ลืมรหัสผ่าน?
  • Narrow screen resolution
  • Wide screen resolution
  • Auto width resolution
  • Increase font size
  • Decrease font size
  • Default font size
  • default color
  • red color
  • green color
Home arrow บทความวิชาการ arrow รู้จักทุนสำรองระหว่างประเทศ ก่อนนำออกไปใช้ก่อนดีไหม ?
รู้จักทุนสำรองระหว่างประเทศ ก่อนนำออกไปใช้ก่อนดีไหม ? PDF พิมพ์ อีเมล์
คอลัมน์ นอกรอบ  โดย ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 03 มีนาคม 2548  ปีที่ 28 ฉบับที่ 3667 (2867)

ผมได้ติดตามอ่านเรื่องการนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ ทั้งจากแนวคิดของท่านที่ปรึกษานายกฯ และจากการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการ และสื่อต่างๆ แล้วยังรู้สึกงงๆ ในแนวความคิดที่แต่ละท่านเสนอ และวิพากษ์วิจารณ์กันมาอยู่พอสมควร วันนี้ผมก็เลยถือโอกาสใช้เนื้อที่ของคอลัมน์นี้มาทำให้ท่านผู้อ่านงงเหมือนผมบ้างคงจะดีไม่น้อยนะครับ
                ก่อนจะไปงงกัน มาทำความรู้จักกับระบบบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กันก่อนนะครับ ธปท.มีบัญชีแยกออกเป็น
3 กลุ่ม ซึ่งมีวัตถุประสงค์และหน้าที่แตกต่างกันคือ 1.บัญชีฝ่ายการธนาคาร 2.บัญชีฝ่ายออกบัตร และ 3.ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งบัญชีฝ่ายการธนาคารนั้นมีไว้เพื่อการทำ ธุรกรรมทางการเงิน (money market operation) ของ ธปท. เช่น การนำเงินดอลลาร์ขายออกไปเพื่อดูดซับเงินบาทเพื่อมิให้เกิดเงินเฟ้อ (มิใช่เพื่อวัตถุประสงค์การพยุงค่าเงิน) ส่วนบัญชีฝ่ายออกบัตรนั้นมีไว้เพื่อหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตร (ห้ามนำออกมาใช้) ในขณะที่บัญชีทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนมีไว้เพื่อแทรกแซงค่าเงินบาทโดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อก่อนคงต้องมีไว้มากหน่อยเพราะเรากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ แต่สมัยนี้ไม่ต้องมีมากเพราะเราใช้ระบบลอยตัวแบบจัดการ แล้วทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ตรงไหน ? ทุนสำรองระหว่างประเทศคือผลรวมของเงินสกุลต่างประเทศในทั้ง 3 บัญชีข้างต้นครับ

 9                บัญชีที่ผมจะขออนุญาตลงลึกเรื่องกฎเกณฑ์และกลไกการทำงานคือ บัญชีของฝ่ายออกบัตรครับ บัญชีของฝ่ายออกบัตรนี้มีกลไกการทำงานค่อนข้างสลับซับซ้อน โดยมีการแบ่งบัญชีในฝ่ายนี้เป็น 3 บัญชีด้วยกันคือ 1.บัญชีทุนสำรองเงินตรา ซึ่งผมขอเรียกสั้นๆ ว่า ทุนสำรองฯ 2.บัญชีผลประโยชน์ประจำปี ซึ่งจะเรียกว่า บัญชีผลประโยชน์ฯ และ 3.บัญชีทุนสำรองพิเศษ
                ทุนสำรองฯจำเป็นต้องมีไว้หนุนหลังค่าเงินบาทในสัดส่วน
1 : 1 กล่าวคือ หาก ธปท.ต้องการพิมพ์ธนบัตรมูลค่า 100 บาท (ธนบัตรถือเป็นหนี้สิน หรือ liability ของ ธปท.) ธปท.ต้องมีสินทรัพย์ (asset) หนุนหลังเป็นมูลค่า 100 บาทเท่ากัน (asset ต้องเท่ากับ liability) โดย พ.ร.บ. ธปท. ปี 2501 กำหนดให้สินทรัพย์ดังกล่าวจำเป็นต้องประกอบด้วยสินทรัพย์ต่างประเทศ (เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ) หรือโลหะทรงมูลค่า (เช่น ทองคำ) หนุนหลังไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าธนบัตรที่พิมพ์ออกไป ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยไม่เคยมีสินทรัพย์ประเภทนี้หนุนหลังต่ำกว่า 100% เลย
                ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่
25 บาท/ดอลลาร์ ส.ร.อ. การพิมพ์ธนบัตรราคา 50 บาทต้องใช้เงิน $2 หนุนหลัง แต่ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวมาอยู่ที่ 50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ การพิมพ์ธนบัตรชนิดเดียวกันต้องใช้เงินเพียง $1 หนุนหลัง กฎหมายบอกให้ต้องหนุนหลังในสัดส่วน 1:1 เท่านั้น แล้วส่วนเกิน $1 ที่เคยใช้หนุนหลังตอนอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐจะเอาไปไว้ไหนถ้าอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนมาอยู่ที่ 50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ?
                ถ้ากฎหมายบอกว่าเงินฝ่ายออกบัตรทั้ง
3 บัญชีห้ามนำออกมาใช้ สินทรัพย์ที่ใช้หนุนหลังตั้งมากมายเก็บไว้ที่ไหน ? โกดังของธนาคารแห่งประเทศไทย ? ผมว่า ธปท.คงไม่ทำอย่างนั้นแน่ๆ ครับ คำตอบง่ายๆ ที่แทบไม่ต้องคิดคือ ธปท.ก็นำไปแสวงหาผลประโยชน์ในต่างประเทศดีกว่าเก็บไว้ในโกดังให้ปลวกกินธนบัตร ผลประโยชน์ที่ได้ดังกล่าวมากมายหลายหมื่นล้านบาทต่อปี !
                ไม่ว่าจะเป็นกรณีค่าเงินบาทอ่อนตัว หรือกรณีที่นำเงินหนุนหลังไปแสวงหาประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เงินที่ได้จะถูกไปเก็บไว้ในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วครับว่าเป็นผลประโยชน์ที่เก็บเกี่ยวได้ระหว่างปี พอถึงวันที่
1 ม.ค.ของทุกปีเงินในบัญชีนี้จะถูกเอาไปฝังถาวรไว้ที่บัญชีสุดท้ายของฝ่ายออกบัตร คือบัญชีทุนสำรองพิเศษ (ซึ่งส่วนที่ฝังถาวรนี้ก็ไม่ได้เก็บไว้ในโกดังนะครับ แต่ก็จะถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์เหมือนกัน) ผมไม่แน่ใจว่าจำนวนเงินในบัญชีทั้ง 3 นี้เปิดเผยได้หรือไม่ในเชิงกฎหมาย แต่ก็บอกได้คร่าวๆ ว่า เฉพาะเงินบาท (ซึ่งมีสัดส่วนน้อย) ที่อยู่เฉพาะในบัญชีที่เก็บถาวร (ทุนสำรองพิเศษ) ก็มีมากพอที่จะล้างขาดทุนสะสมของฝ่ายออกบัตรที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์จำนวนเป็นแสนล้านบาทได้ภายในพริบตา !
                ทีนี้ลองมาดูครับว่าอะไรเกิดขึ้นกับทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงปลายปี
2547 ตั้งแต่กลางเดือน ต.ค.2547 ดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนตัวอย่างชัดเจน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ธปท.เริ่มเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยจำเป็นต้องซื้อดอลลาร์สหรัฐเข้ามาเก็บไว้ไม่ให้เอ่อล้นในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่กลางเดือน ต.ค.2547 จนถึงกลางเดือน ก.พ.2548 (4 เดือน) ธปท.ต้องไปซื้อเงินดอลลาร์กับมาเก็บไว้มากราว 3.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือถึงเกือบ 1.5 แสนล้านบาท ธปท. (ทั้งนี้ยังไม่รวมการที่ ธปท.ไปซื้อเงินตราล่วงหน้าอีกราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใช้เงินในบัญชีไหนไปแทรกแซง ? ธปท.สามารถใช้เงินได้จากทั้งบัญชีทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไปแทรกแซง โดยให้เหตุผลว่าเป็นการรักษาเสถียรภาพเงิน หรืออาจใช้เงินจากบัญชีฝ่ายการธนาคารโดยให้เหตุผลว่าเป็นการรักษาฐานเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (ดูตารางประกอบ)
                ไม่ว่า ธปท.จะใช้เงินจากบัญชีใดเข้าไปแทรกแซงโดยเหตุผลใดก็ตาม ปัญหาคือการเอาดอลลาร์สหรัฐเข้ามาเก็บ โดยเอาบาทออกไปซื้อจำนวนมากขนาดนั้น มิกลับกลายเป็นเงินบาทจะเอ่อล้นเต็มระบบไปหมดจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อหรือ
? คำถามนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตอบว่า ใช่ ! ธปท.จึงคงไม่มีทางเลือกที่จะต้องทำการดูดซับเงินบาทที่ออกไปจากการแทรกแซงโดยการออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT Bond) ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุให้หนี้สินของ ธปท.ต้องสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในความเห็นของผมแล้วการที่หนี้เพิ่มขึ้นก็ไม่เป็นไรครับ เพราะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเมื่อรวม 2 ขั้นตอน (1.การแทรกแซงค่าเงิน และ 2.การดูดซับเงินบาทกลับ) แล้วหนี้สินที่เพิ่มขึ้น (BOT Bond) จะมีจำนวนเท่ากับสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น (ดอลลาร์สหรัฐ) หาก ธปท.จะคงระดับอัตราเงินเฟ้อไว้เท่าเดิม แต่ตรงนี้คงต้องตระหนักกันไว้อย่างหนึ่งนะครับว่า อย่าดูแต่ฝั่งสินทรัพย์กันเพียงอย่างเดียวว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเราสูงเอาๆ เอาไปใช้อะไรดี แต่คงต้องดูถึงหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการออกพันธบัตร ธปท.ที่จำต้องออกไปดูดซับเงินบาทกลับมาด้วย !
                ไม่ว่า ธปท.จะซื้อดอลลาร์สหรัฐเข้ามาเก็บโดยใช้บัญชีฝ่ายการธนาคาร หรือโดยใช้บัญชีทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐที่ไปซื้อมาส่วนที่เกินความจำเป็นจะต้องนำส่งเข้าไปเก็บไว้ในบัญชีของฝ่ายออกบัตร
(ห้ามนำออกมาใช้) แล้วฝ่ายออกบัตรได้เงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนมากภายในไม่กี่เดือนแล้วจะเอาไปไว้ไหนดี ? ขอใช้คำถามเดิมอีกครั้งครับว่า ไว้ที่โกดัง ? คำตอบก็คำตอบเดิมครับว่า ไม่ใช่ ฝ่ายออกบัตรต้องนำไปแสวงหาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
                ตรงนี้ผมเลยขอทิ้งคำถามให้ท่านผู้อ่านงงเหมือนผม หรือให้ท่านผู้รู้ช่วยตอบผมหน่อยเถอะครับว่า
1.เงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้มาจากการแทรกแซงค่าเงินในที่สุดแล้วก็ต้องนำไปแสวงหาผลประโยชน์ในต่างประเทศอยู่แล้วไม่ใช่หรือครับ แล้วอย่างนี้เรื่องการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปหาผลประโยชน์จะมาพูดกันทำไม ไม่ใช่ประเด็นใหม่ เพราะเขาทำกันอยู่แล้ว ? หรือจะเอาไปลงทุนทางอื่นที่ผลตอบแทนสูงกว่าที่ ธปท.ทำอยู่ ? ตรงนี้ต้องคิดดูดีๆ นะครับว่า (1) เป็นการแทรกแซงการทำงานของ ธปท.หรือไม่ ? (2) การลงทุนตอบแทนสูงก็มีความเสี่ยงสูงด้วยนะครับ
               
2.ถ้าจะเปลี่ยนมาเป็นการผันทุนสำรองระหว่างประเทศมาเป็นทุนเพื่อใช้ในประเทศ ธปท.อาจทำได้แต่ต้องแลกกับอัตราเงินเฟ้อที่ต้องสูงขึ้น (ปล่อยบาทเพื่อดูดซับดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่ยอมออกพันธบัตร ธปท.เพื่อดูดซับเงินบาทกลับมา) คำถามคือ ธปท.จะกล้าไม่ดูดซับเงินบาทกลับมาหรือครับ ? ค่าน้ำมันดีเซลก็จะลอยตัวอยู่แล้ว เงินเฟ้อก็จะเพิ่มตามในไม่ช้า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) เขาก็มีกำหนดกันอยู่ไม่ใช่หรือครับ ? และคำถามสุดท้าย
               
3.แม้ไม่สนใจเรื่องเงินเฟ้อ หากปกติแล้ว ธปท.มีสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือโลหะทรงมูลค่าหนุนหลังค่าเงินบาทอยู่เกินที่กฎหมายกำหนดที่ระดับร้อยละ 60 อยู่มากแล้ว (สมมติว่าเป็นร้อยละ 120) เพราะฉะนั้นต่อให้ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ต้องมีมากมายมหาศาลเหมือนในปัจจุบัน ธปท.ก็มีความสามารถในการพิมพ์ธนบัตรออกมามากกว่าในปัจจุบันเป็นเท่าตัวอยู่แล้ว เหตุที่ ธปท.ไม่ออกธนบัตรมาใช้ให้สบายใจก็เพราะ ธปท.รักษากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อหรอกไม่ใช่หรือครับ ไม่ใช่เพราะไม่มีเงินสำรองหนุนหลัง ?
                ผมก็เลยงงว่าไอเดียที่จะเอาทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้มีอะไรใหม่ เพราะการลงทุนในต่างประเทศ ธปท.เขาก็ทำกันอยู่เป็นระบบอยู่แล้ว หากจะผันเงินมาเป็นทุนในประเทศ ธปท.ก็ทำได้อยู่ตั้งนานแล้ว เพียงแต่ต้องรักษาวินัยด้านเงินเฟ้อเลยไม่ทำ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ผมงงได้อย่างไร
?!! ถ้าจะทำกันแบบแหวกแนวไปกว่าที่เขาทำกันอยู่ อย่างนี้จะเรียกว่าแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติได้หรือไม่ครับ !?
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >