๑๒ ระบบการเงินไทย ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ |
สืบเนื่องจากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ไทยถูกชาติจักรวรรดินิยมตะวันตกบีบบังคับให้จำต้องลงนามในสนธิสัญญาไม่เสมอภาคมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลที่ ๖ ทำให้ชาติตะวันตกเหล่านั้นมีสิทธิเหนือไทยหลายประการ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ รัฐบาลไทยสามารถเจรจาทำสนธิสัญญาแบบเสมอภาคกับชาติเหล่านั้นได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งไม่เป็นธรรมต่อไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยสหรัฐอเมริกาเป็นชาติแรกที่ได้แสดงไมตรีจิตต่อไทย หลังจากนั้นไทยก็ได้เปิดการเจรจากับประเทศอื่นๆ ต่อไป คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ทำให้ไทยได้อิสรภาพมีฐานะเป็นประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์ทางด้านการศาลและการภาษีศุลกากรกลับคืนมาอย่างเต็มที่ เกี่ยวกับเงินตราของไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้นได้ผูกโยงอยู่กับเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษมาเป็นเวลาช้านาน เมื่อเกิดสงครามในยุโรปขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงยังไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องตัดเงินบาทขาดจากปอนด์สเตอร์ลิง โดยเฉพาะในระยะนั้นไทยยังมิได้เกี่ยวข้องกับการสงคราม และได้รับประโยชน์เป็นอันมากจากการค้าข้าวให้แก่จักรภพอังกฤษ แต่ถึงอย่างนั้นรัฐบาลก็มิได้ตั้งอยู่ในความประมาท เนื่องจากเห็นว่าการเก็บทุนสำรองเงินตราโดยฝาก ธนาคารอังกฤษไว้ในอังกฤษทั้งหมดในรูป “ปอนด์สเตอร์ลิง” เป็นการเสี่ยงภัยในยามที่โลกอยู่ในสภาวะสงคราม จึงกระจายทุนสำรองเงินตราไปเก็บไว้ในที่ต่างๆ ปรากฏตามตัวเลขเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ว่า มีทุนสำรองเงินตราเก็บไว้ใน · ประเทศสหรัฐอเมริการ้อยละ ๑๒ และรัฐบาลยังคาดคะเนอีกว่าเงินปอนด์จะลดค่าลง จึงนำเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองจำนวนหนึ่งซื้อ “ทองคำ” เป็นจำนวนน้ำหนักประมาณ ๑ ล้านออนซ์ (๓๕ ล้านกรัม) ในราคาประมาณออนซ์ละ ๓๕ ดอลลาร์สหรัฐ มาเก็บไว้ที่ห้องนิรภัยของกระทรวงการคลังในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งต่อมาราคาทองคำมีราคาสูงขึ้น รัฐบาลได้ดำเนินงานโดยใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงส่วนหนึ่งที่ฝากไว้ที่อังกฤษ ซื้อทองคำในกรุงลอนดอนแล้วขนทองคำแท่งดังกล่าวเข้ามาเก็บไว้ในเมืองไทย และโอนเงินปอนด์สเตอร์ลิงจากกรุงลอนดอนไปสหรัฐอเมริกาเพื่อแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ และซื้อทองคำแท่งฝากไว้ในสหรัฐอเมริกา ๒ คราว และยุบหลอมเหรียญบาทที่เป็นเงิน แล้วส่งเงินแท่งดังกล่าวนี้ไปขายในสหรัฐอเมริกาได้เป็นมูลค่าประมาณ ๙.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังจัดซื้อทองคำอีกจำนวนหนึ่งจากเหมืองทองคำในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาเกิดขึ้นในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ รัฐบาลไทยจึงมีทุนสำรองเงินตราที่เป็นทองคำ ดอลลาร์สหรัฐและปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งรวมแล้วเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ ๘๗ ของธนบัตรที่ออกใช้ในขณะนั้นประมาณ ๒๗๕ ล้านบาทเศษ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๑๓ เป็นเหรียญเงินที่ยังตกค้างอยู่ที่กระทรวงการคลังมูลค่าประมาณ ๓๕ ล้านบาท ด้วยการคาดการณ์ที่ถูกต้องของรัฐบาลครั้งนั้น จึงสามารถป้องกันทรัพย์สินของชาติในต่างประเทศไว้ได้ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นในทวีปยุโรป แม้ว่าผลของสงครามในระยะแรกจะไม่กระทบกระเทือนถึงประเทศไทยก็ตาม แต่รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการที่จะจัดตั้ง
วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะฮ่องกง และเมืองโคตาบารูทางเหนือของมลายูอย่างรุนแรงและฉับพลันโดยมิได้ประกาศสงครามล่วงหน้า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่ ๒ แผ่ขยายเข้ามาในทวีปเอเซียจนกลายเป็นสงครามมหาเอเชียบูรพา วันถัดมา กองทัพญี่ปุ่นยกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก และทางใต้ เพื่ออาศัยเป็นฐานทัพเข้ายึดครองประเทศข้างเคียงที่เป็นอาณานิคมของชาติคู่สงคราม ในเวลาเดียวกันเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้เจรจากับรัฐบาลขอให้กองทัพญี่ปุ่นยาตราทัพผ่านประเทศ โดยรับรองจะเคารพเอกราชและอธิปไตยของไทย รัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถเลือกปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ จึงต้องยินยอมตามคำขอ ดังนั้นในวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงได้มีการลงนามใน กติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำให้ประเทศไทยต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในสงคราม ต่อมาฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงต้องประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ หลังจากญี่ปุ่นตั้งฐานทัพในประเทศไทย ได้เสนอให้รัฐบาลไทยปรับปรุงค่าแลกเปลี่ยนของเงินทั้งสองประเทศใหม่ โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ๑๐๐ บาท ต่อ ๑๐๐ เยน ซึ่งเป็นการกำหนดค่าเงินบาทให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ส่วนการชำระเงินระหว่างสองประเทศให้ชำระด้วยเงินเยน ซึ่งรัฐบาลจำต้องยอมรับโดยปริยาย เพราะภาวะสงครามขณะนั้นบังคับมิให้มีการค้าขายติดต่อกับประเทศอื่นใดอีกเว้นแต่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดตั้งธนาคารกลางขึ้น โดยให้มีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยต่างๆ เป็นชนชาติญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นสำนักงานธนาคารชาติไทยเพิ่งดำเนินการได้เพียงปีเศษ ในข้อนี้รัฐบาลมิได้ยอมรับในทันที เพราะจะเท่ากับว่ายอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมการเงินและเครดิตของไทยโดยตรง อันเป็นความประสงค์ของญี่ปุ่นในขณะนั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาอิสรภาพและเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และป้องกันมิให้ความประสงค์ของญี่ปุ่นเป็นผลสำเร็จ รัฐบาลจึงตัดสินใจจัดตั้ง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ขึ้นอย่างรีบเร่ง โดยเปลี่ยนฐานะของสำนักงานธนาคารชาติไทยขึ้นเป็น “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ พร้อมบรรจุเฉพาะพนักงานที่เป็นคนไทยได้ครบทุกตำแหน่ง มิให้มีคนต่างชาติเข้ามาคุมงานในด้านใดเลย เป็นการแสดงให้เห็นว่าคนไทยสามารถดำเนินงานธนาคารกลางได้ด้วยตนเอง |
< ก่อนหน้า | ถัดไป > |
---|