๑๗ บทสรุป..การเก็บรักษาทุนสำรองใน "คลังหลวง" คือ หลักการและเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษไทย |
|
|
|
จากประวัติศาสตร์การเงินการคลังของไทย “คลังหลวง” คือ สถานที่สำหรับเก็บรักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน โดยผู้ปกครองมีหน้าที่จัดหาทรัพย์สมบัติ และใช้จ่ายไปเพื่อสร้างความเจริญในด้านต่างๆ ตลอดถึงการเก็บรักษาสำรองไว้เป็นหลักประกันบ้านเมืองในยามฉุกเฉิน คลังหลวงน่าจะมีมาตั้งแต่เริ่มรวมตัวเป็นสังคมแล้วเนื่องจากการสร้างความเจริญจำเป็นต้องอาศัยการเงินการคลังเป็นรากฐาน แม้หน้าที่ของคลังจะแตกต่างกันไปตามลักษณะเศรษฐกิจของยุคนั้น จากสังคมอดีตที่รวบรวมผลประโยชน์จากแรงงานหรือสิ่งของมาใช้สอยโดยตรง ก็เพิ่มหน้าที่ด้วยการนำสิ่งของเหล่านั้นไปทำการค้า เมื่อเจริญมากขึ้นก็ใช้เงินตราเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน และเมื่อการติดต่อค้าขายกว้างขวางไปยังนานาประเทศก็ต้องมีระบบเงินตราที่เป็นสากล มั่นคง และน่าเชื่อถือ
ตามโบราณราชประเพณีของไทยถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของพระราชทรัพย์ทั้งปวงในแผ่นดิน มีพระราชอำนาจอย่างเต็มที่ในการจัดการกับทรัพย์สมบัติในคลังหลวง บูรพมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงต้องขวนขวายหารายได้เข้าคลังหลวง ใช้จ่ายเพื่อพัฒนาบ้านเมืองและศาสนา บำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร และด้วยความไม่ประมาทในการปกครอง ทรงกันพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งตั้งเป็น “ทุนสำรองแผ่นดิน” เผื่อไว้ใช้ในยามจำเป็น มากบ้างน้อยบ้างหรือบางครั้งก็หมดสิ้นไปตามสถานการณ์บ้านเมือง หากมีการศึกสงคราม โรคภัยไข้เจ็บระบาด ความไม่แน่นอนของฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารไม่เป็นไป ฯลฯ ทรงจำต้องสละทุนสำรองในคลังหลวงออกแก้ไขเหตุการณ์เป็นพักเป็นตอนไป จากนั้นทรงเริ่มต้นเก็บหอมรอมริบสะสมขึ้นใหม่และเก็บรักษาไว้รุ่นแล้วรุ่นเล่าสืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็มีการเก็บรักษา “ทุนสำรอง” ด้วยหลักการเช่นนี้ตลอดมา
ต่อเมื่อลักษณะเศรษฐกิจได้ปรับเปลี่ยนไป การค้าและเงินตราเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ลักษณะของ “ทุนสำรอง” ก็จำเป็นต้องปรับโดยการเพิ่มบทบาทและหน้าที่ตามไปด้วย แม้แต่นามที่ใช้เรียกทุนสำรองหรือหน่วยงานที่ดูแลรักษาทุนสำรองก็ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมโดยมิได้ละทิ้งหลักการและเจตนารมณ์เดิมไป ดังตารางแสดงลำดับความเป็นมาของทุนสำรองแผ่นดินต่อไปนี้
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยในอดีตทรงจำเป็นต้องกันพระราชทรัพย์ในคลังหลวงจำนวนหนึ่งเก็บรักษาเป็น “ทุนสำรองแผ่นดิน” เพื่อความไม่ประมาทและเป็นหลักประกันบ้านเมืองในยามคับขัน พระราชทรัพย์ดังกล่าวได้รับการเก็บสะสมสืบต่อกันมายาวนานรุ่นแล้วรุ่นเล่า ต่อมาเมื่อไทยเสียกรุงให้กับพม่าทำให้พระมหากษตริย์ทรงเริ่มก่อตั้งทุนสำรองขึ้นใหม่และเก็บสะสมสืบทอดกันมาถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการค้าเรือสำเภาทำให้มีรายได้เข้าคลังหลวงจำนวนมาก และยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๓ หมื่นชั่งเก็บรักษาไว้เป็น “ทุนสำรองแผ่นดิน” อีกด้วย ดังที่รู้จักกันในนาม “เงินถุงแดง” โดยในรัชกาลที่ ๔ และ ๕ ทั้งสองพระองค์ก็ทรงเก็บรักษาเป็นอย่างดี มิให้ปะปนกับพระราชทรัพย์อื่น จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำเป็นต้องนำ “เงินถุงแดง” ออกไถ่บ้านไถ่เมือง นับเป็นการทำหน้าที่ครั้งสำคัญที่สุดของ “ทุนสำรองแผ่นดิน” ที่ช่วยรักษาเอกราชของชาติเอาไว้ได้ นอกจากนี้ในปีเดียวกันนั้นทรงเตรียมการไว้พร้อมสำหรับการนำเงินกระดาษออกใช้ แต่เนื่องจากไม่มี “ทุนสำรอง” เหลืออยู่ในคลังหลวง เรื่องดังกล่าวจึงต้องระงับไป
จากนั้นพระองค์ทรงเริ่มต้นเก็บสะสม “ทุนสำรอง” ขึ้นใหม่ปรากฏเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ใช้ชื่อเป็นทางการว่า “ทุนสำรองธนบัตร” เก็บรักษาในกรมธนบัตร ซึ่งทำให้ “ทุนสำรอง” มีบทบาทและหน้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เก็บรักษาไว้เพื่อความไม่ประมาทเป็นการเก็บรักษาเพื่อใช้หนุนหลังธนบัตรเป็นการรับรองค่าของธนบัตรทุกใบ ต่อมาเมื่อภาวะเศรษฐกิจขยายตัวมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากขึ้นและเริ่มมีการกู้ยืมเงินจากต่างชาติมาลงทุน ทำให้พระองค์ทรงเพิ่มเงินจำนวน ๑๒ ล้านบาทสมทบเข้าทุนสำรองในกรมธนบัตร และเพิ่มบทบาทของทุนสำรองโดยทำหน้าที่เป็นหลักประกันในการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศ และเป็นการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยกับเงินตราต่างประเทศให้เป็นที่เชื่อถือในสายตาชาวโลกว่ามีระบบการเงินที่มั่นคงปลอดภัย
เมื่อลักษณะของเศรษฐกิจมีการปรับเปลี่ยนไปทำให้บทบาทของ “ทุนสำรอง” ก็ต้องกว้างขวางออกไปจากเดิมด้วยเพื่อรองรับสถานการณ์การเงินการคลังของชาติ อย่างไรก็ตามหลักการและเจตนารมณ์เดิมของทุนสำรองที่เก็บรักษาไว้ใช้ในยามคับขันเพราะความไม่ประมาทในเหตุการณ์นั้น บทบาทในส่วนนี้ยังคงไว้เช่นเดิมมิได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย การที่ทุนสำรองต้องทำหน้าที่หลายบทบาทมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งจำเป็นต้องเก็บรักษาเงินตราจำนวนมากขึ้นเท่านั้นเพื่อให้มีปริมาณมากพอ และต้องมีกฎหมายดูแลรักษาที่เข้มงวดเพื่อให้ทุนสำรองมีความมั่นคงปลอดภัย ไม่ให้นำไปใช้ผิดหลักการหรือผิดเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้รองรับสถานการณ์ตามที่กล่าวมานี้ โดยตลอดรัชกาลที่ ๕ และ ๖ กรมธนบัตรเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาทุนสำรองกองนี้ ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๗ สภาพเศรษฐกิจตกต่ำจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้ต้องยุบกรมกองเสียใหม่จึงเปลี่ยนนาม “กรมธนบัตร” เป็น “กรมเงินตรา” และลดฐานะเป็น “กองเงินตรา” ในเวลาต่อมา แต่บทบาทหน้าที่ต่างๆ ยังคงรักษาไว้ตามเจตนารมณ์เดิมมิได้เปลี่ยนแปลงไป ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ รัฐบาลได้ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น และโอนงานจาก “กองเงินตรา” ไปให้ “ฝ่ายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย” ทำหน้าที่ดูแลรักษาทุนสำรองกองเดิมต่อไปโดยตั้งชื่อเป็นทางการใหม่ว่า “ทุนสำรองเงินตรา” ทั้งนี้กฎหมายยังคงรักษาหลักการและเจตนารมณ์ไว้ตามเดิมอย่างเคร่งครัด
จากประสบการณ์ในอดีตจะเห็นได้ว่า บทบาทของ “ทุนสำรองแผ่นดิน” มีความสำคัญและจำเป็นต่อความมั่นคงทางการเงินของชาติมาโดยตลอดทุกยุคสมัย
· แม้จะอยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะเจ้าของพระราชทรัพย์ในคลังหลวง
· แม้จะอยู่ในการดูแลรักษาของกรมกองในหน่วยราชการ หรือของฝ่ายออกบัตร ในธนาคารแห่งประเทศไทย
· แม้จะตรากฎหมายหลายสิบฉบับโดยปรับเปลี่ยนตามสภาพเศรษฐกิจและสภาวะบ้านเมือง
· แม้จะเรียกนามของ “ทุนสำรอง” แตกต่างกันไปในแต่ละช่วง
สิ่งซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงและได้รับการสืบทอดไว้อย่างเคร่งครัดโดยบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์และบรรพบุรุษทุกยุคสมัยตลอดมาก็คือหลักการและเจตนารมณ์ของทุนสำรองนั่นเอง
ตลอดทุกยุคสมัยท่านยึดถือหลักการแห่งความไม่ประมาท เมื่อหาทรัพย์มาได้ก็จะจัดสรรทรัพย์ ส่วนหนึ่งแยกเก็บรักษาไว้อย่างมั่นคงปลอดภัย มิให้ปะปนกับทรัพย์อื่น เพื่อให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของประชาชนชาวไทย มิให้เป็นของคนหนึ่งคนใดหรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด ต่อเมื่อต้องประสบกับวิกฤตการณ์ร้ายแรงต่อเอกราชของชาติท่านจึงตัดใจนำทุนสำรองนี้ออกแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไป จากนั้นก็เริ่มเก็บสะสมขึ้นใหม่และให้การดูแลรักษาเป็นมรดกตกทอดต่อเนื่องกันตลอดมาจนทุกวันนี้ส่วนหนึ่งแยกเก็บรักษาไว้อย่างมั่นคงปลอดภัย มิให้ปะปนกับทรัพย์อื่น เพื่อให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของประชาชนชาวไทย มิให้เป็นของคนหนึ่งคนใดหรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด ต่อเมื่อต้องประสบกับวิกฤตการณ์ร้ายแรงต่อเอกราชของชาติท่านจึงตัดใจนำทุนสำรองนี้ออกแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไป จากนั้นก็เริ่มเก็บสะสมขึ้นใหม่และให้การดูแลรักษาเป็นมรดกตกทอดต่อเนื่องกันตลอดมาจนทุกวันนี้
ประวัติศาสตร์ได้จารึกสายทางดำเนินของ “ทุนสำรอง” มีจุดเริ่มต้นจากพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ที่แยกเก็บรักษาไว้ใน “คลังหลวง” และได้รับการสืบทอดเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่องยาวนานตามหลักธรรมว่าด้วยความไม่ประมาท ตามหลักโบราณราชประเพณี และตามหลักกฎหมายบ้านเมืองอย่างเข้มงวดกวดขัน และด้วยหลักการและเจตนารมณ์ที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบันเช่นนี้ ทำให้การดำรงรักษา “ทุนสำรองในคลังหลวง” เมื่อครั้งอดีตได้สืบสายทางต่อเนื่องกันมาจนกระทั่งเป็น “ทุนสำรองเงินตรา ฝ่ายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย” ในสมัยปัจจุบัน จึงไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด จึงกล่าวได้ว่า พระมหาบูรพกษัตริย์และบรรพบุรุษท่านได้วางรากฐานทางเศรษฐกิจของชาติไว้อย่างมีแบบฉบับ และมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนตลอดมาว่า ท่านจัดตั้งทุนสำรองในคลังหลวงขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันชาติ เป็นทุนสำรองก้อนสุดท้ายของชาติเผื่อไว้ในยามฉุกเฉิน และเพื่อสะสมเพิ่มพูนไว้อย่างมั่นคงเป็นมรดกตกทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ท่านประสงค์ให้ลูกหลานไทยช่วยกันดูแลรักษาและเพิ่มพูนทุนสำรองของชาติให้มีความแน่นหนามั่นคง โดยมิให้นำไปปะปนกับทรัพย์อื่น และแม้นว่าประเทศจะผ่านวิกฤตต่างๆ มีการตราและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการคลังมาแล้วนับไม่ถ้วนครั้ง ทุนสำรองในคลังหลวง ก็ได้รับการดูแลรักษาและเก็บสะสมเรื่อยมาโดยไม่ถูกแตะต้องหรือแปรเปลี่ยนหลักการนี้ให้ผิดไป
การจะนำสินทรัพย์ในคลังหลวงออกมาใช้ในแต่ละครั้ง จึงต้องเป็นไปเพื่อกอบกู้วิกฤต เป็นไปเพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ หรือเป็นไปเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ส่วนรวมให้ประเทศอยู่อย่างมั่นคงและสงบสุขเท่านั้น ท่านไม่ประสงค์ให้บุคคลใด คณะบุคคลใด หรือองค์กรใดเข้ามายึดถือเอาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ท่านประสงค์ให้สมบัติกองนี้เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของคนไทยทั้งแผ่นดิน และมุ่งหวังให้เป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลานในภายหน้าเป็นสมบัติคู่ชาติบ้านเมืองเป็นการถาวร จึงจะสมดังเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ และแนวการปฏิบัติที่ท่านได้ปฏิบัตินำทางมาแต่โบราณ จนประจักษ์ชัดแล้วว่าเป็นสายทางดำเนินที่สมควรสืบทอดต่อไปนานเท่านานเพื่อการดำรงอยู่ชาติของสืบไป
แผนภูมิแสดงลำดับการเก็บรักษา“ทุนสำรองในคลังหลวง”ตามราชประเพณีจนกระทั่งเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร
|