ลืมรหัสผ่าน?
  • Narrow screen resolution
  • Wide screen resolution
  • Auto width resolution
  • Increase font size
  • Decrease font size
  • Default font size
  • default color
  • red color
  • green color
Home arrow คลังหลวงแห่งประเทศไทย ตอนที่ 1 arrow ๑ ทุนสำรองดั้งเดิม ในคลังหลวง
๑ ทุนสำรองดั้งเดิม ในคลังหลวง PDF พิมพ์ อีเมล์
p1.0.jpg              การบริหารการคลังของไทยได้ดำเนินมาเป็นเวลานานตั้งแต่สมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๗๘๑ ๑๙๘๑) เป็นต้นมา แต่ยังมิได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ  สภาพการปกครองของสุโขทัยเป็นแบบธรรมราชา ยึดคุณธรรมเป็นหลักปฏิบัติ ได้แก่ ทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ ราชจรรยานุวัติ และพระจักรวรรดิวัตร ผู้ปกครองมีความใกล้ชิดกับราษฎร และเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรเยี่ยงบุตรของตน ที่ผู้ปกครองปฏิบัติเช่นนี้ได้และมีประสิทธิภาพก็เพราะประชากรของสุโขทัยมีจำนวนไม่มากนักp1.1.jpg
           
ภาษีในสุโขทัยเท่าที่พบหลักฐานมีอยู่ ๒ ประเภท คือ จังกอบและภาษีข้าว การเก็บภาษีของผู้ปกครองยึดหลักคุณธรรมโดยไม่ต้องการให้ราษฎรเดือดร้อน กล่าวคือ ไม่ให้เก็บมากเกินไป ให้เก็บเพียง ๑ ส่วนจากรายได้ ๑๐  ส่วน ที่ราษฎรหาได้ ถ้าราษฎรผู้ใดหาไม่ได้เลย ก็ไม่ให้เก็บ
         
           
สภาพการปกครองของไทยในสมัยอยุธยาเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยสุโขทัย กล่าวคือเป็นแบบเอกาธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพต่างจากประชาชนสามัญ พระมหากษัตริย์เป็นทั้งเจ้าชีวิตของประชาชนและเจ้าแผ่นดิน มีพระราชอำนาจเป็นล้นพ้น แต่ การที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทำให้พระองค์มีพระทัยเมตตา ทรงทำทาน รักษาศีล และยึดมั่นในธรรมะ จึงมีพระราชจริยวัตรที่เหมาะสมและยุติธรรม การที่สภาพการปกครองเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ทำให้พระองค์ต้องแยกออกมาจากกลุ่มชน มักจะประทับอยู่แต่ในพระราชวัง ราษฎรจะมองพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ส่วนราษฎรก็ต้องให้แรงงานถวายต่อกษัตริย์ตามกำหนดเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชนจึงห่างเหินมาก ในสังคมมีชนหลายชั้น ชั้นสูงสุดคือพระมหากษัตริย์ รองลงมาคือ เจ้านาย ขุนนาง ไพร่และทาส  p1.2.jpg
            
 รัฐบาลมีรายได้จาก ส่วยสาอากร หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า ภาษีอากร ชนิด ได้แก่ จังกอบ อากร ส่วย และ ฤชา ในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้มีการจัดระเบียบการปกครองฝ่ายพลเรือนเป็น ๔ แผนก เรียกว่า จตุสดมภ์ ซึ่งประกอบด้วย กรมเมือง กรมวัง กรมพระคลัง และ กรมนา โดยกรมพระคลังทำหน้าที่รักษาราชทรัพย์ผลประโยชน์ของบ้านเมือง มีขุนคลังเป็นหัวหน้าบังคับบัญชา และมีพระคลังสินค้าเป็นที่เก็บและรักษาส่วยสาอากร
            
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑๒๐๓๑) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงแก้ไขระบบราชการวางระเบียบการคลังการส่วยสาอากรและเศรษฐกิจให้รัดกุมทันสมัย ให้ตราพระราชบัญญัติทำเนียบราชการ โดยแบ่งราชการออกเป็นฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ฝ่ายทหารมีสมุหพระกลาโหม เป็นหัวหน้าดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี ฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายกเป็นหัวหน้าดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีเช่นเดียวกัน และมีตำแหน่งเสนาบดีอีก ๔ ตำแหน่ง คือ
     ๑.  เสนาบดีกรมเมือง บังคับบัญชาการรักษาพระนครและความนครบาล 
     ๒.  เสนาบดีกรมวัง บังคับบัญชาการที่เกี่ยวกับพระราชสำนักและพิจารณาคดีความของราษฎร
    
๓.  เสนาบดีกรมพระคลัง บังคับบัญชาเกี่ยวกับการจัดการรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากส่วยสาอากรและ
          บังคับบัญชากรมท่าซึ่งเกี่ยวกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
และยังมีหน้าที่เกี่ยวกับกรมพระคลัง
           สินค้าการค้าสำเภาของหลวงด้วย

    ๔.   เสนาบดีกรมนา บังคับบัญชาการเกี่ยวกับเรื่องนาและสวน การเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร

             
สำหรับด้านการติดต่อค้าขายกับต่างชาติมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี   สมัยนั้นมิได้เรียก กรมเจ้าท่าแต่เรียก เจ้าภาษีบ้าง   นายด่านบ้างและนายขนอมตลาดบ้าง    ซึ่งทั้งหมดทำหน้าที่บังคับการจอดสมอเรือค้าขาย เก็บค่าธรรมเนียมเรือค้าขายที่เข้าและออกราชอาณาจักร   โดยอยู่ในความปกครองบังคับบัญชาของกรมพระคลัง ส่วนคำว่า กรมท่าแต่เดิมคงหมายถึง เจ้าท่าตามระบบเก่า หากแต่มีความหมายกว้างขวางออกไปอีก กรมท่าเป็นส่วนราชการที่มีแต่สมัยอยุธยาp1.3.jpg 
คลังหลวง กรุงศรีอยุธยา

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐) ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายทางเรือกับต่างชาติ ทางชาติตะวันออกก่อน เช่น จีน และแขก ชาติตะวันตกมีโปรตุเกสเป็นชาติแรก ต่อมามีสเปน ฮอลันดา ญี่ปุ่น อังกฤษ เดนมาร์ก และฝรั่งเศสเข้ามาติดต่อค้าขายตามลำดับการค้าขายกับต่างชาติอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมพระคลังสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานหลวงเพื่อผูกขาดสินค้าบางอย่างเป็นสินค้าต้องห้ามไม่ให้พ่อค้าประชาชนซื้อขายกันโดยตรง  นอกจากนี้พระคลังสินค้ายังมีหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเรือสินค้าต่างชาติ ค่าภาษีสินค้าและค่าธรรมเนียมเข้าออก

            แม้ว่าอาณาจักรอยุธยาจะสามารถหารายได้มาเจือจุนบ้านเมืองจากหลายทาง แต่กลับได้รับผลประโยชน์รายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก เพราะมีการรั่วไหลกันมาก อันเนื่องมาจากการทุจริตของหลายฝ่าย เช่น การทุจริตของเจ้าพนักงานในสมัยนั้น ซึ่งมีวิธีฉ้อโกงหลวงหลายรูปแบบ การไม่ยอมเสียอากรของฝ่ายราษฎรตลอดจนความบกพร่องของกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งอันที่จริงกฎหมายอยุธยามีบทลงโทษผู้กระทำผิดเหล่านี้ไว้ตั้งแต่ขั้นภาคทัณฑ์ ขั้นปรับ ขั้นประจาน ขั้นจองจำและขั้นประหารชีวิตตัดคอ ริบราชบาตร[1] แต่ก็มิได้ทำให้การทุจริตเบาบางลง ในขณะเดียวกันมีการให้ขวัญและกำลังใจแก่ผู้กระทำความดี ซื่อสัตย์ในหน้าที่ด้วยการให้รางวัลจากหลวงด้วยp1.5.jpg  
            ชาวต่างชาติได้บันทึกถึงความมั่งคั่งของพระคลังในสมัยอยุธยาไว้ว่า

           ...น้อยนักที่จะมีพระมหากษัตริย์ทางภาคบุรพ
ทิศพระองค์ใด ซึ่งครองราชย์อยู่ในปัจจุบันนี้ที่จะทรงสมบูรณ์ด้วยพระราชทรัพย์เทียบเท่าพระเจ้ากรุงสยาม ไม่เพียงแต่พระองค์จะทรงครอบครองทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ตกทอดมาทุกชั้นพระราชวงศ์เท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งว่า ที่ได้สะสมมาเป็นเวลาร่วม ๒๐๐ ปี โดยที่ไม่มีข้าศึกมาปล้นพระบรมมหาราชวัง  แล้วยังได้พระราชทรัพย์ที่ได้ทรงสะสมไว้ นับแต่ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นต้นมาอีกด้วย...p1.6.jpg










               และอีกตอนหนึ่งว่า
...พระมหากษัตริย์มีพระราชทรัพย์อยู่ ๘ หรือ ๑๐ ท้องพระคลัง ที่มีทรัพย์สินอันล้ำค่ายิ่งกว่าท้องพระคลังอื่นๆ ในห้องหรือท้องพระคลังแห่งหนึ่งมีใหเป็นอันมากตั้งเรียงสลับซับซ้อนอยู่จนถึงหลังคา เต็มไปด้วยเงินเหรียญบาทและทองคำแท่ง ส่วนใหญ่เป็นนาก (Tambac) อันเป็นส่วนผสมของโลหะหลายชนิดถลุงให้บริสุทธิ์ขึ้น ซึ่งในประเทศสยามถือกันว่ามีค่ากว่าทองคำเสียอีก แม้จะไม่สุกใสเท่าก็ตาม......
             ท้องพระคลังอีกแห่งหนึ่งเต็มไปด้วยดาบญี่ปุ่น ตีด้วยเหล็กเนื้อดี อาจฟันแท่งเหล็กให้ขาดสะบั้นได้โดยง่ายดาย แล้วก็ไม้กฤษณา กะลำพัก ชะมดเชียง และเครื่องกระเบื้องชุดลายครามจากเมืองจีนเป็นอันมาก กับผ้าแพรพรรณอย่างดีทำในชมพูทวีป และในยุโรปและเครื่องกระเบื้องเคลือบชนิดบางลางชนิด ซึ่งเมื่อใส่ยาพิษลงไปแล้วก็จะแตกทันที สรุปแล้ว เราไม่อาจที่จะบอกได้ถูกต้องว่า มีสิ่งอันล้ำค่าหาได้ยากและน่าเห็นน่าชมเชยมากมายสักเท่าไรในท้องพระคลังอื่นๆ อีก...
p1.7.jpg

ความเสียหาย..หลังเสียกรุง
        
ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาจากการรุกรานของพม่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้าตากสินทรงมีพระวิริยะอุตสาหะและความอดทนเป็นอย่างยิ่งกว่าจะกอบกู้บ้านเมืองและตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ที่มั่นคงได้ เนื่องจากระยะนั้นบ้านเมืองได้รับความเสียหายทุกด้านไม่ว่าจะเป็นไร่นาสาโท แรงงาน หรือทรัพย์สินต่างๆ ทั้งที่เป็นของฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร ก็ถูกทำลายเสียสิ้น หลักฐานของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสบันทึกว่า
           
...พวกพม่าข้าศึกได้เอาไฟเผาสถานที่บางกอก และทำลายป้อม ทั้งเผาสวนและปล้นบ้านเรือนไม่เว้นเลย ตลอดตั้งแต่ท่าเรือจอดจนถึงชานพระนคร...มิหนำซ้ำพวกพม่ายังคอยรังควานไม่ให้ราษฎรไทยทำมาหากิน และออกคำสั่งห้ามราษฎรทำการเพาะปลูกอีกด้วย...เมื่อพม่าเข้ากรุงได้แล้วนั้น พม่าได้เอาไฟเผาบ้านเรือน ทำลายข้าวของต่างๆ อยู่ ๑๕ วัน และได้ฆ่าผู้ฟันคนไม่เลือกว่า คนมีเงินหรือไม่มีเงิน ก็ฆ่าฟันเสียสิ้น แต่พวกพม่าพยายามฆ่าพวกพระสงฆ์มากกว่า และได้ฆ่าเสียนับจำนวนไม่ถ้วน ข้าพเจ้า (ผู้บันทึก) เองได้เห็นพม่าฆ่าพระสงฆ์ในตอนเช้าเวลาเดียวเท่านั้นกว่า ๒๐ องค์เมื่อพม่าได้เผาบ้านเรือนในพระนคร ตลอดจนพระราชวังและวัดวาอารามหมดสิ้นแล้ว พวกพม่าจึงเตรียมการที่จะยกทัพกลับไป...
          
นอกจากนี้การสูญเสียแรงงานชาวไทยก็ยังมีเหตุมาจากการกวาดต้อนคนไทยไปเป็นเชลย กล่าวคือ พม่าพยายามที่จะจับเอาคนดีมีฝีมือทางการช่างทุกแขนงไปเป็นเชลย ทำให้เกิดความขาดแคลนช่างหลายสาขาเมื่อถึงรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซ้ำร้ายกว่านั้น พม่ายังปล้นเอาของในท้องพระคลัง ซึ่งในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาได้บรรยายไว้ว่า
           
...เนเมียวกับนายกองทั้งปวงก็ให้ขนเอาปืนใหญ่น้อยในพระนคร ได้ปืนใหญ่น้อยพันสองร้อยเศษ ปืนกลับเป็นหลายหมื่น เอาลงบรรทุกเรือกับทั้งขุนนางแลครอบครัวราษฎรชายหญิงประมาณสามหมื่นเศษ ที่หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในป่าดง และไป ณ หัวเมืองต่างๆ ก็เป็นอันมาก และได้พระราชทรัพย์ในท้องพระคลังและสิ่งของทองเงินต่างๆ ก็มาก ที่ยักย้ายทรัพย์ สิ่งสินลงเร้นซ่อนฝังไว้ พม่าก็เฆี่ยนตีและย่างเร่งเอาทรัพย์ ให้นำขุดเอาสิ่งของทองเงินได้บ้างไม่ได้บ้าง และฆ่าฟันตายเสียก็มากกว่า แล้วพม่าเอาเพลิงสุมหลอมเอาทองคำซึ่งแผ่หุ้มพระองค์พระพุทธรูปยืนใหญ่ ในพระวิหารหลวง วัดพระศรีสรรเพชญดารามนั้น ขนเอาเนื้อทองคำไปทั้งสิ้น...
              
จะเห็นว่า การกระทำของพม่าครั้งนั้น ได้สร้างความพินาศทางเศรษฐกิจให้กับเมืองไทยอย่างใหญ่หลวง เป็นเหตุให้ผู้คนเกิดความอดอยากยากแค้นและล้มตายลงจากการอดอาหาร ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า
             
...(พระเจ้าตากสินได้)ประทานเงินตราแก่สัปเหร่อ ให้ขนทรากศพอันอดอาหารตาย ทิ้งเรี่ยราดอยู่นั้น เผาเสียให้สิ้น แล้วประทานบังสุกุลทาน...p1.9.jpg
            กล่าวได้ว่า เมืองไทยในครั้งนั้นต้องสูญเสียคนประมาณสองแสนเศษ ทั้งตายด้วยอาวุธและป่วยไข้อดโซตาย นอกจากหลักฐานของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้น เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๑๒ ได้บันทึกถึงความยากจนอดอยากของคนไทยในขณะนั้นไว้ตรงกันว่า
พระเจ้าตากสิน..บำบัดทุกข์ราษฎรp1.10.jpg         
               
พระเจ้าตากสินทรงเป็นกษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ในขณะที่บ้านเมืองประสบกับความพินาศทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นพระองค์จึงทรงมีภาระอันหนักหน่วงที่จะต้องดูแลราษฎรให้ได้รับความร่มเย็น ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยขับไล่พม่าข้าศึกที่คอยรบกวนอยู่เสมอมิขาด สิ่งที่พระองค์ปฏิบัติอย่างเร่งด่วนคือ ทรงแจกอาหาร ส่งเสริมการทำนา เพิ่มแรงงานและส่งเสริมการค้า โดยมิได้ทรงย่อท้อแต่อย่างใด ดังข้อความในพระราชพงศาวดารว่า
         
               
...ทรงพระกรุณาให้แจกจ่ายอาหารแก่ราษฎรทั้งหลายซึ่งอดโซอนาถาทั่วสีมามณฑล เกลื่อนกล่นกันมารับพระราชทานมากกว่าหมื่น บรรดาข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน ไทย จีนทั้งปวงนั้น ได้รับพระราชทานข้าวสารเสมอคนละถัง กินคนละยี่สิบวัน ครั้งนั้นยังหามีผู้ใดทำไร่นาไม่ อาหารกันดารนัก และสำเภาบรรทุกข้าวสารมาแต่เมืองพุทไธมาศจำหน่ายถังละสามบาท สี่บาท ห้าบาทบ้าง ทรงพระกรุณาให้ซื้อแจกคนทั้งปวง โดยพระราชอุตสาหะโปรดเลี้ยงสัตว์โลก พระราชทานชีวิตมิให้อาลัยแก่พระราชทรัพย์แล้วแจกจ่ายเสื้อผ้า เงินตราแก่ไพร่ฟ้าประชาชนจักนับมิได้...
และในพระราชพงศาวดารกล่าวอีกว่า ใน พ.ศ. ๒๓๑๓ ...
               ครั้งนั้นข้าวแพงถึงเกวียนละสามชั่ง ด้วยเดชะพระบรมโพธิสมภารบันดาลให้กำปั่นข้าวสารมาแต่เกาะทิศใต้เป็นหลายลำ ในขณะเมื่อจะยกทัพจึงพระกรุณาฯ ให้รอทัพอยู่ แล้วให้จัดซื้อแจกจ่ายให้พลกองทัพจนเหลือเฟือแล้ว ได้แจกจ่ายแก่สมณชีพราหมณ์ยาจกวณิพก และครอบครัวบุตรภรรยาข้าราชการทั้งปวงทั่วกัน...
พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกังวลพระทัยเรื่องนี้ถึงกับทรงเคยตรัสไว้ว่า บุคคลผู้ใดเป็นอาทิคือเทวดา บุคคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์มากระทำให้ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ขึ้น ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้นผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคแก่ผู้นั้นได้         
             
ครั้นบ้านเมืองว่างจากสงคราม พระองค์ก็ชักชวนให้ราษฎรทำนาทำไร่และค้าขายตามปกติ ทำให้ข้าวปลาอาหารค่อยบริบูรณ์ขึ้น และมีอาหารพอที่จะบำเพ็ญกุศล พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ได้รับบิณฑบาตกันถ้วนหน้า
ในการตระเตรียมที่ไว้สำหรับทำนาก็เพื่อจะได้มีข้าวไว้ใช้ในยามสงครามได้อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากในโอกาสที่ได้กระทำการฐาปนาพระนครขึ้นใหม่
              
...ให้ขุดที่สวนเดิมเป็นที่ท้องนานอกคูเมืองทั้งสองฟาก ให้เรียกว่า ทะเลตม ไว้สำหรับจะได้ทำนาใกล้พระนคร แม้นมาตรว่าจะมีทัพศึกสงครามมา จะได้ไว้เป็นที่ทำเลตั้งค่ายต่อรบข้าศึกถนัด...
              ในโอกาสที่แม่ทัพนายกองหมดภาระศึกสงครามคราวใด พระองค์ก็จะโปรดให้คุมไพร่พลทำนาทันที เพื่อจะได้มีเสบียงอาหารไว้ใช้ในพระนครต่อไป ดังเมื่อครั้งเสร็จศึกพม่าเมืองถลางปี พ.ศ. ๒๓๑๙ พระองค์โปรดให้กองทัพกลับลงมายังพระนครพร้อมกัน แล้วโปรดให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ พระยาธรรมาคุมไพร่พลทั้งปวงตั้งทำนา ณ ทะเลตมฟากตะวันออกของกรุงธนบุรี และทุ่งบางกะปิ สามเสน ให้พระยายมราช พระยาราชสุภาวดีคุมไพร่พลทั้งปวงตั้งทำนา ณ ทะเลตมฟากตะวันตก และกระทุ่มแบน หนองบัว แขวงเมืองนครไชยศรีสำหรับทะเลตมฟากตะวันออกของกรุงธนบุรีนั้นได้กลายเป็นแหล่งทำนาที่ดีที่สุดของเมืองไทยไป ดังที่กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงกล่าวไว้ว่า
            
เฉพาะแต่ภายในพระราชอาณาเขตแล้ว ไม่มีที่นาใดจะดีกว่าเนื้อที่ที่ทุ่งทะเลตมแถบที่กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ทุกวันนี้ การที่เป็นดังนี้ก็ไม่ต้องสงสัยในความรู้ และความฉลาดในการปลูกสร้างของท่านผู้ดำริการตั้งพระนคร...
            
ในครั้งนั้นอาศัยทางน้ำเป็นเส้นทางในการคมนาคม ขนส่ง และการค้าขาย ซึ่งบาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ว่า ที่การค้าขายกระเตื้องขึ้นนั้นก็เพราะคนจีนมีบทบาทนั่นเอง ดังข้อความที่ว่า
              
...การที่ประเทศสยามกลับตั้งตัวได้เร็วเช่นนี้ ก็เพราะความขยันหมั่นเพียรของพวกจีน ถ้าพวกจีนไม่ใช่เป็นคนมักได้แล้ว ในเมืองไทยทุกวันนี้คงจะไม่มีเงินใช้เป็นแน่ เพราะพวกพม่าได้ขนไปจนหมดสิ้น เพราะฉะนั้นการที่ได้มีการค้าขายกันในทุกวันนี้ ก็เป็นด้วยพวกจีนได้ไปเที่ยวขุดเงินทองที่ฝังไว้...
               
ด้านการค้ากับต่างประเทศนั้น พระองค์ทรงพยายามฟื้นฟูกับประเทศที่เคยค้าขายด้วยกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ก่อนอื่นพระองค์ทรงดำเนินการตีเอาเมืองท่าสำคัญกลับคืนมา โดยกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าสำหรับเรือมาจากเมืองจีน ญี่ปุ่น ญวน เขมร หมู่เกาะอินเดียตะวันออกและเมืองในคาบสมุทรมลายูที่มีเมืองท่าตั้งอยู่ด้านอ่าวไทย สำหรับเมืองท่าอีกแห่งหนึ่งคือเมืองถลาง ซึ่งแม้จะเป็นรองจากเมืองมะริดที่ถูกพม่าครอบครองไปแล้วเนื่องจากอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพ แต่ก็สามารถดึงดูดพ่อค้าต่างชาติมากกว่าเมืองอื่นๆ ในไทย จึงใช้รองรับเรือที่มาจากทวีปยุโรป อิหร่าน อินเดีย ยะไข่ มอญ และเมืองในคาบสมุทรมลายู
               ครั้งนั้นประเทศจีนเป็นประเทศที่ไทยติดต่อค้าขายด้วยมากที่สุด และพ่อค้าจีนก็เข้ามาค้าขายทางหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก เช่น ตราดและจันทบุรี และเมื่อตั้งกรุงธนบุรีขึ้นก็มีเรือสำเภาจีนเข้ามาค้าขายในกรุงธนบุรีอยู่ตลอดรัชกาล
พระองค์ทรงสนับสนุนและอุปการะชาวจีนให้เข้ามารับราชการเป็นจำนวนมาก และให้เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการค้าสำเภาก็มาก ส่งเสริมให้ไปค้าขายกับต่างประเทศในนามของพระมหากษัตริย์  และด้วยวิธีนี้จึงเป็นทางนำรายได้หลักเข้าสู่ประเทศได้มากกว่าการเก็บภาษีอากรจากราษฎรในยามที่ต้องฟื้นฟูบ้านเมือง         
             
ตลอดรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแทบจะหาเวลาว่างจากศึกสงครามไม่ได้เลย ราษฎรต้องถูกเกณฑ์ไปสงครามอยู่เกือบตลอดเวลา จึงแทบไม่มีเวลาประกอบอาชีพ แม้ว่าพระองค์จะทรงพยายามแก้ไขภาวะการทางด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่ถึงกระนั้นสภาพทางการค้าขายก็ยังไม่เจริญเท่าที่ควร กระทั่งถึงปลายรัชกาลสภาพทางเศรษฐกิจจึงเริ่มดีขึ้น เหตุสำคัญก็เนื่องจากว่างจากสงคราม พม่ามิได้กลับมาก่อกวนอีก
 p1.12.jpg
      






