ลืมรหัสผ่าน?
  • Narrow screen resolution
  • Wide screen resolution
  • Auto width resolution
  • Increase font size
  • Decrease font size
  • Default font size
  • default color
  • red color
  • green color
Home arrow ข่าวจากสื่อ arrow สัมภาษณ์พิเศษ : ประสาร ไตรรัตน์วรกุล "เรามีเงินสำรองไม่มากอย่างที่เข้าใจกัน"
สัมภาษณ์พิเศษ : ประสาร ไตรรัตน์วรกุล "เรามีเงินสำรองไม่มากอย่างที่เข้าใจกัน" PDF พิมพ์ อีเมล์
prasatrattanaworakul.jpg

สัมภาษณ์พิเศษ : ประสาร ไตรรัตน์วรกุล "เรามีเงินสำรองไม่มากอย่างที่เข้าใจกัน"

"ประสาร" ชี้การบริหารเงินสำรองต้องยึดกรอบ "อนุรักษนิยม" ระบุอยู่ที่ระดับ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ "ถือว่าอยู่ระดับต่ำ" เหตุเป็นระดับใกล้เคียงกับหนี้ในและนอกที่ประเทศต้องรับภาระ พร้อมวางกรอบเชิงรุกในการดูแลเศรษฐกิจมหภาค ทำงาน 4 ประสานกับ "ธปท.-คลัง-สศช.-สำนักงบ" รับมือโจทย์ท้าทาย รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

ร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) คนใหม่ เห็นว่าเงินสำรองระหว่างประเทศของไทย ที่ล่าสุดอยู่ระดับ 1.53 แสนล้านดอลลาร์นั้น ถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูงนัก เพราะหากคำนวณเงินสำรองที่ต้องกันเพื่อหนุนหลังธนบัตร ซึ่งเท่ากับว่ารัฐเป็นหนี้ประชาชน บวกหนี้ต่างประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งนับเป็นหนี้ต่างประเทศ รวมถึงต้องหักเงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อการนำเข้า 3 เดือน ก็พบว่ามูลค่ารวมก็อยู่ระดับ 1.4 แสนล้านดอลลาร์ เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับทุนสำรองในวันนี้

"ถือเป็นสูตรคิดที่ค่อนข้างระมัดระวัง ดังนั้น ใครคิดจะนำเงินสำรองไปทำอย่างอื่น เช่น ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือชำระหนี้ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบการเงิน ก็ต้องคิดให้รอบคอบว่า ข้อเท็จจริง คือ เรามีเงินสำรองไม่มากอย่างที่เข้าใจกัน ที่สำคัญ การนำเงินสำรองเพื่อทำอะไรสักอย่างแล้ว เมื่อประตูเปิดครั้งแรกแล้ว ย่อมมีการขอเข้ามาอย่างต่อเนื่อง"

ทั้งนี้ ดร.ประสาร ในฐานะคนคุ้นเคยลูกหม้อดั้งเดิมของวังบางขุนพรหม จะเข้าดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 1 ต.ค. แทน ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ที่จะครบวาระลงในวันที่ 30 ก.ย.

ส่วนมุมมองการทำงานและโจทย์ใหญ่ในการเข้ารับบทบาทแม่ทัพของธนาคารกลางนั้น เขาเห็นว่า ปัจจุบันโจทย์การทำงานของ ธปท. มีเพิ่มขึ้น จากเดิมโจทย์หลักที่มุ่งเน้น คือ ดูแลให้การเติบโตของเศรษฐกิจสมดุลกับความมีเสถียรภาพ แต่ตอนนี้มีโจทย์ใหม่ในเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม เข้ามาเพิ่มเติม และคนก็คาดหวังกับโจทย์ใหม่นี้ด้วย

"จริงๆ แล้ว ในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น ธปท.ไม่มีเครื่องมือในการเข้าไปดูแลโดยตรง เพราะนโยบายการเงินไม่มีสวิตช์ปิด-เปิดไม่มีท่อต่อตรงเข้าระบบ เหมือนนโยบายการคลัง ทำได้แค่ทางอ้อมผ่านสถาบันการเงิน ดังนั้น ธปท.ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นมากขึ้น ต้องสร้างสรรค์เครือข่ายและสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้น"

วางแผนทำงานเชิงรุก-สร้างเครือข่าย

จากโจทย์ที่เพิ่มขึ้นและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ธปท. ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น และประสานกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้มากขึ้น เนื่องจากหน่วยเหล่านี้ ถือเป็นด่านหน้าในการดูแลเศรษฐกิจ แต่ ธปท.ก็ต้องไม่ปล่อยให้หน่วยงานเหล่านี้ ทำงานไปโดยที่ ธปท.นั่งดูเฉยๆ อย่างไม่รู้เรื่องรู้ราว เพราะหากด่านหน้ามีปัญหาในที่สุดก็ต้องลุกลามมาถึง ธปท. ที่เป็นด่านหลังอยู่ดี

"ถ้าปล่อยให้ด่านหน้าไม่ดี ด่านหลังก็แย่ เพราะเครื่องมือของ ธปท. ก็มีจำกัด แต่คนคาดหวังมาก ดังนั้น ถ้ามาจวนตัวก็ยุ่งเหมือนอย่างปี 2540 ซึ่งก็ยอมรับว่าหลังจากเกิดวิกฤติในปีนั้นแล้ว คนก็ไม่ไว้ใจ ธปท. สักเท่าไร และความน่าเชื่อถือของ ธปท. กับในอดีตเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมานั้น แตกต่างกับปัจจุบัน ที่ ธปท.ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่รู้จักตลาด หรือไม่เข้าถึง ก็เป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไข"

ดร.ประสาร ยอมรับว่า ธปท.ในยุคสมัยที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการนั้น ถือว่าเป็นยุคที่มีความพร้อมอย่างมาก ทั้งเรื่องความน่าเชื่อถือ เรื่องการฝึกอบรมบุคลากร หรือแม้แต่สื่อมวลชนก็มีความรู้ด้านเศรษฐกิจแตกต่างจากปัจจุบัน โดยในยุค ดร.ป๋วย ธปท.ถือเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจ และบุคลากรที่ทำงานอยู่ใน ธปท. ก็ได้รับการยอมรับมีความน่าเชื่อถือ ขณะที่ปัจจุบันบุคลากรของภาคเอกชนกลับมีบทบาท และได้การยอมรับในเรื่องการวิเคราะห์เศรษฐกิจมากกว่า

อีกทั้งข้อมูลต่างๆ ด้านเศรษฐกิจของ ธปท. ก็ไม่ได้ดีกว่าของภาคเอกชน และสื่อก็เปิดกว้างมากขึ้น มีการนำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มาเขียนเยอะขึ้น

นอกจากนี้ วัฒนธรรมดั้งเดิมในองค์กรของ ธปท. ก็เป็นเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยน หาทางให้มีการพัฒนาคนที่มีความสามารถมากขึ้น เพราะปัจจุบันการที่พนักงานของ ธปท.จะออกมาหาประสบการณ์เพิ่มเติมจากองค์กรข้างนอกค่อนข้างมีความเสี่ยงในการกลับเข้าไปทำงานให้องค์กรเหมือนเดิม เช่น บางกรณีแลกเปลี่ยนออกมาทำงานองค์กรอื่นได้ไม่เท่าไร ก็ต้องกลับไป ติดปัญหาหรือตำแหน่ง หากไม่กลับไปก็อาจจะไม่ได้กลับไปเลยก็มี ส่วนระบบเงินเดือนโดยรวมมองว่ายังไม่มีปัญหา ผลตอบแทนใกล้เคียงกับหลายองค์กร

ก.ม.ช่วยลดแรงเสียดทานการเมือง

ดร.ประสาร กล่าวถึง แรงกดดันทางการเมืองต่อการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.ว่า โชคดีที่ปัจจุบันมีกฎหมายเข้ามาช่วย คือ พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2551 มาสร้างระบบลดแรงเสียดทานได้พอสมควร ทำให้ผู้ว่าการ ธปท. ลดการเผชิญหน้ากับการเมือง เพราะอำนาจในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ใช่แค่การตัดสินใจของผู้ว่าการ ธปท. เพียงคนเดียว มีการทำงานกันเป็นระบบ ก่อนตัดสินใจก็มีการประชุมวิเคราะห์ข้อมูลกันเป็นเรื่องเป็นราวมีการแถลงข่าว สร้างระบบที่โปร่งใส และมีการนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ คือ เป้าหมายเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ จุดดีของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. นำมาใช้ เพราะทำให้มีกรอบชัดเจน สร้างบอดี้ ทำให้ระบบโปร่งใส มีเครื่องมือติดตามได้ จึงมีการใช้ต่อเนื่องกันมากว่า 10 ปี แม้จะจุดอ่อนอยู่บ้าง

