ลืมรหัสผ่าน?
  • Narrow screen resolution
  • Wide screen resolution
  • Auto width resolution
  • Increase font size
  • Decrease font size
  • Default font size
  • default color
  • red color
  • green color
Home
๗ ชาติตะวันตกเข้ายึดครองเพื่อนบ้านสยาม PDF พิมพ์ อีเมล์
p7.15.jpg  

                   ในช่วง พ.ศ. ๒๓๔๓-๒๔๔๒ หรือประมาณกลางรัชสมัยของรัชกาลที่ ๑ ถึงกลางรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคสมัยของลัทธิจักรวรรดินิยม อันเป็นจุดสูงสุดของพัฒนาการของระบบทุนนิยมที่ชาติตะวันตกแผ่ขยายไปทั่วโลก ทำให้ดินแดนเกือบทั้งหมดในเอเชีย อัฟริกา ฯลฯ ตกเป็นเมืองขึ้น หรืออาณานิคมของยุโรปตะวันตกกับอเมริกาเหนือ สำหรับมูลเหตุจูงใจให้ชาติตะวันตกเข้ามาในประเทศไทยและดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พอสรุปได้ดังนี้p7.1.jpgp7.2.jpg




           ๑. ผลประโยชน์ทางการค้า ต้องการแสวงหาผลผลิตทางเศรษฐกิจในดินแดนแถบนี้ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศ อันเป็นสินค้าที่ยุโรปต้องการ
จึงต้องการสำรวจแหล่งวัตถุดิบ และเข้ามาควบคุมศูนย์กลางการค้า การแลกเปลี่ยนสินค้า
          
๒. การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้บรรดามหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายต้องการวัตถุดิบและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากในภูมิภาคนี้ และด้วยปริมาณการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น ตลาดการค้าก็เพิ่มขึ้น ทางเดียวที่จะเข้ามาเอาทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าจากชาวพื้นเมืองไปจำหน่ายยังยุโรป หรือขยายตลาดการค้ายุโรปเข้ามาในดินแดนแถบนี้ได้ คือ เข้ามายึดอำนาจทางการเมืองของประเทศเหล่านี้เสีย
         
๓.ความต้องการเผยแพร่อุดมการณ์ทางศาสนาและการเมือง โดยเชื่อมั่นว่า ระบบการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของตะวันตกเป็นหลักการที่ดี จึงถือเอาเป็นเหตุว่า เป็นพันธะของคนผิวขาวที่จะเป็นผู้นำความเจริญมาสู่คนพื้นเมือง จึงส่งผู้แทนหรือมิชชันนารีเข้ามาทำการเผยแพร่ศาสนาหรืออุดมการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคนี้p7.3.jpg 
              จากปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับการผลิตอาวุธร้ายสมัยใหม่และการจัดการกองทัพที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการที่เอเชียและอัฟริกายังไม่มีการรวมเป็น ชาติ ยังแบ่งแยกกันอยู่ในลักษณะของชนเผ่าหรืออาณาจักรแบบโบราณ และการที่ประชากรส่วนใหญ่ไร้การศึกษาไม่รู้หนังสือ อ่านเขียนไม่ได้ จึงเป็นปัจจัยของความสำเร็จในการล่าอาณานิคมในที่สุด 
อังกฤษยึดครองดินแดนตะวันตกสยาม

v ตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา การแผ่อิทธิพลของอังกฤษในพม่า เริ่มมาจากอังกฤษได้คืบคลานเข้าไปภายใต้การนำของบริษัทอิสท์อินเดีย ทำให้กษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุลเริ่มตกต่ำลงเรื่อยมา และเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐ ซึ่งเป็นปีก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยา ๑๐ ปี อังกฤษก็พิชิตดินแดนแถบอ่าวเบงกอลได้ และขยายอิทธิพลเป็นวงกว้างไปจนถึงตอนล่างของประเทศพม่า
               
จากนั้นอังกฤษก็หาเหตุทำสงครามกับพม่าเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ และยึดพม่าตอนล่างได้ เพื่อใช้ฐานทัพท่าเรือเป็นที่มั่นของตนในภูมิภาคนี้อ้อมไปค้าขายกับประเทศจีน p7.4.jpgจนขาดทุนย่อยยับถึงขนาดต้องนำฝิ่นที่ผิดกฎหมายและศีลธรรมไปขายให้ชาวจีน ก่อให้เกิดสงครามฝิ่นตามมาถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ เรือกลไฟของบริษัทอิสท์อินเดียได้จุดชนวนสงครามเริ่มแรกโดยโจมตีเรือสำเภาของจีน และในสงครามฝิ่นครั้งที่สองตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๑ อังกฤษได้ยุบบริษัทอิสท์อินเดีย และตั้งหน่วยงานราชการเฉพาะกิจ คือ กระทรวงอินเดีย ขึ้นมา มีรัฐมนตรีกำกับดูแลโดยตรงในกรุงลอนดอน ขณะที่ในอินเดียก็ตั้งตำแหน่ง ข้าหลวงใหญ่ และยกย่องเป็น อุปราช ในเวลาต่อมาถือเป็นผู้ปกครองสูงสุดp7.5.jpg 
             เกี่ยวกับการครอบครองพม่าของอังกฤษ อาจกล่าวได้ว่าเนื่องจากพม่าอยู่ใกล้ผลประโยชน์และอิทธิพลของอังกฤษในอินเดียมากเกินไป ประจวบกับพม่าไม่สามารถหาประเทศมหาอำนาจมาคานอำนาจอังกฤษได้ อีกทั้งกษัตริย์พม่ามีลักษณะแข็งแกร่งและไม่อะลุ่มอล่วยต่ออังกฤษ จึงตกเป็นอาณานิคมหนึ่งของอังกฤษในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘ โดยอังกฤษได้สานรวมอาณาจักรพม่าเข้าเป็นหนึ่งในมณฑลของอินเดีย ซ้ำร้ายพม่ายังถูกล้างราชวงศ์สถาบันกษัตริย์เสียสิ้นโดยพระเจ้าธีบอเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายและถูกนำไปกักขังที่เมืองมุมไบ(บอมเบย์) จนสิ้นพระชนม์
    สำหรับการแผ่อิทธิพลของอังกฤษในมลายูนั้นเริ่มในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑  อังกฤษคืบคลานเข้ามาได้เกาะปีนัง โดยเริ่มต้นจากบริษัทอิสท์อินเดียของอังกฤษได้ชักนำให้สุลต่านแห่งรัฐเคดาห์ก่อตั้งสถานีการค้าแห่งใหม่ขึ้นที่เกาะปีนัง โดยอ้างเหตุผลว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป และเส้นทางการค้ากับสถานีการค้าแห่งอื่นๆ ที่มีมาแต่เดิมเริ่มเสื่อมโทรมลง และเมื่อตั้งสถานีแห่งใหม่นี้ขึ้นแล้ว อังกฤษก็ขอเป็นผู้จัดการเมืองท่าใหม่แห่งนี้เสียเอง เพื่อที่อังกฤษจะสามารถเป็นผู้ควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างภูมิภาคนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดอิทธิพลของฝรั่งเศสในย่านนี้ 
              
กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๖๑ อังกฤษต้องการหาเมืองท่าสถานีการค้าแห่งใหม่อีกแห่ง และก็พบเกาะสิงหปุระหรือเมืองเทมาเซก ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า สิงคโปร์ มีลักษณะที่เหมาะสมอย่างยิ่ง อังกฤษจึงขอให้สุลต่านในครั้งนั้นยอมเปิดดินแดนแห่งนี้ให้เป็นเมืองท่าของอังกฤษในปี พ.ศ. p7.6.jpg๒๓๖๒ โดยยื่นเงื่อนไขในลักษณะขอเช่าที่ดินจากสุลต่านในราคาถูกและจ่ายเป็นรายปี การที่อังกฤษสามารถควบคุมเมืองท่าสำคัญทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของมลายูได้เช่นนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแผ่อำนาจครอบคลุมดินแดนปลายแหลมมลายู
          
          การที่รัฐต่างๆ ในดินแดนแถบมลายูมักขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์ที่ได้จากการค้าทรัพยากรต่างๆ ให้กับอังกฤษอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะการแย่งชิงประโยชน์ในเปรัคซึ่งเป็นรัฐที่อุดมไปด้วยแหล่งแร่ดีบุกจนเกิดเป็นสงครามระหว่างรัฐขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งอังกฤษเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งนี้ p7.7.jpg แล้วกำหนดข้อตกลงขึ้นฉบับหนึ่ง คือ ข้อตกลงปังกอร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่แล้วกลับกลายเป็นข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ต่ออังกฤษมากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในเปรัคเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นการต่อต้านอำนาจกดขี่ของชาวอังกฤษกระจายตัวมากขึ้นทุกขณะ
             
ต่อมาผู้ว่าการชาวอังกฤษถูกสังหารชีวิตในปี พ.ศ.  ๒๔๑๘ อังกฤษจึงส่งกองทหารมาปราบปรามอย่างรุนแรง จนประชาชน ผู้ร่วมก่อการ และแม้แต่สุลต่านเองต้องหลบหนีออกจากเปรัค อังกฤษจึงสามารถเข้าควบคุมรัฐเปรัคและเมืองท่าใหญ่ๆ เอาไว้ทั้งหมด และต้องการหาทางผูกขาดอำนาจของตนเหนือมลายู จึงพยายามหาหนทางให้รัฐต่างๆ เข้ามาร่วมทำสนธิสัญญาก่อตั้งสหพันธรัฐมลายูขึ้น โดยมีอังกฤษเป็นแกนนำ ควบคุมและผูกขาดการค้าในย่านนี้ทั้งหมดในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ 
              
กล่าวโดยย่อในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนที่รัชกาลที่ ๔ จะขึ้นครองราชย์ ชายแดนด้านตะวันตกของสยามก็ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของอังกฤษ จากประเทศพม่ายาวลงไปตลอดแนวของแหลมมลายู ส่วนชายแดนด้านตะวันออกก็มีฝรั่งเศสคืบคลานเข้ามาครอบครองดินแดนเวียดนาม  กัมพูชา และลาว
ฝรั่งเศสยึดครองดินแดนตะวันออกสยาม 
                ประเทศฝรั่งเศสใช้ข้ออ้างเรื่องความเชื่อถือในความสูงส่งและเหนือกว่าของ อารยธรรม ของตน จึงเป็นภารกิจที่จะต้องนำความเจริญมาสู่คนพื้นเมืองในเอเชียและอัฟริกา พร้อมกับข้ออ้างเรื่องการปกป้องคริสตศาสนา บาทหลวงและชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่เบื้องหลังแท้จริงก็คือ ผลประโยชน์ทางการค้าที่ฝรั่งเศสแข่งขันกับอังกฤษในการเข้าสู่ตลาดใหญ่ในจีน
              
การคืบคลานของฝรั่งเศสเข้าไปยึดดินแดนต่างๆ ในอินโดจีนมีลำดับขั้นดังนี้

             vความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศสเริ่มต้นตึงเครียดขึ้นเมื่อกษัตริย์เวียดนามเห็นว่าฝรั่งเศสกดดันเวียดนามเกินไป ราวกับเวียดนามเป็นเมืองขึ้น และจุดปะทุของสงครามระหว่างสองฝ่ายเกิดขึ้นเมื่อเวียดนามเริ่มต้นแผนต่อต้านฝรั่งเศส ด้วยการไม่ยอมให้ประชาชนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ที่นักบวชฝรั่งเศสนำเข้ามาเผยแพร่ จนถึงกับสั่งขับไล่นักบวชเหล่านั้นออกไปจากเวียดนามให้หมด และยังสั่งประหารประชาชนที่ลักลอบติดต่อกับp7.8.jpg 

   v
นักบวชคริสต์ไปถึง ๑๐๐ คน ฝรั่งเศสจึงถือเอาเหตุนี้ ส่งเรือรบเข้าปิดล้อมอ่าวเมืองดานังในปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เข้ายึดครองเวียดนามนับแต่ปีนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๐๕ ฝรั่งเศสได้บังคับให้เวียดนามลงนามในสนธิสัญญา ทำให้ฝรั่งเศสได้ดินแดนเวียดนามใต้ไปครอง กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ฝรั่งเศสก็สามารถยึดครองดินแดนเวียดนามไว้ได้ทั้งหมด เหตุการณ์ระยะนั้นตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ในสยาม
   v ฝรั่งเศสหาช่องทางยึดครองกัมพูชาจากการที่กษัตริย์กัมพูชาต้องการอาศัยอำนาจของฝรั่งเศสเข้ามาช่วยเหลือให้หลุดออกจากอำนาจของสยามและเวียดนาม โดยลงพระนามในสนธิสัญญายอมอยู่ใต้อารักขาของฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ซึ่งฝรั่งเศสก็สามารถแก้ปัญหาให้กับกัมพูชาได้จริง โดยใช้อิทธิพลทั้งทางทหารและเศรษฐกิจเข้าบังคับข่มขู่ทวงคืนดินแดนต่างๆ คืนให้กับกัมพูชาได้สำเร็จ กัมพูชาจึงพ้นจากการเป็น ประเทศราช ของสยามและเวียดนามซึ่งตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดฝรั่งเศสกลับเป็นผู้เข้ายึดครองกัมพูชาเสียเอง ในปี พ.ศ. ๒๔๐๗ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ ฝรั่งเศสก็ยึดเสียมราฐและพระตะบองของกัมพูชาได้
    v เหตุการณ์ในอดีตที่อาณาจักรหลวงพระบางได้เปิดสัมพันธ์และยินยอมเป็นประเทศผู้ส่งบรรณาการให้กับเวียดนามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๗๔ เนื่องจากระแวงว่าสยามอาจหาโอกาสเข้ายึดครองหลวงพระบางเหมือนกับที่ได้เข้ายึดนครเวียงจันทน์จนเป็นผลสำเร็จมาแล้วในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ จากจุดนี้เอง เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองเวียดนามได้ในปี พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงถือโอกาสยึดครองลาว โดยอ้างว่าหลวงพระบางเป็นเมืองหลวงของลาว และอยู่ในการครอบครองของเวียดนาม ดังนั้นจึงต้องกลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสด้วย ต่อจากนั้นทั้งเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ก็ล้วนต้องตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศสทั้งหมด จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ฝรั่งเศสก็ได้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคือประเทศลาวไปจากข้อพิพาทและข้อตกลงกับสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ 

               ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ฝรั่งเศสก็สามารถสร้าง จักรวรรดิ ของตนในอินโดจีนได้สำเร็จ กลายเป็นอาณานิคมขนาดใหญ่ และตั้ง ข้าหลวงใหญ่ ขึ้น โดยมีสำนักงานอยู่ที่ฮานอย เป็นการปกครองเวียดนามใต้ในฐานะอาณานิคมโดยตรง ส่วนเวียดนามเหนือและกลาง กัมพูชา และลาวนั้น เป็นการปกครองโดยอ้อม โดยที่ยังรักษาสถาบันการปกครองบางประการไว้ เช่น ระบบจักรพรรดิที่กรุงเว้ สถาบันกษัตริย์ที่พนมเปญ เจ้ามหาชีวิตที่หลวงพระบาง p7.9.jpgและเจ้าแห่งจำปาศักดิ์ ซึ่งต่างกับอังกฤษที่ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ของพม่าโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม การที่ ข้าหลวงใหญ่ มีอำนาจเต็มที่และรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางทั้งด้านการบริหารและการคลัง ณ กรุงฮานอย อีกทั้งฝรั่งเศสยังพยายามผนวกและกลืนชนชั้นสูงของดินแดนอาณานิมคมเหล่านี้ให้เข้าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตนจนเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ผลที่ตามมาก็คือมาตรฐานการครองชีพของประชากรในเมืองขึ้นเหล่านี้ตกต่ำและเสื่อมโทรมลงมากเนื่องจากฝรั่งเศสมีแต่มุ่งกอบโกยเอาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และวัตถุดิบต่างๆ จากดินแดนแถบนี้ 
การยึดครองของชาติตะวันตกอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
           
สำหรับอาณาจักรในหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นต่างก็ได้รับผลกระทบจากการขยายอำนาจของชาติตะวันตกเช่นกัน เริ่มต้นจากในอินโดนีเซียเมื่อพ่อค้าชาวดัทช์ได้เข้ามาขอตั้งสถานีการค้าขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๓๙ ที่บันทัม มีจุดประสงค์ทางด้านการค้าเครื่องเทศ และหาตลาดสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในการเข้ามานี้ได้รับการp7.10.jpg ต้อนรับอย่างดีจากผู้ปกครอง ชาวพื้นเมืองและพ่อค้าโปรตุเกสที่อยู่มาก่อน ต่อมาก็ได้ไปเป็นพันธมิตรกับรัฐเล็กๆ ในหมู่เกาะเครื่องเทศ โดยทำสัญญายอมให้ดัทช์ผูกขาดการค้าแลกเปลี่ยนกับการให้ดัทช์คุ้มครองทางทหาร ซึ่งทำให้การค้าขยายตัวอย่างรวดเร็วจนสามารถขับไล่พ่อค้าโปรตุเกสออกไปจากบันทัมได้ในเวลาต่อมา
           
เมื่อบริษัทดัทช์อิสท์อินเดียได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๖๒ ทำให้ดัทช์สามารถขยายอิทธิพลไปยังหมู่เกาะและรัฐอื่นๆ ซึ่งทำให้อังกฤษต้องถอนตัวไปจากหมู่เกาะเครื่องเทศในปี พ.ศ. ๒๑๗๑ และยึดมะละกาจากโปรตุเกสได้ในปี พ.ศ. ๒๑๘๔ อย่างไรก็ตาม แม้ในระยะแรกจะสนใจเฉพาะเรื่องการค้า ไม่มีจุดประสงค์จะเข้าครอบครองดินแดน แต่ด้วยนโยบายผูกขาดการค้าทำให้คนพื้นเมืองต้องลักลอบค้าขายกับโปรตุเกส สเปน อังกฤษ และอาหรับ ขณะเดียวกันก็เกิดโจรสลัดคอยปล้นเรือสินค้าของดัทช์ ทำให้ดัทช์ต้องใช้นโยบายเข้าครอบครองดินแดน โดยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของดินแดนเหล่านี้ และในที่สุดดัทช์ก็มีอิทธิพลเหนือหมู่เกาะเครื่องเทศทั้งหมดในปี พ.ศ. ๒๒๑๐การที่ดัทช์ขยายอำนาจในชวาและหมู่เกาะเครื่องเทศได้สำเร็จนั้น เนื่องจากสภาพการเมืองภายในที่แตกแยกขาดความสามัคคีกัน มีการกบฏ และสงครามชิงราชย์ ตลอดจนชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาร่วมสนับสนุน จึงทำให้ต้องตกเป็นอาณานิคมของฮอลันดาไปในที่สุด
          ประเทศฟิลิปปินส์ก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากการขยายอำนาจและถูกยึดครองจากชาติตะวันตกซึ่งก็คือประเทศสเปน โดยอาศัยจุดอ่อนเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในลักษณะที่เป็นชาวเกาะและการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์กันกระจัดกระจาย ไม่มีความชัดเจนในการมีรัฐบาลกลางที่เป็นศูนย์อำนาจอย่างเช่นในดินแดนแห่งอื่นๆ จึงง่ายต่อการที่สเปนซึ่งมีขีดความสามารถทางกำลังทหารที่สูงกว่าจะเข้ามาโดยใช้วิธีพยายามเข้ายึดครองอย่างต่อเนื่อง สเปนต้องส่งกองทหารเข้าทำการรบกับชาวพื้นเมืองที่ต่อต้านอยู่หลายครั้ง p7.11.jpg
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๑๐๘ สเปนก็สามารถมีชัย แล้วเข้าก่อตั้งฐานแห่งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๑๓ ก็เข้ายึดครองเมืองท่าของชาวพื้นเมืองแล้วก่อตั้งเป็นสถานีการค้าของตนขึ้นที่มะนิลา และเข้ายึดครองเมืองสำคัญๆ บนหมู่เกาะละแวกใกล้เคียงต่างๆ ซึ่งเท่ากับสเปนสามารถยึดครองฟิลิปปินส์ได้แล้ว ตลอดจนการนับถือศาสนาของชาวพื้นเมืองก็ยังถูกครอบงำด้วยเช่นกัน โดยสเปนบีบบังคับให้ยอมเข้ารีตรับศาสนาคริสต์
              ชาติตะวันตกอีกชาติหนึ่งที่ได้เข้ามาครอบครองฟิลิปปินส์ในระยะต่อมา และไม่นานนักก็กลายเป็นชาติมหาอำนาจของโลก นั่นคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มเข้ามาค้าขายในโลกตะวันออกกับประเทศญี่ปุ่นก่อนในปี พ.ศ. ๒๓๙๗ การเข้ามานี้เป็นการตัดหน้าเซอร์จอห์นบาวริงของอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษเองก็มีความพยายามจะเข้าไปเจรจาในญี่ปุ่นเช่นกันและในระยะนั้นสหรัฐอเมริกายังได้ส่งคณะผู้แทนเข้ามาเจรจาในสยามเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๙ อีกด้วย ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยสหรัฐฯ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และกราบทูลถึงจุดประสงค์ที่เข้ามาว่า
              
...สหรัฐอเมริกาไม่มีอาณานิคมในตะวันออกและไม่ต้องการจะมี สิ่งที่ปรารถนาคือความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตอันดีต่อกันเท่านั้น...
                        
จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำสนธิสัญญาโดยมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับสนธิสัญญาบาวริง คือไทยต้องเลิกการผูกขาดทุกประเภทและให้มีอำนาจศาลกงสุลหรือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อย่างไรก็ตามสัมพันธภาพในครั้งนั้นของทั้งสองฝ่ายโดยมากจะเป็นบทบาทและผลงานทางศาสนาและสังคมของบรรดามิชชันนารีมากกว่าด้านอื่นๆ
               
แม้ในระยะแรกสหรัฐอเมริกาจะออกตัวว่าไม่ต้องการจะมีประเทศอาณานิคม  แต่หลังจากนั้นไม่นานสหรัฐอเมริกาก็กลับเข้ายึดครองประเทศฟิลิปปินส์ไปจากสเปนในที่สุด และยังวางเงื่อนไขหลายประการที่ล้วนแต่คงผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในฟิลิปปินส์แบบเป็นการถาวร ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งก็คือการตั้งฐานทัพซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นเจ้าแห่งน่านน้ำในภูมิภาคนี้ทั้งหมด  
เหตุแห่งการต่อต้านชาติตะวันตก
            
การต่อต้านชาติตะวันตกได้เกิดขึ้นมาโดยลำดับตั้งแต่เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับชาติต่างๆ ซึ่งเป็นชาติพื้นเมืองเดิม และเมื่อชาติตะวันตกเข้ามายึดครองจนเป็นผลสำเร็จ กระแสการต่อต้านก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ชาติตะวันตกจะนำการศึกษาและความเจริญบางประการเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้ แต่ก็ไม่ทำให้ชาวพื้นเมืองยอมรับได้ และเริ่มรวมตัวกันต่อต้านหนักขึ้นทุกที โดยมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะยกมาพอสังเขปดังนี้
          
Ø    ฟิลิปปินส์ เนื่องจากประชาชนไม่พอใจระบบการปกครองของสเปนที่กดขี่ข่มเหง อยุติธรรม และคนพื้นเมืองต้องเสียภาษีหนักกว่าชาวสเปน ทั้งยังถูกเกณฑ์แรงงานโดยได้รับค่าตอบแทนน้อย การไม่ได้รับความเสมอภาคในการแต่งตั้งตำแหน่งทางศาสนา และไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพระในคริสตศาสนาที่เป็นชาวพื้นเมือง  เมื่อรวมตัวกันต่อต้านก็ถูกสเปนปราบปรามอย่างราบคาบและถูกลงโทษอย่างรุนแรง มีทั้งจำคุก เนรเทศ และประหารชีวิต ซึ่งในจำนวนผู้ที่ถูกประหารชีวิตนี้มีพระชาวฟิลิปปินส์รวมอยู่ด้วย ในขณะที่พระชาวสเปนกลับมีสิทธิเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ในฟิลิปปินส์โดยครอบครองที่ดินไว้เป็นจำนวนมากต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยขบวนการชาตินิยมต่อต้านสเปนจนเป็นผลสำเร็จ สหรัฐอเมริกาก็เข้ามายึดครองแทน และเมื่อชาวฟิลิปปินส์ต่อต้าน ก็ถูกสหรัฐอเมริกาปราบอย่างราบคาบเนื่องจากมีกำลังอาวุธและยุทธวิธีการรบที่เหนือกว่า นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกายังได้พยายามทำลายความสามัคคีของชนในชาติฟิลิปปินส์โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มปัญญาชนเข้ารับหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ แทนข้าราชการสเปนทำให้พวกปัญญาชนยอมเข้ากับสหรัฐอเมริกา ทำให้ง่ายต่อการปราบพวกต่อต้านที่ด้อยการศึกษา

p7.12.jpg
    Ø    อินโดนีเซียดัทช์พยายามแยกตัวจากคนพื้นเมืองโดยถือว่าเป็นคนละชนชั้นกัน ไม่สนใจที่จะยกระดับฐานะทางสังคม การศึกษาและความเป็นอยู่ของคนพื้นเมือง เพราะถือว่าจะทำให้ปกครองยาก จำกัดการศึกษาเฉพาะคนยุโรป ชาวดัทช์ และชาวอินโดนีเซียชั้นสูงเท่านั้น นอกจากนี้ชาวดัทช์ยังส่งพวกมิชชันนารีเข้าไปโดยกีดกันพวกมุสลิม ไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิและไม่ดำรงรักษาขนบธรรมเนียมของอินโดนีเซียไว้ บางครั้งกฎหมายของดัทช์ก็ขัดกับหลักธรรมของมุสลิม
            
Ø    พม่าอังกฤษไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ชาวพม่ามีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง จะเปิดโอกาสให้บ้างก็เป็นเพียงตำแหน่งข้าราชการเล็กๆ ซึ่งไม่มีความสำคัญอะไร แม้พวกปัญญาชนที่จบจากมหาวิทยาลัยก็หางานทำไม่ได้ อังกฤษเคยให้ชาวพม่าเรียกตนเองว่า ตะขิ่น ซึ่งมีความหมายว่า นาย อันแสดงถึงการถือว่าเป็นคนละชั้นไม่เท่าเทียมอังกฤษ
             
Ø    เวียดนามฝรั่งเศสได้จำกัดชาวเวียดนามทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และทำลายโครงสร้างทางสังคมโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าหมู่บ้านกับลูกบ้านของชาวพื้นเมือง ประชาชนถูกใช้แรงงานและเสียภาษี ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็จะถูกจับกุมทำให้ชาวนาเกลียดชังระบบการปกครองของฝรั่งเศสมาก ชนชั้นกลางเป็นพวกเดียวที่มีโอกาสทางการศึกษาแบบตะวันตก แต่เมื่อจบออกมาแล้วกลับปฏิเสธที่จะทำงานกับฝรั่งเศส เนื่องจากได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชาวฝรั่งเศสในระดับเดียวกัน เมื่อมีการรวมตัวกันต่อต้าน ฝรั่งเศสก็กวาดล้างและปราบอย่างรุนแรง มีทั้งจับประหารชีวิต และชาวเวียดนามหลายพันคนต้องเสียชีวิตจากการปราบปรามของฝรั่งเศส
            
สรุปได้ว่า การเข้ามาของชาติตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมีกลอุบายและข้อกล่าวอ้างนานาประการเพื่อหวังยึดครองประเทศต่างๆ ให้กลายเป็นอาณานิคมของตน ส่งผลให้ชาติเหล่านั้นถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และแร่ธาตุไป การเข้ามาของชาติตะวันตกมิได้เข้ามาเพียงเพื่อจุดประสงค์จะทำการค้าขาย การทูต หรือเจริญสัมพันธไมตรีต่อกันอย่างแท้จริง สิ่งที่มีน้ำหนักที่สุดก็คือเป็นการมุ่งแสวงหาและช่วงชิงเอาผลประโยชน์จากชาติที่อ่อนแอกว่าเข้าสู่ตน หวังเอาอำนาจของตนและประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ เมื่อชาติในดินแดนเหล่านั้นไม่ยอมรับก็ใช้อาวุธเข้าประหัตประหารยึดเอาสมบัติเอาบ้านเมืองของเขามาเป็นของตนได้ทันที 
               สำหรับประเทศไทยเมื่อถึงวาระต้องเผชิญหน้ากับกลอุบายของฝรั่งเศสที่จะเข้ามายึดครองประเทศ และความไม่จริงใจของอังกฤษที่น่าจะมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือไทยบ้างในยามวิกฤตหัวเลี้ยวหัวต่อจนเกือบจะสูญสิ้นอธิปไตยไป แต่ด้วยความไม่ประมาทของบูรพกษัตริย์ที่ทรงเก็บรักษา
เงินถุงแดง เป็นทุนสำรองในคลังหลวงไว้ไม่เอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นโดยไม่จำเป็นจึงสามารถแก้ปัญหาวิกฤตของชาติในครั้งนั้นเอาไว้ได้

p7.13.jpg


          หากไม่มี
เงินถุงแดง ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ 
          
หากไม่มีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔
             
และหากไม่มี เงินทองบริจาคของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ร่วมกับเจ้านายในวัง ชาติไทยเราก็คงต้องตกเป็นเมืองขึ้นของเขาอย่างเต็มตัว ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยประการต่างๆ เหมือนประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายที่ต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างยาวนานและอย่างน่าสลดใจ
             
การขยายอำนาจของชาติตะวันตกต่อประเทศต่างๆ และต่อประเทศไทยใน กรณีเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ จึงเป็นบทเรียนอันสำคัญยิ่งแก่ชาวไทยให้ต้องตระหนักถึงภัยอันตรายและความไม่รู้เท่าทันต่อความคิดจิตใจของชาติต่างๆ ว่าเป็นเช่นไร เราควรเตรียมตัวอย่างไรและควรปฏิบัติต่อชาติอย่างไรเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นอีกในภายภาคหน้า ด้วยกลอุบายและวิธีการที่เปลี่ยนไปแต่อาจมีเจตนาเดิมคือความเอารัดเอาเปรียบและเห็นแก่ตัว เสาะแสวงและช่วงชิงเอาประโยชน์จากประเทศของเราเป็นเป้าหมายหลัก

p7.14.jpg

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >
บทความที่น่าสนใจ
  • Pause
  • Previous
  • Next
1/45
bangkokobiz.jpg พื้นฐานความเข้าใจเงินสำรองระหว่างประเทศ แจงสี่เบี้ย กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

 

 

 

 

 

 

เงินสำรองระหว่างประเทศ ตอนที่ 1 : พื้นฐานความเข้าใจ   แจงสี่เบี้ย กรุงเทพธุรกิจ  วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

แจงสี่เบี้ย : ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้บริหารส่วน ส่วนดุลการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย  กรุงเทพธุรกิจ  วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

สวัสดีท่านผู้อ่านอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่ได้มีโอกาสสื่อสารกับผู้อ่านผ่านทางคอลัมน์แจงสี่เบี้ยนี้ ครั้งที่แล้ว กระผมได้เขียนถึงหลักพื้นฐานในการวินิจฉัยอาการของเศรษฐกิจว่าดีหรือไม่ดีดูจากอะไร ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ได้หยิบยกไว้คราวก่อน คือ เรื่องเสถียรภาพและความสมดุลในการเติบโต

วันนี้จะเป็นรายละเอียดของปัจจัยอันหนึ่งที่เป็นตัววัดเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่สำคัญ คือ เงินสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันค่อนข้างยาว คงไม่สามารถเขียนได้หมดในคราวเดียว แต่จะต้องทยอยเขียนให้ผู้อ่านเป็นระยะๆ ตามโอกาสอำนวย

เงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศของประเทศไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับมอบหมายตามกฎหมาย ให้เป็นผู้ดูแลรักษาและนำไปลงทุนเพื่อให้เกิดดอกออกผลตามสมควร มีที่มาจาก 2-3 แหล่งหลักๆ คือ

1) ทำมาหาได้จากการส่งสินค้าออก หรือคนต่างชาติมาบริโภคสินค้าและบริการในประเทศไทย มากกว่าที่เรานำเข้าสินค้า และบริการ หรือเราไปใช้จ่ายในต่างประเทศ

2) มีเงินลงทุนไหลเข้ามาไม่ว่าจะในรูปเงินลงทุน (ในตลาดหลักทรัพย์, ลงทุนสร้างโรงงาน) หรือเงินให้กู้ก็ตาม มากกว่าที่เราเอาเงินไปลงทุน หรือให้กู้กับต่างประเทศ

