ลืมรหัสผ่าน?
  • Narrow screen resolution
  • Wide screen resolution
  • Auto width resolution
  • Increase font size
  • Decrease font size
  • Default font size
  • default color
  • red color
  • green color
Home arrow บทความวิชาการ arrow เราจะบริหารเงินทุนสำรองของประเทศอย่างไรดี
เราจะบริหารเงินทุนสำรองของประเทศอย่างไรดี PDF พิมพ์ อีเมล์

www.fpo.go.th

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สิ่งพิมพ์ > บทความวิชาการ/06/08/2550

เราจะบริหารเงินทุนสำรองของประเทศอย่างไรดี

ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้

ประเด็นที่ท้าทายเศรษฐกิจไทยที่สำคัญที่สุดประเด็นหนึ่ง นอกจากเรื่องค่าเงินบาทแล้ว ก็คือประเด็นที่เราจะจัดการอย่างไรกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกขณะจนมีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว การมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่มากในเวลาที่รวดเร็วก็เป็นปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศประกอบไปด้วยเงินตราต่างประเทศในสกุลที่มีแนวโน้มด้อยค่า เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนมาก  เพราะมูลค่าของทรัพย์สินที่ประเทศชาติถืออยู่ก็จะมีค่าลดลงเช่นกัน

                สำรองเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการมีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในรูปการลงทุนทางตรง โดยการเข้ามาตั้งกิจการ โรงงานและอุตสาหกรรมในเมืองไทย หรือร่วมลงทุนทำธุรกิจกับบริษัทไทย และในรูปการลงทุนทางอ้อมโดยการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินรวมทั้งหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในกรณีของประเทศไทยในช่วงนี้

เป็นแบบหลังเสียมากกว่า อีกทั้งเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท แบงค์ชาติจำเป็นต้องแทรกแซงโดยการขายเงินบาทและซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนมาก   ดังนั้น หากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้อยค่าเรื่อย ๆ และหากเราไม่สามารถบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้นเพื่อชดเชยกัน เราก็จะขาดทุนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ และบั่นทอนอำนาจซื้อของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของประเทศที่สำคัญที่สุดที่เรามีอยู่ในระยะยาว

4                เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่มีมากพอที่จะต้องพิจารณาว่า ทำอย่างไรถึงจะบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ การเก็บสำรองเงินตราต่างประเทศเหล่านี้ทั้งหมดไว้เฉย ๆ โดยการซื้อตราสารการเงินที่ไม่มีความเสี่ยง  มีสภาพคล่องดี  แต่ให้ผลตอบแทนต่ำไว้ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องที่ควรทิ้งไว้กับอดีต ตัวชี้วัดระดับความพอเพียงของสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศไทย (ดังตารางข้างบน) ทุกตัวชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมี

                เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอ และมีส่วนเกินที่จะคิดนำเอาบางส่วนไปบริหารจัดการในเชิงรุก เพื่อหาผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว ข้ออ้างที่ว่าประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทยจำเป็นต้องเก็บเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้นิ่ง ๆ เป็นสำรองสภาพคล่องจำนวนมาก เพื่อป้องกันปัญหาเงินทุนไหลออกจนเกิดวิกฤติ เช่นปี 2540 เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นในยามที่สำรองเงินตราระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นในระดับที่เกินความจำเป็น

                ประกอบกับกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า และค่าเงินบาทแข็งยังเป็นแนวโน้มที่ชัดเจนและหลีกเลี่ยงยากไปอีกระยะหนึ่งอย่างน้อยก็ 2-3 ปีข้างหน้า ความจำเป็นที่จะต้องระบายสำรองเงินตราต่างประเทศออกไปลงทุนให้เน้นผลตอบแทน มีมากกว่าการสะสมเก็บตุนไว้เฉย ๆ เพื่อเน้นภาพพจน์ความมั่นคง

                การบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในยามนี้ จึงควรเน้นการลงทุนในเชิงรุกมากขึ้นโดยมีการจัดสรรสัดส่วนเฉพาะเพื่อการลงทุนที่เน้นผลตอบแทนมากขึ้น โดยแบ่งเงินทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ส่วนที่เน้นสภาพคล่องและความปลอดภัยของการลงทุนเป็นหลัก (Liquidity Tranch) และ 2. ส่วนที่เน้นการลงทุนทางเลือกและผลตอบแทนระยะยาว (Investment Tranch) ในส่วนแรกนั้น ควรเน้นการลงทุนแบบดั้งเดิมในตราสารการเงินและสินทรัพย์ต่างประเทศที่มีระยะสั้น ๆ และมีความมั่นคงสูงในเชิง Passive  Management โดยเป็นการลงทุนที่ให้ใช้วิจารณญาณของผู้จัดการกองทุนได้เพียงเล็กน้อย ในส่วนที่สองเป็นการลงทุนในลักษณะ Active Management ในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น กองทุนประเภทต่าง ๆ (Fund of Fund , Mutual fund , Hedge Fund)  บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ตราสารการเงินที่มีความมั่งคงพอสมควรและมีความเสี่ยงบ้างแต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนแบบดั้งเดิม และการลงทุนโดยตรงในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity)โดยไม่เน้นผลตอบแทนในระยะสั้น แต่ต้องเห็นผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว หรือแม้กระทั่งว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในต่างประเทศบริหารจัดการให้

                ในต่างประเทศเริ่มมีแนวโน้มที่จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่มีอิสระขึ้นมาบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในลักษณะที่สองที่กล่าวมาดังข้างต้น เช่น จีน สิงคโปร์ เกาหลี คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และนอร์เวย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว

                การพิจารณาว่าจะจัดสรรเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างไรระหว่างส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สอง ก็ขึ้นอยู่กับว่าแบงค์ชาติจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเท่าใดในการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยคำนึงถึงระดับที่ไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการและแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนต่อการบริหารสภาพคล่องของประเทศ หากแบงค์ชาติมีความสามารถในการบริหารจัดการในส่วนนี้ได้ดี ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ในส่วนนี้มาก และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือที่จะเจียดไปอยู่ในส่วนที่สอง 

                โดยทั่วไปการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สองต้องคำนึงถึงความเปิดของเศรษฐกิจไทย ความจำเป็นในการใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ เช่น เพื่อการชำระเงินกู้ต่างประเทศและสินค้านำเข้า ตลอดจนความต้องการเงินตราต่างประเทศในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของไทย และต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการเก็บสำรองเงินตราต่างประเทศไว้เฉย ๆ ในรูปเงินสด เมื่อกำหนดวงเงินที่เหมาะสมได้แล้ว  ก็ให้ส่วนนี้อยู่ในการบริหารจัดการของแบงค์ชาติ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่วนที่เหลือสามารถแยกไปให้บรรษัทที่จะจัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่บริหารจัดการเพื่อการลงทุนโดยเฉพาะนำไปลงทุน โดยอยู่นอกระเบียบกฎเกณฑ์และวัตถุประสงค์ของการช่วยแบงค์ชาติในการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้ความอิสระคล่องตัวในการลงทุน เพิ่มโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว และในขณะเดียวกันก็เป็นการกระจายความเสี่ยงโดยแยกไข่ไว้หลายตะกร้า กล่าวคือ หากในอนาคตเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสเกิดน้อยมาก) เช่นเดียวกับเมื่อปี 2540 ที่เราสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมดจากการแทรกแซงค่าเงินบาท เราก็ยังจะมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่ลงทุนอยู่ในสินทรัพย์ในต่างประเทศอยู่ก้อนหนึ่งที่ยังปลอดภัย

**************

บทความนี้เป็นความเห็นทางวิชาการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >