ลืมรหัสผ่าน?
  • Narrow screen resolution
  • Wide screen resolution
  • Auto width resolution
  • Increase font size
  • Decrease font size
  • Default font size
  • default color
  • red color
  • green color
Home arrow คลังหลวงแห่งประเทศไทย ตอนที่ 1 arrow ๗ ชาติตะวันตกเข้ายึดครองเพื่อนบ้านสยาม
๗ ชาติตะวันตกเข้ายึดครองเพื่อนบ้านสยาม PDF พิมพ์ อีเมล์
p7.15.jpg  

                   ในช่วง พ.ศ. ๒๓๔๓-๒๔๔๒ หรือประมาณกลางรัชสมัยของรัชกาลที่ ๑ ถึงกลางรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคสมัยของลัทธิจักรวรรดินิยม อันเป็นจุดสูงสุดของพัฒนาการของระบบทุนนิยมที่ชาติตะวันตกแผ่ขยายไปทั่วโลก ทำให้ดินแดนเกือบทั้งหมดในเอเชีย อัฟริกา ฯลฯ ตกเป็นเมืองขึ้น หรืออาณานิคมของยุโรปตะวันตกกับอเมริกาเหนือ สำหรับมูลเหตุจูงใจให้ชาติตะวันตกเข้ามาในประเทศไทยและดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พอสรุปได้ดังนี้p7.1.jpgp7.2.jpg




           ๑. ผลประโยชน์ทางการค้า ต้องการแสวงหาผลผลิตทางเศรษฐกิจในดินแดนแถบนี้ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศ อันเป็นสินค้าที่ยุโรปต้องการ
จึงต้องการสำรวจแหล่งวัตถุดิบ และเข้ามาควบคุมศูนย์กลางการค้า การแลกเปลี่ยนสินค้า
          
๒. การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้บรรดามหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายต้องการวัตถุดิบและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากในภูมิภาคนี้ และด้วยปริมาณการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น ตลาดการค้าก็เพิ่มขึ้น ทางเดียวที่จะเข้ามาเอาทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าจากชาวพื้นเมืองไปจำหน่ายยังยุโรป หรือขยายตลาดการค้ายุโรปเข้ามาในดินแดนแถบนี้ได้ คือ เข้ามายึดอำนาจทางการเมืองของประเทศเหล่านี้เสีย
         
๓.ความต้องการเผยแพร่อุดมการณ์ทางศาสนาและการเมือง โดยเชื่อมั่นว่า ระบบการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของตะวันตกเป็นหลักการที่ดี จึงถือเอาเป็นเหตุว่า เป็นพันธะของคนผิวขาวที่จะเป็นผู้นำความเจริญมาสู่คนพื้นเมือง จึงส่งผู้แทนหรือมิชชันนารีเข้ามาทำการเผยแพร่ศาสนาหรืออุดมการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคนี้p7.3.jpg 
              จากปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับการผลิตอาวุธร้ายสมัยใหม่และการจัดการกองทัพที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการที่เอเชียและอัฟริกายังไม่มีการรวมเป็น ชาติ ยังแบ่งแยกกันอยู่ในลักษณะของชนเผ่าหรืออาณาจักรแบบโบราณ และการที่ประชากรส่วนใหญ่ไร้การศึกษาไม่รู้หนังสือ อ่านเขียนไม่ได้ จึงเป็นปัจจัยของความสำเร็จในการล่าอาณานิคมในที่สุด 
อังกฤษยึดครองดินแดนตะวันตกสยาม

v ตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา การแผ่อิทธิพลของอังกฤษในพม่า เริ่มมาจากอังกฤษได้คืบคลานเข้าไปภายใต้การนำของบริษัทอิสท์อินเดีย ทำให้กษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุลเริ่มตกต่ำลงเรื่อยมา และเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐ ซึ่งเป็นปีก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยา ๑๐ ปี อังกฤษก็พิชิตดินแดนแถบอ่าวเบงกอลได้ และขยายอิทธิพลเป็นวงกว้างไปจนถึงตอนล่างของประเทศพม่า
               
จากนั้นอังกฤษก็หาเหตุทำสงครามกับพม่าเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ และยึดพม่าตอนล่างได้ เพื่อใช้ฐานทัพท่าเรือเป็นที่มั่นของตนในภูมิภาคนี้อ้อมไปค้าขายกับประเทศจีน p7.4.jpgจนขาดทุนย่อยยับถึงขนาดต้องนำฝิ่นที่ผิดกฎหมายและศีลธรรมไปขายให้ชาวจีน ก่อให้เกิดสงครามฝิ่นตามมาถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ เรือกลไฟของบริษัทอิสท์อินเดียได้จุดชนวนสงครามเริ่มแรกโดยโจมตีเรือสำเภาของจีน และในสงครามฝิ่นครั้งที่สองตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๑ อังกฤษได้ยุบบริษัทอิสท์อินเดีย และตั้งหน่วยงานราชการเฉพาะกิจ คือ กระทรวงอินเดีย ขึ้นมา มีรัฐมนตรีกำกับดูแลโดยตรงในกรุงลอนดอน ขณะที่ในอินเดียก็ตั้งตำแหน่ง ข้าหลวงใหญ่ และยกย่องเป็น อุปราช ในเวลาต่อมาถือเป็นผู้ปกครองสูงสุดp7.5.jpg 
             เกี่ยวกับการครอบครองพม่าของอังกฤษ อาจกล่าวได้ว่าเนื่องจากพม่าอยู่ใกล้ผลประโยชน์และอิทธิพลของอังกฤษในอินเดียมากเกินไป ประจวบกับพม่าไม่สามารถหาประเทศมหาอำนาจมาคานอำนาจอังกฤษได้ อีกทั้งกษัตริย์พม่ามีลักษณะแข็งแกร่งและไม่อะลุ่มอล่วยต่ออังกฤษ จึงตกเป็นอาณานิคมหนึ่งของอังกฤษในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘ โดยอังกฤษได้สานรวมอาณาจักรพม่าเข้าเป็นหนึ่งในมณฑลของอินเดีย ซ้ำร้ายพม่ายังถูกล้างราชวงศ์สถาบันกษัตริย์เสียสิ้นโดยพระเจ้าธีบอเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายและถูกนำไปกักขังที่เมืองมุมไบ(บอมเบย์) จนสิ้นพระชนม์
    สำหรับการแผ่อิทธิพลของอังกฤษในมลายูนั้นเริ่มในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑  อังกฤษคืบคลานเข้ามาได้เกาะปีนัง โดยเริ่มต้นจากบริษัทอิสท์อินเดียของอังกฤษได้ชักนำให้สุลต่านแห่งรัฐเคดาห์ก่อตั้งสถานีการค้าแห่งใหม่ขึ้นที่เกาะปีนัง โดยอ้างเหตุผลว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป และเส้นทางการค้ากับสถานีการค้าแห่งอื่นๆ ที่มีมาแต่เดิมเริ่มเสื่อมโทรมลง และเมื่อตั้งสถานีแห่งใหม่นี้ขึ้นแล้ว อังกฤษก็ขอเป็นผู้จัดการเมืองท่าใหม่แห่งนี้เสียเอง เพื่อที่อังกฤษจะสามารถเป็นผู้ควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างภูมิภาคนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดอิทธิพลของฝรั่งเศสในย่านนี้ 
              
กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๖๑ อังกฤษต้องการหาเมืองท่าสถานีการค้าแห่งใหม่อีกแห่ง และก็พบเกาะสิงหปุระหรือเมืองเทมาเซก ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า สิงคโปร์ มีลักษณะที่เหมาะสมอย่างยิ่ง อังกฤษจึงขอให้สุลต่านในครั้งนั้นยอมเปิดดินแดนแห่งนี้ให้เป็นเมืองท่าของอังกฤษในปี พ.ศ. p7.6.jpg๒๓๖๒ โดยยื่นเงื่อนไขในลักษณะขอเช่าที่ดินจากสุลต่านในราคาถูกและจ่ายเป็นรายปี การที่อังกฤษสามารถควบคุมเมืองท่าสำคัญทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของมลายูได้เช่นนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแผ่อำนาจครอบคลุมดินแดนปลายแหลมมลายู
          
          การที่รัฐต่างๆ ในดินแดนแถบมลายูมักขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์ที่ได้จากการค้าทรัพยากรต่างๆ ให้กับอังกฤษอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะการแย่งชิงประโยชน์ในเปรัคซึ่งเป็นรัฐที่อุดมไปด้วยแหล่งแร่ดีบุกจนเกิดเป็นสงครามระหว่างรัฐขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งอังกฤษเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งนี้ p7.7.jpg แล้วกำหนดข้อตกลงขึ้นฉบับหนึ่ง คือ ข้อตกลงปังกอร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่แล้วกลับกลายเป็นข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ต่ออังกฤษมากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในเปรัคเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นการต่อต้านอำนาจกดขี่ของชาวอังกฤษกระจายตัวมากขึ้นทุกขณะ
             
ต่อมาผู้ว่าการชาวอังกฤษถูกสังหารชีวิตในปี พ.ศ.  ๒๔๑๘ อังกฤษจึงส่งกองทหารมาปราบปรามอย่างรุนแรง จนประชาชน ผู้ร่วมก่อการ และแม้แต่สุลต่านเองต้องหลบหนีออกจากเปรัค อังกฤษจึงสามารถเข้าควบคุมรัฐเปรัคและเมืองท่าใหญ่ๆ เอาไว้ทั้งหมด และต้องการหาทางผูกขาดอำนาจของตนเหนือมลายู จึงพยายามหาหนทางให้รัฐต่างๆ เข้ามาร่วมทำสนธิสัญญาก่อตั้งสหพันธรัฐมลายูขึ้น โดยมีอังกฤษเป็นแกนนำ ควบคุมและผูกขาดการค้าในย่านนี้ทั้งหมดในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ 
              
กล่าวโดยย่อในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนที่รัชกาลที่ ๔ จะขึ้นครองราชย์ ชายแดนด้านตะวันตกของสยามก็ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของอังกฤษ จากประเทศพม่ายาวลงไปตลอดแนวของแหลมมลายู ส่วนชายแดนด้านตะวันออกก็มีฝรั่งเศสคืบคลานเข้ามาครอบครองดินแดนเวียดนาม  กัมพูชา และลาว
ฝรั่งเศสยึดครองดินแดนตะวันออกสยาม 
                ประเทศฝรั่งเศสใช้ข้ออ้างเรื่องความเชื่อถือในความสูงส่งและเหนือกว่าของ อารยธรรม ของตน จึงเป็นภารกิจที่จะต้องนำความเจริญมาสู่คนพื้นเมืองในเอเชียและอัฟริกา พร้อมกับข้ออ้างเรื่องการปกป้องคริสตศาสนา บาทหลวงและชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่เบื้องหลังแท้จริงก็คือ ผลประโยชน์ทางการค้าที่ฝรั่งเศสแข่งขันกับอังกฤษในการเข้าสู่ตลาดใหญ่ในจีน
              
การคืบคลานของฝรั่งเศสเข้าไปยึดดินแดนต่างๆ ในอินโดจีนมีลำดับขั้นดังนี้

             vความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศสเริ่มต้นตึงเครียดขึ้นเมื่อกษัตริย์เวียดนามเห็นว่าฝรั่งเศสกดดันเวียดนามเกินไป ราวกับเวียดนามเป็นเมืองขึ้น และจุดปะทุของสงครามระหว่างสองฝ่ายเกิดขึ้นเมื่อเวียดนามเริ่มต้นแผนต่อต้านฝรั่งเศส ด้วยการไม่ยอมให้ประชาชนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ที่นักบวชฝรั่งเศสนำเข้ามาเผยแพร่ จนถึงกับสั่งขับไล่นักบวชเหล่านั้นออกไปจากเวียดนามให้หมด และยังสั่งประหารประชาชนที่ลักลอบติดต่อกับp7.8.jpg 

   v
นักบวชคริสต์ไปถึง ๑๐๐ คน ฝรั่งเศสจึงถือเอาเหตุนี้ ส่งเรือรบเข้าปิดล้อมอ่าวเมืองดานังในปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เข้ายึดครองเวียดนามนับแต่ปีนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ ฝรั่งเศสได้บังคับให้เวียดนามลงนามในสนธิสัญญา ทำให้ฝรั่งเศสได้ดินแดนเวียดนามใต้ไปครอง กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ฝรั่งเศสก็สามารถยึดครองดินแดนเวียดนามไว้ได้ทั้งหมด เหตุการณ์ระยะนั้นตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ในสยาม
   v ฝรั่งเศสหาช่องทางยึดครองกัมพูชาจากการที่กษัตริย์กัมพูชาต้องการอาศัยอำนาจของฝรั่งเศสเข้ามาช่วยเหลือให้หลุดออกจากอำนาจของสยามและเวียดนาม โดยลงพระนามในสนธิสัญญายอมอยู่ใต้อารักขาของฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ซึ่งฝรั่งเศสก็สามารถแก้ปัญหาให้กับกัมพูชาได้จริง โดยใช้อิทธิพลทั้งทางทหารและเศรษฐกิจเข้าบังคับข่มขู่ทวงคืนดินแดนต่างๆ คืนให้กับกัมพูชาได้สำเร็จ กัมพูชาจึงพ้นจากการเป็น ประเทศราช ของสยามและเวียดนามซึ่งตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดฝรั่งเศสกลับเป็นผู้เข้ายึดครองกัมพูชาเสียเอง ในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ฝรั่งเศสก็ยึดเสียมราฐและพระตะบองของกัมพูชาได้
    v เหตุการณ์ในอดีตที่อาณาจักรหลวงพระบางได้เปิดสัมพันธ์และยินยอมเป็นประเทศผู้ส่งบรรณาการให้กับเวียดนามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๗๔ เนื่องจากระแวงว่าสยามอาจหาโอกาสเข้ายึดครองหลวงพระบางเหมือนกับที่ได้เข้ายึดนครเวียงจันทน์จนเป็นผลสำเร็จมาแล้วในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ จากจุดนี้เอง เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองเวียดนามได้ในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงถือโอกาสยึดครองลาว โดยอ้างว่าหลวงพระบางเป็นเมืองหลวงของลาว และอยู่ในการครอบครองของเวียดนาม ดังนั้นจึงต้องกลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสด้วย ต่อจากนั้นทั้งเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ก็ล้วนต้องตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศสทั้งหมด จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ฝรั่งเศสก็ได้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคือประเทศลาวไปจากข้อพิพาทและข้อตกลงกับสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ 

               ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ฝรั่งเศสก็สามารถสร้าง จักรวรรดิ ของตนในอินโดจีนได้สำเร็จ กลายเป็นอาณานิคมขนาดใหญ่ และตั้ง ข้าหลวงใหญ่ ขึ้น โดยมีสำนักงานอยู่ที่ฮานอย เป็นการปกครองเวียดนามใต้ในฐานะอาณานิคมโดยตรง ส่วนเวียดนามเหนือและกลาง กัมพูชา และลาวนั้น เป็นการปกครองโดยอ้อม โดยที่ยังรักษาสถาบันการปกครองบางประการไว้ เช่น ระบบจักรพรรดิที่กรุงเว้ สถาบันกษัตริย์ที่พนมเปญ เจ้ามหาชีวิตที่หลวงพระบาง p7.9.jpgและเจ้าแห่งจำปาศักดิ์ ซึ่งต่างกับอังกฤษที่ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ของพม่าโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม การที่ ข้าหลวงใหญ่ มีอำนาจเต็มที่และรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางทั้งด้านการบริหารและการคลัง ณ กรุงฮานอย อีกทั้งฝรั่งเศสยังพยายามผนวกและกลืนชนชั้นสูงของดินแดนอาณานิมคมเหล่านี้ให้เข้าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตนจนเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ผลที่ตามมาก็คือมาตรฐานการครองชีพของประชากรในเมืองขึ้นเหล่านี้ตกต่ำและเสื่อมโทรมลงมากเนื่องจากฝรั่งเศสมีแต่มุ่งกอบโกยเอาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และวัตถุดิบต่างๆ จากดินแดนแถบนี้ 
การยึดครองของชาติตะวันตกอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
           
สำหรับอาณาจักรในหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นต่างก็ได้รับผลกระทบจากการขยายอำนาจของชาติตะวันตกเช่นกัน เริ่มต้นจากในอินโดนีเซียเมื่อพ่อค้าชาวดัทช์ได้เข้ามาขอตั้งสถานีการค้าขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๓๙ ที่บันทัม มีจุดประสงค์ทางด้านการค้าเครื่องเทศ และหาตลาดสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในการเข้ามานี้ได้รับการp7.10.jpg ต้อนรับอย่างดีจากผู้ปกครอง ชาวพื้นเมืองและพ่อค้าโปรตุเกสที่อยู่มาก่อน ต่อมาก็ได้ไปเป็นพันธมิตรกับรัฐเล็กๆ ในหมู่เกาะเครื่องเทศ โดยทำสัญญายอมให้ดัทช์ผูกขาดการค้าแลกเปลี่ยนกับการให้ดัทช์คุ้มครองทางทหาร ซึ่งทำให้การค้าขยายตัวอย่างรวดเร็วจนสามารถขับไล่พ่อค้าโปรตุเกสออกไปจากบันทัมได้ในเวลาต่อมา
           
เมื่อบริษัทดัทช์อิสท์อินเดียได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๖๒ ทำให้ดัทช์สามารถขยายอิทธิพลไปยังหมู่เกาะและรัฐอื่นๆ ซึ่งทำให้อังกฤษต้องถอนตัวไปจากหมู่เกาะเครื่องเทศในปี พ.ศ. ๒๑๗๑ และยึดมะละกาจากโปรตุเกสได้ในปี พ.ศ. ๒๑๘๔ อย่างไรก็ตาม แม้ในระยะแรกจะสนใจเฉพาะเรื่องการค้า ไม่มีจุดประสงค์จะเข้าครอบครองดินแดน แต่ด้วยนโยบายผูกขาดการค้าทำให้คนพื้นเมืองต้องลักลอบค้าขายกับโปรตุเกส สเปน อังกฤษ และอาหรับ ขณะเดียวกันก็เกิดโจรสลัดคอยปล้นเรือสินค้าของดัทช์ ทำให้ดัทช์ต้องใช้นโยบายเข้าครอบครองดินแดน โดยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของดินแดนเหล่านี้ และในที่สุดดัทช์ก็มีอิทธิพลเหนือหมู่เกาะเครื่องเทศทั้งหมดในปี พ.ศ. ๒๒๑๐การที่ดัทช์ขยายอำนาจในชวาและหมู่เกาะเครื่องเทศได้สำเร็จนั้น เนื่องจากสภาพการเมืองภายในที่แตกแยกขาดความสามัคคีกัน มีการกบฏ และสงครามชิงราชย์ ตลอดจนชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาร่วมสนับสนุน จึงทำให้ต้องตกเป็นอาณานิคมของฮอลันดาไปในที่สุด
          ประเทศฟิลิปปินส์ก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากการขยายอำนาจและถูกยึดครองจากชาติตะวันตกซึ่งก็คือประเทศสเปน โดยอาศัยจุดอ่อนเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในลักษณะที่เป็นชาวเกาะและการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์กันกระจัดกระจาย ไม่มีความชัดเจนในการมีรัฐบาลกลางที่เป็นศูนย์อำนาจอย่างเช่นในดินแดนแห่งอื่นๆ จึงง่ายต่อการที่สเปนซึ่งมีขีดความสามารถทางกำลังทหารที่สูงกว่าจะเข้ามาโดยใช้วิธีพยายามเข้ายึดครองอย่างต่อเนื่อง สเปนต้องส่งกองทหารเข้าทำการรบกับชาวพื้นเมืองที่ต่อต้านอยู่หลายครั้ง p7.11.jpg
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๑๐๘ สเปนก็สามารถมีชัย แล้วเข้าก่อตั้งฐานแห่งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๑๓ ก็เข้ายึดครองเมืองท่าของชาวพื้นเมืองแล้วก่อตั้งเป็นสถานีการค้าของตนขึ้นที่มะนิลา และเข้ายึดครองเมืองสำคัญๆ บนหมู่เกาะละแวกใกล้เคียงต่างๆ ซึ่งเท่ากับสเปนสามารถยึดครองฟิลิปปินส์ได้แล้ว ตลอดจนการนับถือศาสนาของชาวพื้นเมืองก็ยังถูกครอบงำด้วยเช่นกัน โดยสเปนบีบบังคับให้ยอมเข้ารีตรับศาสนาคริสต์
              ชาติตะวันตกอีกชาติหนึ่งที่ได้เข้ามาครอบครองฟิลิปปินส์ในระยะต่อมา และไม่นานนักก็กลายเป็นชาติมหาอำนาจของโลก นั่นคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มเข้ามาค้าขายในโลกตะวันออกกับประเทศญี่ปุ่นก่อนในปี พ.ศ. ๒๓๙๗ การเข้ามานี้เป็นการตัดหน้าเซอร์จอห์นบาวริงของอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษเองก็มีความพยายามจะเข้าไปเจรจาในญี่ปุ่นเช่นกันและในระยะนั้นสหรัฐอเมริกายังได้ส่งคณะผู้แทนเข้ามาเจรจาในสยามเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๙ อีกด้วย ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยสหรัฐฯ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และกราบทูลถึงจุดประสงค์ที่เข้ามาว่า
              
...สหรัฐอเมริกาไม่มีอาณานิคมในตะวันออกและไม่ต้องการจะมี สิ่งที่ปรารถนาคือความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตอันดีต่อกันเท่านั้น...
                        
จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสนธิสัญญาโดยมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับสนธิสัญญาบาวริง คือไทยต้องเลิกการผูกขาดทุกประเภทและให้มีอำนาจศาลกงสุลหรือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อย่างไรก็ตามสัมพันธภาพในครั้งนั้นของทั้งสองฝ่ายโดยมากจะเป็นบทบาทและผลงานทางศาสนาและสังคมของบรรดามิชชันนารีมากกว่าด้านอื่นๆ
               
แม้ในระยะแรกสหรัฐอเมริกาจะออกตัวว่าไม่ต้องการจะมีประเทศอาณานิคม  แต่หลังจากนั้นไม่นานสหรัฐอเมริกาก็กลับเข้ายึดครองประเทศฟิลิปปินส์ไปจากสเปนในที่สุด และยังวางเงื่อนไขหลายประการที่ล้วนแต่คงผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในฟิลิปปินส์แบบเป็นการถาวร ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งก็คือการตั้งฐานทัพซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นเจ้าแห่งน่านน้ำในภูมิภาคนี้ทั้งหมด  
เหตุแห่งการต่อต้านชาติตะวันตก
            
การต่อต้านชาติตะวันตกได้เกิดขึ้นมาโดยลำดับตั้งแต่เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับชาติต่างๆ ซึ่งเป็นชาติพื้นเมืองเดิม และเมื่อชาติตะวันตกเข้ามายึดครองจนเป็นผลสำเร็จ กระแสการต่อต้านก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ชาติตะวันตกจะนำการศึกษาและความเจริญบางประการเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้ แต่ก็ไม่ทำให้ชาวพื้นเมืองยอมรับได้ และเริ่มรวมตัวกันต่อต้านหนักขึ้นทุกที โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะยกมาพอสังเขปดังนี้
          
Ø    ฟิลิปปินส์ เนื่องจากประชาชนไม่พอใจระบบการปกครองของสเปนที่กดขี่ข่มเหง อยุติธรรม และคนพื้นเมืองต้องเสียภาษีหนักกว่าชาวสเปน ทั้งยังถูกเกณฑ์แรงงานโดยได้รับค่าตอบแทนน้อย การไม่ได้รับความเสมอภาคในการแต่งตั้งตำแหน่งทางศาสนา และไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพระในคริสตศาสนาที่เป็นชาวพื้นเมือง  เมื่อรวมตัวกันต่อต้านก็ถูกสเปนปราบปรามอย่างราบคาบและถูกลงโทษอย่างรุนแรง มีทั้งจำคุก เนรเทศ และประหารชีวิต ซึ่งในจำนวนผู้ที่ถูกประหารชีวิตนี้มีพระชาวฟิลิปปินส์รวมอยู่ด้วย ในขณะที่พระชาวสเปนกลับมีสิทธิเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในฟิลิปปินส์โดยครอบครองที่ดินไว้เป็นจำนวนมากต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยขบวนการชาตินิยมต่อต้านสเปนจนเป็นผลสำเร็จ สหรัฐอเมริกาก็เข้ามายึดครองแทน และเมื่อชาวฟิลิปปินส์ต่อต้าน ก็ถูกสหรัฐอเมริกาปราบอย่างราบคาบเนื่องจากมีกำลังอาวุธและยุทธวิธีการรบที่เหนือกว่า นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกายังได้พยายามทำลายความสามัคคีของชนในชาติฟิลิปปินส์โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มปัญญาชนเข้ารับหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ แทนข้าราชการสเปนทำให้พวกปัญญาชนยอมเข้ากับสหรัฐอเมริกา ทำให้ง่ายต่อการปราบพวกต่อต้านที่ด้อยการศึกษา

p7.12.jpg
    Ø    อินโดนีเซียดัทช์พยายามแยกตัวจากคนพื้นเมืองโดยถือว่าเป็นคนละชนชั้นกัน ไม่สนใจที่จะยกระดับฐานะทางสังคม การศึกษาและความเป็นอยู่ของคนพื้นเมือง เพราะถือว่าจะทำให้ปกครองยาก จำกัดการศึกษาเฉพาะคนยุโรป ชาวดัทช์ และชาวอินโดนีเซียชั้นสูงเท่านั้น นอกจากนี้ชาวดัทช์ยังส่งพวกมิชชันนารีเข้าไปโดยกีดกันพวกมุสลิม ไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิและไม่ดำรงรักษาขนบธรรมเนียมของอินโดนีเซียไว้ บางครั้งกฎหมายของดัทช์ก็ขัดกับหลักธรรมของมุสลิม
            
Ø    พม่าอังกฤษไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ชาวพม่ามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง จะเปิดโอกาสให้บ้างก็เป็นเพียงตำแหน่งข้าราชการเล็กๆ ซึ่งไม่มีความสำคัญอะไร แม้พวกปัญญาชนที่จบจากมหาวิทยาลัยก็หางานทำไม่ได้ อังกฤษเคยให้ชาวพม่าเรียกตนเองว่า ตะขิ่น ซึ่งมีความหมายว่า นาย อันแสดงถึงการถือว่าเป็นคนละชั้นไม่เท่าเทียมอังกฤษ
             
