เงินถุงแดง โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์ |
เงินถุงแดงของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์
ในสมัยก่อนโน้นการค้าขายไปมาระหว่างประเทศ อาศัยเรือสำเภา และตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีถึงรัชกาลที่ ๒ มาจนถึงรัชกาลที่ ๓ การค้าขายส่วนใหญ่ของไทยเป็นการติดต่อค้าขายกับจีนเป็นส่วนมาก นอกจากนี้ก็มีแขกเช่น อินเดีย มะละกา ชวา (เมืองยักกะตรา) แขกมัวร์ ฯลฯ สำเภาที่ส่งออกไปค้าขายเมืองจีน เมืองแขกนั้น ส่วนใหญ่เป็นสำเภาของหลวงหรือทางราชการ แต่ไม่ได้ห้ามหวงเอกชน ดังนั้น นอกจากพ่อค้าจีนแล้ว ผู้ใดมีทุนรอนก็แต่งสำเภาออกไปค้าขายได้ ซึ่งส่วนมากเป็นของเจ้านายสูงศักดิ์ หรือของเสนาบดี ขุนทางสูงศักดิ์ ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ทรงกำกับกรมท่า (พาณิชย์และต่างประเทศในปัจจุบัน) ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นหัวแรงสำคัญในการจัดการค้าสำเภาหลวง และยังทรงแต่งสำเภาเป็นส่วนของพระองค์ออกไปด้วย ในส่วนของพระองค์เองนั้น ก็ทรงถวายให้สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงใช้สอยมิให้ขาดแคลนเหมือนเมื่อต้นๆ รัชกาล ซึ่ง “เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น พระราชทรัพย์ขัดสน เงินท้องพระคลังจะแจกข้าราชการไม่พอ ต้องลดกึ่งและแบ่ง ๓ แต่ให้ ๒ แทบทุกปี เงินไม่มีต้องเอาผ้าตีให้ก็มีบ้าง มีบัญชีแต่ว่าไปขอยืมเงินในพระบวรราชวังมาแจกเบี้ยหวัด แล้วจึงเก็บเงินค้างใช้คืน เพราะครั้งนั้นพระบวรราชวังค้าสำเภามีกำไรมาก” (จากชุมนุมพระบรมราชาธิบายในรัชกาลที่ ๔) พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ทรงทำให้กิจการค้าขายได้ผลดี ทั้งสำเภาหลวงและในส่วนของพระองค์เอง ปรากฎว่า สมเด็จบรมชนกนาถโปรดปรานอย่างยิ่ง ตรัสเรียกสัพยอกอยู่เสมอว่า “เจ๊สัว” (เจ้าสัว) ครั้นเมื่อขึ้นแผ่นดินของพระองค์ เพราะทรงพระปรีชาสามารถในการค้าขายกับต่างประเทศอยู่แล้ว ในรัชกาลนี้จึงปรากฎว่า การค้าขายขยายวงกว้างออกไป และมีการปรับปรุงเก็บภาษีอากรเป็นแบบให้เจ้าภาษีนายอากรผูกขาดรับผิดชอบ เพราะการเก็บแบบเดิมนั้นกระจัดกระจายไปตามบรรดาข้าราชการต่างๆ มักขาดหายไปไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สำหรับการค้าขายนั้น โปรดฯ ให้ทำสัญญาซื้อขายกับอังกฤษและอเมริกาที่ขอเข้ามาอยู่ จนกระทั่ง ร้อยเอก เฮนี่ เบอร์นี่ (หรือกะปิตันหันตรี บารนี) กลับไปถูกผู้ว่าราชการเมืองสิงคโปร์ (หรือสมัยนั้นเรียกว่าเมืองใหม่) ตำหนิเอา สำหรับเงินถุงแดงข้างพระที่นั้น ก็ยังทรงเก็บไว้ และคงจะเพิ่มมากขึ้นเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ นอกจากเงินในท้องพระคลังหลวง หรือพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นรายได้จากการเก็บภาษีอากรและ จากการค้าขายของหลวงดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จะว่าเงินถุงแดงของพระองค์เป็นคล้ายเงินทุนสำรองก็คงว่าได้ ซึ่งเมื่อพระราชทานแก่แผ่นดินแล้ว ก็คงเก็บไว้อย่างเดิมโดยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงนำออกใช้เลยตลอดรัชกาลของพระองค์ และยังคงอยู่ตลอดมาจนกระทั่งได้นำออก “ไถ่บ้านไถ่เมือง” จริงๆ ตามที่ทรงมีพระราชปรารภทรงมองเห็นการณ์ไกลเอาไว้นั้น คือเมื่อรบกับฝรั่งเศส ร.ศ.๑๑๒ เมื่อเฉลิมพระเกียรติครบรอบ ๒๐๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พลโท รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ท่านได้บรรยายพิเศษถึงเรื่องนี้ไว้อย่างแจ่มแจ้งเด็ดขาดเป็นอย่างยิ่ง ดีกว่าผู้เล่าแน่นอน เพราะท่านเป็นทหาร จึงขออนุญาตนำมาลงในที่นี้ด้วยความเคารพ “ฝรั่งเศสจึงยื่นสินไหมปรับทันที ปรับเป็นเงิน ๖ ล้านบาท ในฐานะยอมเซ็นสัญญาสงบศึก ค่าทำขวัญทหารศึก ๑ ล้านบาท รวมเป็น ๗ ล้านบาท งบประมาณของประเทศสมัยนั้นประมาณ ๑๖ ล้านบาทต่อปี มันเฉือนไปเสีย ๗ ล้าน เงินถุงแดงนั้น ผมทราบว่ามีประมาณ ๔-๕ หมื่นชั่ง จึงช่วยได้มาก (ที่จริง ๓ หมื่นชั่งเศษๆ เพราะ ๑ หมื่นชั่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงของเอาไว้สำหรับปฏิสังขรณ์ และสร้างวัดวาอารามที่ทรงทำยังไม่เสร็จ เงิน ๓ หมื่นชั่งเศษ เวลานั้นก็ประมาณ สองล้านห้าสองล้านหกแสนบาท...จุลลดาฯ) เราต้องเข้าใจว่าคนในรั้วในวังนั้น ไม่ใช่จะกินข้าวร้อนนอนสบาย ถึงคราวศึกก็รบถึงคราวเสียเงินก็เสีย บันทึกมีแน่นอนว่า ข้าราชการทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และพระราชวงศ์ทั้งหลายได้เอาสร้อย เงินทองไปขายเพื่อให้ได้เงินจำนวนนี้มาไถ่ เพราะมันมีกำหนดเวลา ถ้าไม่ได้ในเวลา ๔๘ ชั่วโมง มันจะยึด ต้องหาเงินให้ได้ ฉะนั้น นอกจากเงินถุงแดงมาช่วยแล้วยังได้มาจากเพชรนิลจินดาไปขาย คนในรั้วในวังเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้นที่มีส่วนช่วยบ้านเมืองก็เลยไถ่มาได้” อีกเรื่องหนึ่งที่ถามกันอยู่เสมอคือ เจ้าพระยาพระคลัง ทำไมจึงเป็นเจ้าพระยาพระคลังแต่ว่าการกรมท่า (ที่ต่อมาเป็นกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์) และพระยาราชมนตรี (ภู่) บิดาของคุณพุ่ม บุษาท่าเรือจ้าง ก็ว่าในรัชกาลที่ ๓ ได้ว่าพระคลังหลวง มิซ้ำซ้อนกันหรือ ขอตอบเท่าที่จะตอบได้ว่า พระคลัง ในราชทินนาม หมายถึง พระคลังสินค้า ซึ่งเป็นคลังสินค้าของหลวง เริ่มมีมาแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นที่รวมสินค้าต่างๆ ที่จะซื้อขายกับพ่อค้าต่างประเทศ ในสมัยก่อนเรียกกันว่า สิบสองท้องพระคลัง ดังในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ จดไว้เมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “จึงพระยาพิพัฒนโกษา ราชปลัดทูลฉลองฝ่ายกรมท่ากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทูลเกล้า ทูลกระหม่อมถวายเครื่องพัทธยากรราชสมบัติทั้ง ๑๒ ท้องพระคลัง ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร” ที่จริงตามธรรมเนียมต้องเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีเป็นผู้กราบบังคมทูลถวายฯ ทว่าในปลายรัชกาลที่ ๓ นั้น เสนาบดีขุนนางว่างลงหลายตำแหน่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงตั้ง จึงคงมีแต่ปลัดทูลฉลองทั้งเวียง วัง คลัง และนา |
< ก่อนหน้า |
---|