คลังหลวง กรุงธนบุรี
 
        
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำเนินวิธีการต่างๆ เพื่อหารายได้มาค้ำจุนประเทศ พอจะสรุปได้ดังนี้
¨     ทรงใช้จ่ายอย่างประหยัด ตามปกติพระมหากษัตริย์จะทรงสร้างพระมหาปราสาทให้สมพระเกียรติยศ
        พระเจ้าแผ่นดินเมื่อขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ทรงตัดพระทัยไม่สร้าง และ การสร้างวัดใหม่ตาม
        ธรรมเนียมของกษัตริย์ไทยสมัยก่อน ก็ทรงไม่ทำตาม กล่าวได้ว่า ทรงพยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุด
        และเป็นเหตุหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูการเงินการคลังของไทยให้กลับมั่นคงภายในเวลาไม่ช้า
¨     ทรงกำชับการเก็บเงินเข้าพระคลังหลวงอย่างเข้มงวด โดยทรงแต่งตั้งขุนนางผู้ใหญ่ออกไปควบคุมและ
       เร่งรัดการเก็บส่วยสาอากรตามหัวเมืองให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และไม่ให้ติดค้างหลายๆ ปีเหมือนอย่าง
       แต่ก่อน
¨     ทรงเก็บอากรชนิดใหม่คือเก็บค่าธรรมเนียมขุดทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งเกิดขึ้นจากราษฎรสมัยกรุง
        แตกจำต้องหลบหนีข้าศึกเพื่อเอาตัวรอด ครั้นจะหอบเงินทองติดตัวไปด้วยก็กลัวจะหนีไม่รอด ทั้งกลัว
        โจรผู้ร้ายจะแย่งชิง จึงใช้วิธีเอาทรัพย์สินเงินทองข้าวของมีค่าฝังดิน เมื่อข้าศึกยกกลับไปแล้วจะได้กลับ
        มาขุดเอาคืน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่จำที่ซ่อนไม่ได้เพราะพม่าเผาบ้านเรือนเสียเหี้ยนเตียน จนไม่รู้ว่าบ้าน
        ของตนอยู่ตรงไหน บางคนก็ถูกจับเป็นเชลย และบางคนก็ล้มตายในระหว่างที่หนีข้าศึก จึงมีทรัพย์สินตก
        ค้างอยู่ใต้ดินเป็นอันมาก พวกนายทุนบางคนจึงประมูลเงินให้แก่รัฐบาลเป็นเงินก้อน เพื่อขอสิทธิผูกขาด
        เก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประสงค์จะขุดทรัพย์ที่ยังซ่อนไว้ รัฐบาลกำลังต้องการได้เงินเข้าท้องพระคลัง จึง
        ยอมให้มีนายอากรผูกขาด
 
คลังหลวง..พระราชทรัพย์กษัตริย์
           พระคลังสินค้า เป็นคลังสินค้าของหลวง เริ่มปรากฏหลักฐานว่ามีกรมพระคลังสินค้าตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมแล้ว (พ.ศ. ๒๑๕๔-๒๑๗๑) มีหน้าที่หลักคือเป็นที่เก็บรักษาส่วยสิ่งของและซื้อขายสินค้ากับชาวต่างประเทศ ส่วนอีกพระคลังหนึ่งนั้นคือ พระคลังมหาสมบัติ บางทีก็เรียกกันว่า พระคลังหลวง
                 
มีหลักฐานปรากฏในกฎหมายสมัยอยุธยา กฎหมายอาญาหลวง อาญาราษฎร์ บทที่ ๒ ว่า ผู้ใดบังอาจลักพระราชทรัพย์ในพระคลังหลวง นอกพระคลังหลวง ให้ลงโทษ ๘ สถาน คือ บั่นคอริบเรือน เอามะพร้าวห้าวยัดปาก ริบราชบาตรแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ไหมจตุรคูณแล้วเอาตัวออกจากราชการ ไหมทวีคูณ ทวนด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ๒๕ ทีแล้วใส่ครุไว้ จำไว้แล้วถอดเสียเป็นไพร่ ภาคทัณฑ์ไว้   ในกฎหมายอาญาหลวงบทที่ ๑๒๓ ยังมีสำนวนกล่าวด้วยว่าแก้วฤาจะรู้หมอง ทองฤาจะรู้เศร้า พระราชทรัพย์ของพระผู้เป็นเจ้าจิรังกาล นานช้าเท่าใดบ่สูญ เป็นที่มาของข้อความที่ว่า สินทรัพย์ของหลวง ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้

           ตามโบราณราชประเพณีเท่าที่ปรากฏ พระราชทรัพย์ในพระคลังมหาสมบัติซึ่งหมายถึงเงินผลประโยชน์รายได้แผ่นดินทั้งหมด เป็นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ด้วย หลักฐานยืนยันถึงความจริงข้อนี้คือคำกราบบังคมทูลของเสนาบดีจตุสดมภ์ทั้ง ๔ เป็นธรรมเนียมเมื่อแรกขึ้นราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดิน โดยกราบบังคมทูลถวายสรรพราชสมบัติทั้งปวงของแผ่นดินที่อยู่ในหน้าที่ดูแลรักษาของตน ดังความตอนหนึ่งว่า
           
...ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย เครื่องพระพัทธยากรราชสมบัติทั้ง ๑๒ พระคลังแด่พระบาทสมเด็จพระบรมนารถบพิตรเจ้าอยู่หัว ขอเดชะ... p1.13.jpg
[1] รวบเอาทรัพย์สินของคนที่ต้องพระราชอาญาเข้าเป็นของหลวง
                โบราณถือว่า เงินพระคลังมหาสมบัติเป็นพระราชทรัพย์ของพระเจ้าแผ่นดินแล้วแต่จะใช้จ่ายในการพระองค์หรือในการแผ่นดินได้ตามพระราชอัธยาศัย มิได้แบ่งว่าเป็นเงินในพระองค์หรือเงินแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการสั่งเบิกจ่ายเพื่อใช้สอยในกิจการต่างๆ ทั้งปวงได้โดยลำพังพระองค์เอง การแบ่งสรรรายได้แผ่นดินเพื่อนำไปใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการแผ่นดินหรือส่วนพระองค์ เป็นพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ เพราะสมบัติแผ่นดินในเวลานั้นคือ ราชสมบัติ ซึ่งหมายถึง พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นเจ้าของพระราชทรัพย์ทั้งปวงในแผ่นดิน
               
เมื่อสมบัติทั้งปวงใน พระคลังหลวง เป็นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์เช่นนี้ จึงเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญของพระองค์ในการจัดหาทรัพย์สมบัติเข้าสู่คลังหลวง การใช้จ่ายออกไปเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร เพื่อการพัฒนาบ้านเมืองและศาสนา ตลอดถึงการจัดสรรพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้เป็น ทุนสำรอง ของแผ่นดินเพื่อเป็นหลักประกันบ้านเมืองในยามฉุกเฉิน เป็นการเก็บรักษาเพื่อความไม่ประมาทในสถานการณ์บ้านเมืองซึ่งมักไม่แน่นอน เช่น ภัยจากการศึกสงคราม โรคภัยไข้เจ็บระบาด ความไม่แน่นอนของฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารเสียหาย เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต้องเก็บรักษาทุนสำรองไว้อย่างมั่นคงมากบ้างน้อยบ้างหรือบางครั้งก็หมดสิ้นไปตามความรุนแรงของสถานการณ์จำต้องสละทุนสำรองในคลังหลวงออกแก้ไขเหตุการณ์นั้นๆ เป็นพักเป็นตอนไป และเมื่อทุนสำรองลดน้อยลงไปทำให้เกิดความเสี่ยง พระองค์ก็ทรงเริ่มต้นเก็บหอมรอมริบสะสมขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง p1.14.jpg
              ด้วยความสำคัญต่อความมั่นคงของบ้านเมืองเช่นนี้เองทำให้พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีตทรงจำเป็นต้องเก็บรักษาเป็น ทุนสำรอง ไว้อย่างมั่นคงและสืบทอดต่อเนื่องกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่าทุกยุคสมัยตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี กระทั่งถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระมหากษัตริย์ทรงเก็บรักษาพระราชทรัพย์ตามหลักการและเจตนารมณ์เช่นนี้ตลอดมา
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

Website ที่เกี่ยวข้อง

 

ติดต่อ

www.luangta.com