Ø    เวียดนามฝรั่งเศสได้จำกัดชาวเวียดนามทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และทำลายโครงสร้างทางสังคมโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าหมู่บ้านกับลูกบ้านของชาวพื้นเมือง ประชาชนถูกใช้แรงงานและเสียภาษี ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็จะถูกจับกุมทำให้ชาวนาเกลียดชังระบบการปกครองของฝรั่งเศสมาก ชนชั้นกลางเป็นพวกเดียวที่มีโอกาสทางการศึกษาแบบตะวันตก แต่เมื่อจบออกมาแล้วกลับปฏิเสธที่จะทำงานกับฝรั่งเศส เนื่องจากได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาวฝรั่งเศสในระดับเดียวกัน เมื่อมีการรวมตัวกันต่อต้าน ฝรั่งเศสก็กวาดล้างและปราบอย่างรุนแรง มีทั้งจับประหารชีวิต และชาวเวียดนามหลายพันคนต้องเสียชีวิตจากการปราบปรามของฝรั่งเศส
            
สรุปได้ว่า การเข้ามาของชาติตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมีกลอุบายและข้อกล่าวอ้างนานาประการเพื่อหวังยึดครองประเทศต่างๆ ให้กลายเป็นอาณานิคมของตน ส่งผลให้ชาติเหล่านั้นถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และแร่ธาตุไป การเข้ามาของชาติตะวันตกมิได้เข้ามาเพียงเพื่อจุดประสงค์จะทำการค้าขาย การทูต หรือเจริญสัมพันธไมตรีต่อกันอย่างแท้จริง สิ่งที่มีน้ำหนักที่สุดก็คือเป็นการมุ่งแสวงหาและช่วงชิงเอาผลประโยชน์จากชาติที่อ่อนแอกว่าเข้าสู่ตน หวังเอาอำนาจของตนและประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ เมื่อชาติในดินแดนเหล่านั้นไม่ยอมรับก็ใช้อาวุธเข้าประหัตประหารยึดเอาสมบัติเอาบ้านเมืองของเขามาเป็นของตนได้ทันที 
               สำหรับประเทศไทยเมื่อถึงวาระต้องเผชิญหน้ากับกลอุบายของฝรั่งเศสที่จะเข้ามายึดครองประเทศ และความไม่จริงใจของอังกฤษที่น่าจะมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือไทยบ้างในยามวิกฤตหัวเลี้ยวหัวต่อจนเกือบจะสูญสิ้นอธิปไตยไป แต่ด้วยความไม่ประมาทของบูรพกษัตริย์ที่ทรงเก็บรักษา
เงินถุงแดง เป็นทุนสำรองในคลังหลวงไว้ไม่เอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นโดยไม่จำเป็นจึงสามารถแก้ปัญหาวิกฤตของชาติในครั้งนั้นเอาไว้ได้

p7.13.jpg


          หากไม่มี
เงินถุงแดง ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ 
          
หากไม่มีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔
             
และหากไม่มี เงินทองบริจาคของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ร่วมกับเจ้านายในวัง ชาติไทยเราก็คงต้องตกเป็นเมืองขึ้นของเขาอย่างเต็มตัว ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยประการต่างๆ เหมือนประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายที่ต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างยาวนานและอย่างน่าสลดใจ
             
การขยายอำนาจของชาติตะวันตกต่อประเทศต่างๆ และต่อประเทศไทยใน กรณีเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ จึงเป็นบทเรียนอันสำคัญยิ่งแก่ชาวไทยให้ต้องตระหนักถึงภัยอันตรายและความไม่รู้เท่าทันต่อความคิดจิตใจของชาติต่างๆ ว่าเป็นเช่นไร เราควรเตรียมตัวอย่างไรและควรปฏิบัติต่อชาติอย่างไรเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นอีกในภายภาคหน้า ด้วยกลอุบายและวิธีการที่เปลี่ยนไปแต่อาจมีเจตนาเดิมคือความเอารัดเอาเปรียบและเห็นแก่ตัว เสาะแสวงและช่วงชิงเอาประโยชน์จากประเทศของเราเป็นเป้าหมายหลัก

p7.14.jpg

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

Website ที่เกี่ยวข้อง

 

ติดต่อ

www.luangta.com