เงินถุงแดง โดย ปถพีรดี |
เรื่องนี้ได้เคยนำลงในคอลัมน์นี้มาหลายปีแล้ว บัดนี้มีผู้ถามมาอีกจึงขอเสนอประวัติศาสตร์ เงินถุงแดงอีกครั้งหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระมหากรุณาธิคุณแก่บ้านเมืองไทยเป็นล้นพ้น เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลที่ ๒ นั้น ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระราชบิดา คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นอย่างมาก ทั้งด้านการทหาร การปกครอง และเศรษฐกิจ ในด้านเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพ่อค้าเชี่ยวชาญในการค้าสำเภามาก ทรงส่งเรือไปค้าขายนอกประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศจีน จึงมีผลกำไรเข้าท้องพระคลัง ถวายพระบรมชนก สำหรับใช้ในกิจการด้านต่างๆของบ้านเมือง รวมทั้งการบูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างวัดวาอาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชบิดา ถึงกับทรงขนานพระสมัญญาว่า “เจ้าสัว” เมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชย์แล้ว ก็ได้ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองทรงหาเงินเข้าท้องพระคลัง นำความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆมาสู่บ้านเมืองไทย ตราบจนเสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗ พระมหากรุณาธิคุณ ก็ยังแผ่ปกคุ้มเศียรเกล้าพสกนิกรไทย นำความร่มเย็นรอดพ้นจากภัยพิบัติที่จะทำลายบ้านเมืองไทย ทั้งนี้โดยพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ไว้ในพระคลังข้างที่เรียกว่า “เงินถุงแดง” สำหรับใช้ในราชการแผ่นดิน มิได้พระราชทานให้เป็นประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ “เงินถุงแดง” นี้ ในเวลาต่อมา ได้ช่วยรักษา “เอกราช” ของชาติไว้ ช่วยให้บ้านเมืองไทยรอดพ้นจากการคุกคามและยึดครองของฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหากไม่มี “เงินถุงแดง” จำนวนนี้แล้ว บ้านเมืองอาจมีอันตราย ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของ “เงินถุงแดง” มีดังนี้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๑ ประเทศไทยมีเรื่องพิพาทกับฝรั่งเศส เรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง คือเรื่องเมืองไล อันเป็นเมืองอยู่ในดินแดนสิบสองจุไท ตรงตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงพระบาง ซึ่งขณะนั้น เป็นดินแดนของไทย ไทยถือว่า เมืองไล เป็นดินแดนของไทย จีนก็ถือว่าเป็นของจีน และฝรั่งเศสก็ถือว่าเป็นของฝรั่งเศส จึงมีการเจรจากันเพื่อรังวัด แต่เหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นเสมอ เพราะฝรั่งเศสคอยพาลกลาวหาว่า ไทยรุกล้ำดินแดนญวนและเขมร ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองเป็นอาณานิคมไว้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯให้รวมเมืองต่างๆขึ้นเป็นภาค เช่น ภาคอุดร ภาคอีสาน ภาคลาวพวน ลาวกาว ลาวพุงขาว ต่อมาเกิดกรณีพิพาทในการรังวัดเขตแดน เช่น แย่งปักธงในทุ่งเชียงคำ เขตลาวพวน และถึง พ.ศ.๒๔๓๖ เกิดกรณีพระยอดเมืองขวาง ต่อสู้กับ นายทหารฝรั่งเศส ซึ่งจะขับไล่ไทยออกจากเมืองคำม่วน ฝ่ายฝรั่งเศสแพ้ นายทหารฝรั่งเศสตาย ๑ คน ทหารญวนตายประมาณ ๒๐ คน ไทยตาย ๕-๖ คน รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบโคเมต์ กับเรือลังกองสตอง เข้ามาในน่านน้ำไทย สมทบกับเรือลูตัง ซึ่งเข้ามาจอดอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ ทั้งนี้ก็เพราะฝรั่งเศสมีเจตนาจะยึดครองดินแดนไทยให้ได้ เมื่อเรือทั้ง ๒ ลำของฝรั่งเศสเข้ามาถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า เรืออรรคเรศของไทยจึงยิงเรือรบฝรั่งเศสเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติไทย ขณะนั้นฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจและประสงค์จะยึดครองไทยเป็นอาณานิคม เหมือนดังที่ยึดครองดินแดนประเทศต่างๆในอินโดจีนไว้หมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงต้องทรงดำเนินนโยบาย เสียน้อยเพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ มีการเจรจาตกลงกันระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งในที่สุดไทยต้องยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส โดยยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศส เป็นเงิน ๓ ล้านบาท และไทยต้องสละสิทธิในดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน ซึ่งยึดไว้เป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี สมภพ จันทรประภา อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร เขียนเล่าไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงนำเงินที่ใส่ ‘ถุงแอง’ จำนวนสามหมื่นชั่ง (๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท) ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้สำหรับแผ่นดิน และ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงนำไปใช้จ่าย มาทรงใช้ในการนี้ และส่วนที่ยังขาดอยู่ ๖ แสนบาทนั้น ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายในช่วยกันออก ส่วนใหญ่เป็นของ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ที่ทรงเก็บไว้ใต้ถุนตำหนัก” จึงนับได้ว่า “เงินถุงแดง” นี้ ช่วยรักษา “เอกราช” ของชาติไว้ได้หาไม่แล้ว ความพยายามหลากหลายวิธีของฝรั่งเศสก็จะต้องสัมฤทธิผลและไทยจะต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับระเทศเพื่อนบ้านของไทย แต่เป็นบุญของชาติไทยที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงรักชาติบ้านเมือง ทรงรักและซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินและประชาชนดังเช่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพสกนิกรไทยทั้งปวงสมควรน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดทูนพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ยิ่งใหญ่ไพศาลตลอดกาล ในการจัด “งานเฉลิมพระเกียรติ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพนั้น รัฐบาลไทยโดยมี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้จัดกิจกรรมหลายหลากเฉลิมพระเกียรติ และในบรรดาโครงการต่างๆนั้น ได้มีการจัดทำ “เงินถุงแดง” จำลอง โดยใช้ถุงแดงบรรจุเหรียญที่ระลึกงาน ๒๐๐ ปี พระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกจำหน่ายเพื่อหารายได้สมทบทุนก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ และก่อตั้งมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ถนนราชดำเนิน หน้าวัดเทพธิดาราม บริเวณโดยรอบจัดเป็นพลับพลาและอุทยานสำหรับงานพิธีรับรองแขกเมือง มีชื่อว่า ลานเจษฎาบดินทร์ |
< ก่อนหน้า | ถัดไป > |
---|