"ช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ การเมืองระดับบนเข้ามายุ่งกับระดับนี้มากขึ้น เช่น การแต่งตั้งคน หรือการชี้นำแนวนโยบาย อย่างสภาพัฒน์เดี๋ยวนี้ก็ถูกชี้นำ ซึ่งในส่วนของผมเองก็คงไม่เข้าไปยุ่งกับการเมืองอยู่แล้ว และพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งกับเราด้วยเหมือนกัน แม้ตอนนี้จะมีคนออกมาทำให้มันเกี่ยวกันอยู่บ้าง"

แนวโน้ม ศก.ไทยต้องลดพึ่งส่งออก

ดร.ประสาร กล่าวถึง ทิศทางเศรษฐกิจไทย ว่า ต้องดูผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ว่า กระทบทางตรง-ทางอ้อมอย่างไร เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทิศทางค่าเงินเอเชียแข็งขึ้น เงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะกระทบการส่งออก แม้ปีนี้ การส่งออกของไทยดี ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี แต่ปีหน้า ต้องระวัง เพราะการส่งออกเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

ดังนั้น จะพึ่งการส่งออกตลอดไปไม่ได้ จึงต้องดูปัจจัยตัวอื่น เช่น การลงทุน หากรัฐไม่รีบกระตุ้นให้มีการลงทุนและแก้ปัญหาในนิคมมาบตาพุดล่าช้า จะทำให้ประเทศไทยสู้ประเทศอื่นไม่ได้ หรือในส่วนของการบริโภคก็ต้องทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น มีรายได้ที่ดี เพื่อให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ รองรับความเสี่ยงจากการส่งออกที่ไม่สามารถควบคุมได้

เขายังมองด้วยว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวแล้ว จากการที่รัฐบาลอัดฉีดเงิน และงัดมาตรการต่างๆ ทุ่มเข้าไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เมื่อฟื้นขึ้นมาได้แล้ว ก็คงไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจดิ่งลงอีก แต่ยอมรับว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐครั้งนี้ จะเป็นแผลเป็นที่ต้องจดจำและชดใช้ไปอีกยาวนาน เพราะมีการนำเงินในอนาคตมาใช้จำนวนมาก เช่น การที่ธนาคารกลางสหรัฐเข้าไปพันธบัตรรัฐบาลเสียเอง ซึ่งเท่ากับว่าให้รัฐบาลกู้เงิน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำกัน หรือธนาคารกลางนำเงินไปซื้อตราสารของเอกชน ก็เท่ากับให้เอกชนกู้ โดยสิ่งเหล่านี้สหรัฐทำได้ เพราะการเมืองของเขาเข้มแข็ง และนักการเมืองก็เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น

ตำแหน่งผู้ว่าการภารกิจเพื่อส่วนรวม

ดร.ประสาร เล่าถึงการตัดสินใจเข้าสมัครผู้ว่าการ ธปท. ว่า เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อไปเขียนใบสมัครคณะกรรมการก็ให้เขียนวิสัยทัศน์ มีโจทย์ใหญ่ 4 เรื่องที่ต้องนำเสนอ ถือเป็นขั้นตอนแรก จากนั้นในขั้นที่สองเป็นคำถามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโจทย์มา 6 คำถาม ให้เวลา 1 สัปดาห์ก่อนที่จะไปนำเสนอ ซึ่งในชุดแรกก็เป็นคำถามเรื่อง เศรษฐกิจมหภาค นโยบายการเงิน การบริหารองค์กร ส่วนในรอบที่สองเป็นโจทย์เชิงนโยบาย

เมื่อถูกถามถึงบทบาทหน้าที่ที่เปลี่ยนไปจากการนั่งเก้าอี้บริหารงานในธนาคารพาณิชย์มาเป็นผู้กำกับดูแล นายประสารตอบว่า การทำงานทั้ง 2 บทบาทมีทั้งความเหมือนและความต่าง เช่น เมื่อทำงานกับเอกชนก็ต้องให้น้ำหนักกับผู้ถือหุ้นเป็นหลัก แต่เมื่อมานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการ ธปท. น้ำหนักก็ต้องเทไปในเรื่องของสังคมหรือส่วนรวมมากกว่า อย่างเรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (สเปรด) เป็นปัญหาเรียกร้องความเป็นธรรมกันอยู่ ก็ต้องไปดูเป็นโจทย์ที่ท้าทายอีกแบบหนึ่ง

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >