” (สมุทรสงคราม) เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้จัดตั้ง “กองทุนผ้าป่าช่วยชาติ” ขึ้นเพื่อระดมทุนจากภาคประชาชนในรูปของทองคำและเงินตราต่างประเทศ โดยมีเจตนาที่จะนำไปใส่ไว้ใน “คลังหลวง” เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเงินของประเทศ “คลังหลวง” (ปัจจุบันเรียกว่า “ฝ่ายออกบัตร” เป็นทรัพย์สินที่อยู่ในรูปของทองคำ เงินสกุลต่างประเทศ และพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ) เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2445 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระราชทานทรัพย์สินในพระคลังมหาสมบัติเพื่อหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรที่พิมพ์ครั้งแรกในขณะนั้น ต่อมามีการออก “พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2471” โดยกำหนดให้แยกทรัพย์สินส่วนนี้ออกจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จัดขึ้นเป็น “บัญชีทุนสำรองเงินตรา” (เป็นบัญชีหลักใน “ฝ่ายออกบัตร” หรือ “คลังหลวง”) เพื่อหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตร ต่อมา “พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485” และ “พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2516” ก็กำหนดให้แยกสินทรัพย์ใน “คลังหลวง” ไว้ต่างหากจากสินทรัพย์ใน “ฝ่ายการธนาคาร” ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเพียงผู้ดูแล “คลังหลวง” เท่านั้น (ไม่สามารถเบิกจ่ายเพื่อการใดทั้งสิ้น) ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขณะที่เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2509 ว่า “พวกคุณทั้งหลายคงเข้าใจกันดีว่า เรื่องทุนสำรองนี่ไม่ใช่ของผม และไม่ใช่ของใครในธนาคารชาตินี่ และไม่ใช่ของพวกคุณ ไม่ใช่ของรัฐบาล เป็นของชาติทั้งชาติ และก็เป็นของลูกหลานของพวกเราที่จะมีต่อไป ถ้าเปรียบประเทศเหมือนครอบครัว ทุนสำรองก็เหมือนกับหลักทรัพย์ของครอบครัวเรา เรามีหน้าที่จะทำนุบำรุงรักษาให้เป็นประโยชน์แก่อนาคตต่อไป” เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย นำ “กองทุนผ้าป่าช่วยชาติ” ไปเข้าไว้กับ “ฝ่ายการธนาคาร” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ซึ่งเป็นบัญชีที่สามารถเบิกจ่ายได้) ทำให้หลวงตามหาบัวและประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน (โดยหวั่นเกรงว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำเงินที่เพิ่มขึ้นของ “ฝ่ายการธนาคาร” ไปใช้เพื่อชดเชยภาวะขาดทุนจากการบริหารงานที่ผิดพลาด) จนในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทยต้องยินยอมทำตาม ด้วยการนำไปใส่ไว้ใน “คลังหลวง” ตามเจตนารมณ์เดิมของประชาชนผู้บริจาค แล้วจู่ๆ รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็เสนอ “ร่างพระราชบัญญัติเงินตราฉบับใหม่” เข้าสู่ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ในเดือนกันยายน พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา (แต่ต้องถอนกลับมาหลายครั้ง เนื่องจากกระแสคัดค้าน) โดยมีการแก้ไขหลักการของพระราชบัญญัติเงินตราอย่างสำคัญ จากแต่เดิมที่กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเพียงผู้ “ดูแล” ทรัพย์สินใน “คลังหลวง” เท่านั้น มาเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีสิทธิเข้า “บริหารจัดการ” ทรัพย์สินใน “คลังหลวง” (ซึ่งมี 3 บัญชี คือ บัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ) ได้ (มาตรา 34/3) และยังเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถเข้ามาบริหารจัดการสินทรัพย์ใน “คลังหลวง” ได้อีกด้วย (มาตรา 34/4) นับเป็นการเปิดกรุมหาสมบัติของชาติ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและต่างชาติถลุงเล่นตามอำเภอใจ การออกมาคัดค้าน “พระราชบัญญัติเงินตราฉบับใหม่” ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และประชาชนในขณะนี้ จึงเป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผล ที่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติพึงรับฟังและรับพิจารณา และนับเป็นการออกมา “กู้ชาติ” อีกครั้งหนึ่งของพระป่าแห่งวัดป่าบ้านตาด ในดินแดนอีสานของไทย หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6 คอลัมน์ หน้าต่างความจริง วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10837 |
< ก่อนหน้า | ถัดไป > |
---|