๒๕ แนวคิดออกกฎหมายรวมบัญชี ๒๕๔๓ |
ในอดีตพระมหาบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าทรงก่อตั้ง “ทุนสำรอง” ขึ้นโดยแบ่งเงินออกมาจาก “คลังหลวง” ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นหลักประกันของชาติในการติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติ และเพื่อสำรองไว้ในยามจำเป็น พระองค์จึงทรงเก็บรักษาไว้เป็นกรณีพิเศษ มิให้ปะปนกับทรัพย์อื่นใดในแผ่นดินทั้งสิ้น หลักการและเจตนารมณ์ดังกล่าวได้รับการสืบทอดมาอย่างเคร่งครัด รุ่นแล้วรุ่นเล่า ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว บรรพบุรุษท่านก็พากันดำเนินตามหลักการนี้เช่นกัน กฎหมายทุกฉบับที่ตราไว้ล้วนแล้วแต่รองรับหลักการและเจตนารมณ์นี้ ถึงขนาดที่ว่า เกิดวิกฤตการณ์บ้านเมืองหลายต่อหลายครั้ง ท่านก็ไม่เคยเข้ามาแตะต้องหรือทำลาย “คลังหลวง” ให้แปรเปลี่ยนไป กล่าวได้ว่า ท่านใช้ความไม่ประมาทเป็นหลักธรรมในการปกครองประเทศ ท่านจึงเห็นความสำคัญของ “คลังหลวง” และดูแลรักษา “คลังหลวง” เป็นกรณีพิเศษ มาในระยะหลัง ความคิดเห็นของคนยุคนี้เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มดูถูกความคิดของบรรพชนว่าล้าหลังคร่ำครึ การเก็บเงินเก็บทองทำให้จม ไร้คุณค่า ไม่จำเป็นต้องเก็บสินทรัพย์ไว้มากเป็นการเสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทน ควรนำไปแสวงหาประโยชน์ หรือไม่ก็กล่าวถึงขนาดว่า ไม่จำเป็นต้องมี “ทุนสำรอง” ก็ได้ ไม่มีความจำเป็นอะไร ฯลฯ ความรู้สมัยใหม่ที่ไม่เท่าทันเหล่านี้เริ่มก้าวล่วงเข้ามาทำลายหลักการและเจตนารมณ์ของ “คลังหลวง” เข้าไปทุกทีแล้ว ประหนึ่งว่าการสะสมเงินทองไว้นั้นไม่มีคุณค่าอะไรเลย คนกลุ่มนี้ดูถูกเงินจำนวนน้อยๆ โดยเฉพาะหากใครพยายามเก็บเล็กผสมน้อย คนกลุ่มนี้จะดูถูกว่าไร้สาระและมองเงินจำนวนน้อยนี้ว่าเป็นเงินไร้ค่าทันที มักจะพูดแบบนักวิชาการผู้ฉลาดปราชญ์เปรื่องว่า เงินแค่น้อยนิดนี้จะทำอะไรได้ แต่ก็น่าประหลาดใจที่ในขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้มักเห็นพ้องต้องกันว่า ควรเข้าไปล้วงเอาเงินใน “คลังหลวง” ออกมาใช้ และอ้างว่าไม่ควรเก็บไว้เฉยๆ เพราะได้ดอกผลน้อยเกินไป ถ้าเอาไปลงทุนจะได้กำไรดีกว่านี้ ทั้งๆ ที่ก็ทราบกันดีว่าเงินใน “คลังหลวง” จำนวนมากจนอยากได้นี้แรกเริ่มเดิมทีก็เกิดจากเงินจำนวนน้อยที่ค่อยสะสมกันมาแบบมีวินัยไม่ให้ใครมาแตะต้องจนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นๆ ทำให้เงินบาทเรามั่นคงอยู่ได้ก็จากเงินคลังหลวงนี้เป็นสำคัญ ความคิดดังกล่าวเหมือนกับการไม่ยอมรับในกฎอนิจจังตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงไม่เคยคิดอีกด้านหนึ่งบ้างว่า หากเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ให้ผลลัพธ์เป็นตรงกันข้ามขึ้นมาแล้วอาจทำให้ชาติล้มละลายในทันทีได้หรือไม่ หากใครคิดแบบนี้เขาเหล่านั้นจะดูถูกเพราะเขาคิดเป็นอย่างเดียวว่า “ไม่มีทาง เอาไปลงทุนแล้วต้องได้ ได้” ไม่เคยคิดว่า ถ้าผลไม่เป็นเช่นนั้นแล้วจะเสียหายหรือไม่ หรืออาจถึงขั้นจมเลยก็เป็นได้ ดังตัวอย่างคราว “วิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐” ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนี้ “ไม่ควรเก็บไว้เฉยๆ ทำให้เงินจมเปล่าๆ ควรเอาไปลงทุนให้ได้ดอกผลมากกว่านี้ สมัยนี้เขาไม่เก็บทุนสำรองกันแล้ว เขาเอาไปทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่เสี่ยง ปลอดภัย ดอกผลดีกว่า ฯลฯ” คนที่คิดในลักษณะนี้จะพยายามใช้ศัพท์เทคนิคและเหตุผลทางวิชาการสารพัดอย่าง และดูถูกว่าคนที่ปฏิบัติตามแนวทางของบรรพบุรุษเป็นคนไม่รู้วิชาการ คร่ำครึ หลักวิชาสมัยใหม่เขาไม่เก็บรักษาไว้แล้ว ทองคำก็ไม่ต้องเก็บ ทุนสำรองก็ไม่ต้องเก็บ หากเก็บก็ไม่ต้องมีมาก ฯลฯ คนกลุ่มนี้ไม่มีความพากเพียรเหมือนบรรพบุรุษ ไม่รู้จักเก็บออมเพื่อวันหน้า ดูถูกการเก็บ ดูถูกบรรพบุรุษ คนประเภทนี้หาเงินด้วยตัวเองไม่เป็น ทำเป็นอย่างเดียวคือการใช้เงิน และมักเอาเงินผู้อื่นมาใช้ ซึ่งทำให้ประชาชนอดคิดไม่ได้ว่า ไม่มีปัญญาหาเงินมาเองหรือ ถ้าอยากใช้อยากลงทุนให้ได้ดอกผลอย่างที่พูดไว้ก็ใช้สติปัญญาที่ร่ำเรียนมาหาเงินเองไม่ได้หรือ และเงินที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงตนเองนี้จะเอาไปลงทุนที่ใดที่คิดว่าจะได้กำไรสูง ประชาชนก็จะไม่ว่าอะไร มีแต่จะอนุโมทนายินดีด้วย ในทางตรงข้าม คนกลุ่มนี้มีแต่จ้องจะเข้ามาเอาเงินของบรรพบุรุษไปใช้ ไปลงทุน ที่ถูกต้องแล้วควรปฏิบัติตามแนวทางของบรรพบุรุษด้วยการเก็บหอมรอมริบทีละน้อยไปเรื่อยอย่างมั่นคง ให้รู้ว่าเงินที่ควรใช้อยู่ที่ใด หน่วยงานใด ให้รู้ว่าเงินที่ควรเก็บรักษาอยู่ที่ใด หน่วยงานใด ให้รู้จักแยกแยะตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง อย่าใช้วิชาความรู้แบบคับแคบไม่ดูความเป็นมาให้รอบด้าน อย่าใช้วิชาความรู้ด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือด้วยทิฎฐิมานะ เมื่อดำเนินตามแนวทางแห่งความไม่ประมาทเช่นนี้ แม้ชาติจะเผชิญวิกฤตการณ์หนักหนาเพียงใดก็ย่อมจะมีหนทางออกให้ปัญหาเหล่านั้นผ่านพ้นไปได้อย่างปลอดภัยแนวความคิดดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นการปล้นเอาสมบัติผู้อื่นโดยขาดความเคารพขาดความกตัญญูรู้คุณท่านแล้ว ยังบ่งบอกถึงการใช้หลักวิชาการเงินการคลังที่ผิดธรรม เนื่องจากไม่ตระหนักถึงความจำเป็นของชาติที่ต้องเก็บรักษาทรัพย์ของแผ่นดินสำรองไว้ใช้ในยามคับขันจึงเป็นแนวคิดที่ประมาทและจะนำพาชาติสู่ความหายนะได้ในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน ความพยายามในการตรากฎหมายรวมบัญชี
|
< ก่อนหน้า | ถัดไป > |
---|