เมื่อเกิดเงินไหลเข้ามาไม่ว่าจะจาก 1) หรือ 2) ผู้มีเงินได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศต้องนำมาขายต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ และรับเป็นเงินบาทเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าแรงหรือวัตถุดิบต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนโดยอิงกับตะกร้าเงินสกุลหลัก โดยมีดอลลาร์เป็นสัดส่วนมากที่สุด และทุกๆ เช้า ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะประกาศอัตรารับซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และเมื่อประกาศแล้วภายใต้ระบบนี้ ธนาคารพาณิชย์จะมาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้โดยไม่จำกัดจำนวน เมื่อธนาคารพาณิชย์ได้เงินตราต่างประเทศมาก็จะมาขายต่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยรับซื้อเข้ามาแล้ว เงินดังกล่าวก็จะมีสถานะเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เราเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ พูดง่ายๆ คือ โดยหลักการค่าเงินบาทจะถูกกำหนดโดยตลาดตามความต้องการซื้อขาย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข้าแทรกแซงโดยเข้ารับซื้อหรือรับขายเงินตราต่างประเทศดังกล่าวเท่าที่จำเป็น

ภายใต้ระบบนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีสิทธิเลือกได้ว่า จะเข้าไปรับซื้อเงินตราต่างประเทศดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ตามสมควร ถ้าเงินไหลเข้ามาตาม 1) และ 2) มาก แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยนั่งเฉยๆ ตลาดก็จะปรับตัวเพราะว่ามีแต่คน (ผู้ส่งออก, ผู้มาลงทุน) ต้องการขายดอลลาร์และต้องการรับบาท ราคาเงินบาทก็จะสูงขึ้น (ดอลลาร์ถูกลง) หรือที่เราเรียกว่าเงินบาทแข็งขึ้น

ถ้าเทียบช่วงวิกฤติปี 2540 กับปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า

(ก) เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

(ข) อัตราแลกเปลี่ยนเราในปี 2541 ช่วงหลังวิกฤติที่ค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 41.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวแข็งขึ้นเป็น 34.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน

ตัวเลขเหล่านี้บอกเราว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขายสินค้า และบริการได้มากกว่าที่ซื้อมา) จากแรงกดดันดังกล่าวทำให้ราคาของเงินบาทหรืออัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ช่วยบรรเทาแรงกดดันบางส่วน ซึ่งสะท้อนจากการเข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศสูงขึ้น

ทีนี้ก็มาถึงประเด็นที่ว่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงขึ้นถึงปัจจุบัน มีเพียงพอหรือไม่ ทำให้เราอุ่นใจได้ไหมในยามที่วิกฤติเกิดขึ้น

เอาไว้คุยกันต่อไปครับ

**********

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้บริหารส่วน ส่วนดุลการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(แทน)


เงินสำรองระหว่างประเทศ ตอนที่ 2 : ประเทศเรามีเงินสำรองอยู่เท่าไรแน่?

แจงสี่เบี้ย : ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้บริหารส่วน ส่วนดุลการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย  กรุงเทพธุรกิจ  วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

คราวก่อน กระผมได้พาท่านผู้อ่านไปทำความเข้าใจที่มาของเงินสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves) ซึ่งถ้าหากท่านผู้อ่านสนใจอาจเข้า website ของ ธปท. www.bot.or.th แล้ว click ไปที่ Economic Data และ International Reserves (weekly) ก็จะเห็นข้อมูลดังกล่าว อาทิเช่น ณ 29 มิ.ย. 2550 เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวน 72.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของหลักทรัพย์ และเงินตราต่างประเทศ (71.1 พันล้านดอลลาร์) นอกจากนี้ ก็เป็นทองคำและสิทธิพิเศษถอนเงินจาก IMF อีกนิดหน่อย

ในตารางยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งคือ Net Forward Position (ฐานะเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9.5 พันล้านดอลลาร์ เครื่องหมายเป็นบวกหมายความว่าในอนาคตเรามีสิทธิที่จะได้รับเงินตราต่างประเทศอีก 9.5 พันล้านดอลลาร์ ในการวิเคราะห์จึงควรรวม Net Forward Position ด้วย สิ่งที่ควรระวังคือ Net Forward Position อาจเป็นลบได้ ในกรณีที่เรามีภาระต้องจ่ายคืนเงินตราต่างประเทศ

การดูแต่ข้อมูลเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างเดียว โดยไม่ดูข้อมูล Net Forward Position ประกอบจึงอาจส่งผลให้ดูเสมือนว่า เงินสำรองระหว่างประเทศเราสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง คำถามที่น่าสนใจคือ รายการ Net Forward Position มีความเป็นมาอย่างไร แสดงถึงความไม่โปร่งใสในการรายงานข้อมูลหรือไม่

ข้อเท็จจริงก็คือ Net Forward Position เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือของ ธปท. ในการบริหารสภาพคล่องโดยปกติ การเพิ่มขึ้นของเงินสำรองระหว่างประเทศส่วนใหญ่มาจากการเข้าไปซื้อดอลลาร์ เมื่อ ธปท. เข้าไปซื้อดอลลาร์ ก็จะส่งมอบเงินบาทให้กับธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ส่งผลให้เงินบาทในระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้า ธปท. ไม่ดูดซับเงินบาทกลับ ก็จะทำให้เงินบาทในระบบมีมากขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำลง ทำให้อัตราดอกเบี้ย ไม่เป็นไปตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งจะใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมเงินเฟ้อ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ ธปท. เข้าไปซื้อดอลลาร์จึงต้องมีเครื่องมือที่จะใช้ดูดสภาพคล่องเงินบาท เพื่อไม่ให้กระทบต่อดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่ง ธปท.อาจดูดเงินบาทออกจากระบบโดยออกพันธบัตรขายให้กับภาคเอกชน หรืออาจใช้วิธีขายดอลลาร์ในตลาดทันที (Spot) และซื้อดอลลาร์กลับในอนาคต (Forward) พร้อมๆ กัน หรือที่เรียกว่า การทำสัญญา Swap (ซึ่งการดูดสภาพคล่องแต่ละวิธีก็มีต้นทุนเกิดขึ้นที่แตกต่างกัน)

การขายดอลลาร์ในตลาดทันที จะทำให้ ธพ. ต้องส่งเงินบาทให้กับ ธปท. จึงเท่ากับว่าสภาพคล่องเงินบาทโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะจะไปหักล้างกับเงินบาทที่ ธพ.ได้ไปจากการที่ ธปท.เข้าไปแทรกแซงซื้อดอลลาร์ในตอนแรก และยอดที่ปรากฏเป็น Net Forward Position ก็คือยอดสัญญาซื้อดอลลาร์ในอนาคต (Forward) ดังกล่าวนั่นเอง ส่วนธนาคารพาณิชย์ ก็จะนำเงินดอลลาร์ที่ได้ไปลงทุนหรือฝากไว้ในต่างประเทศเสมือนกับมีเงินไหลออกช่วยลดเเรงกดดันจากดอลลาร์ ที่ไหลเข้ามาได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการลดเเรงกดดันต่อค่าเงินบาท ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยด้วย

และเมื่อถึงกำหนดตามสัญญาและ ธปท. ไม่ต่อสัญญา นั้น ธพ.ก็จะนำเงินดอลลาร์ที่ไปลงทุนนั้นกลับมาส่งมอบให้กับ ธปท. ทำให้ยอดเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเท่ากับยอด Net Forward Position ที่ลดลง

นี่เป็นเหตุผลว่าในการวิเคราะห์เราจึงต้องรวมยอดทั้ง International Reserve และ Net Forward Position เข้าด้วยกัน เเละเพื่อประโยชน์ และความโปร่งใส และสร้างความเข้าใจของสาธารณชน ธปท. ได้เผยแพร่ทั้ง 2 ยอดรายการดังกล่าวใน website ทุกๆ สัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2542

นอกจาก Net Forward Position เเล้ว ยังมีรายการที่สำคัญอีกรายการหนึ่ง ที่ควรนำมาพิจารณา วิเคราะห์เงินสำรองระหว่างประเทศ คือ หนี้เงินตราต่างประเทศที่ ธปท. กู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งตอนนี้ยอดเป็นศูนย์ เพราะชำระคืนหนี้ IMF หมดแล้ว ก่อนปี 2547 เรามียอดคงค้างหนี้ต่างประเทศของ ธปท. ที่กู้จาก IMF เท่ากับ 1.7 พันล้านดอลลาร์ และเนื่องจากวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมดังกล่าวก็เพื่อเสริมเงินสำรองระหว่างประเทศ เมื่อ ธปท. ได้เงินมาจาก IMF เงินสำรองระหว่างประเทศก็จะเพิ่มขึ้น ในการวิเคราะห์ดู Net International Reserve จึงควรนำรายการดังกล่าวมาลบออกด้วย

โดยสรุป ในการวิเคราะห์ควรดูจาก Net International Reserve = International Reserve ? Net Forward Position - หนี้ที่ ธปท. กู้จากองค์กรระหว่างประเทศ ณ 29 มิ.ย. 2550 เราจึงมี Net International Reserve เท่ากับ 72.9 + 9.5 - 0 = 82.4 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 8 เท่าของการนำเข้า ส่วนจำนวนดังกล่าวพอไหม มากไปหรือยัง ต้องขอยกยอดไปคราวหน้าอีกครั้งครับ

 ข้อมูลจาก  http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q3/2007july03p1.htm 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม...
 
เทศนาหลวงตา(คลังหลวง)
เหตุการณ์สำคัญ(คลังหลวง)
 
บทความนักวิชาการ
drklong.jpg "ดร.โกร่ง" เปิดปากโต้ข้อหายุยง "หลวงตามหาบัว" หนังสือพิมพ์มติชน     "ดร.โกร่ง"เปิดปากโต้ข้อหา"หลวงตามหาบัว" หนังสือพิมพ์มติชน       อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม...
เกร็ดความรู้เรื่องคลังหลวง
photo_ion4gkflpc230jb.jpg ภาวะเงินเฟ้อยิ่งในประเทศซิมบับเว เป็นสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงเป็นอันดับที่สองในประวัติศาสตร์การเงิน นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ถ้าใครได้ติดตามข่าวเรื่องนี้เมื่อ 2-3 ปีก่อน น่าจะพอผ่านหูผ่านตาได้  ภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวดในประเทศซิมบับเวเป็นสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงเป็นอันดับที่สองในประวัติศาสตร์การเงินโลก (รองจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศฮังการี ใน พ.ศ. 2489) ภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวดครั้งนี้ เกิดขึ้นกับเงินสกุล ดอลลาร์ซิมบับเว (Zimbabwean Dollar, ZWD) อันเนื่องมาจากการบริหา... อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม...
 
ข่าวจากสื่อ
bangkokobiz.jpg พื้นฐานความเข้าใจเงินสำรองระหว่างประเทศ แจงสี่เบี้ย กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550             เงินสำรองระหว่างประเทศ ตอนที่ 1 : พื้นฐานความเข้าใจ   แจงสี่เบี้ย กรุงเทพธุรกิจ  วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 แจงสี่เบี้ย : ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้บริหารส่วน ส่วนดุลการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย  กรุงเทพธุรกิจ  วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 สวัสดีท่านผู้อ่านอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามที่ได้มีโอกาสสื่อสารกับผู้อ่าน... อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม...
 

Website ที่เกี่ยวข้อง

 

ติดต่อ

www.luangta.com

 

 
คุณได้รับความรู้เรื่องคลังหลวง จากบทความใดมากที่สุด