ลืมรหัสผ่าน?
  • Narrow screen resolution
  • Wide screen resolution
  • Auto width resolution
  • Increase font size
  • Decrease font size
  • Default font size
  • default color
  • red color
  • green color
Home arrow คลังหลวงแห่งประเทศไทย ตอนที่ 2 arrow ๓๗ บทสรุป คลังหลวงแห่งประเทศไทย
๓๗ บทสรุป คลังหลวงแห่งประเทศไทย PDF พิมพ์ อีเมล์

 tp1.jpg

๓๗บทสรุปคลังหลวงแห่งประเทศไทย              จากประวัติศาสตร์ชาติไทย บูรพมหากษัตริย์และบรรพบุรุษท่านต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการกว่าจะวางรากฐานบ้านเมือง ให้ลูกหลานได้อยู่อย่างผาสุกร่มเย็นตลอดมาจนทุกวันนี้ ท่านต้องยอมพลีชีพ พลีทรัพย์สินเงินทอง พลีครอบครัวเหย้าเรือน เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายออกไปต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้      ท่านต้องเพียรเสาะแสวงหารายได้เพื่อนำมาพัฒนาบ้านเมือง ทรัพย์สมบัติที่หามาได้ท่านก็รู้จักใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลและมีประมาณ ไม่เคยปรากฏว่าท่านได้ก่อหนี้สินพะรุงพะรังให้ลูกหลานที่เกิดมาภายหลังต้องแบกหามภาระอันหนักหนา หรือต้องมาทนทุกข์ยากลำบากเพราะท่าน มิเพียงเท่านั้น ท่านยังพอใจที่จะตัดแบ่งทรัพย์ โดยแยกเก็บสะสมไว้เป็นทุนสำรองแก่ลูกหลานในวันหน้า และเก็บรักษาไว้อย่างต่อเนื่องยาวนานโดยพระมหากษัตริย์ตามหลักโบราณราชประเพณี          ในยามวิกฤตไม่มีทางออกลูกหลานก็ได้อาศัยทุนสำรองที่บรรพบุรุษเก็บสะสมไว้มาช่วยไถ่ถอนบ้านเมือง ดังเช่นเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งต้องยอมสละ เงินถุงแดง ที่เก็บไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ยาวนานถึงรัชกาลที่ ๕ และยังต้องสละเงินทองบริจาคของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชบริพาร รวมเป็นเงินเหรียญทองจำนวนมากถึง ๘๐๑,๒๘๒ เหรียญ มีน้ำหนักมากถึง ๒๓ ตัน จึงสามารถระงับดับไฟให้ผ่านพ้นจากสยามประเทศได้           
สรุปภาวะวิกฤตการณ์ของประเทศไทย
เหตุการณ์ ชาติที่รุกราน วิธีการ กอบกู้คืนโดย ระยะเวลาวิกฤต
เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ พม่า กำลังทหาร พระนเรศวรมหาราช ๑๕ ปี
เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พม่า กำลังทหาร พระเจ้าตากสินมหาราช ๗ เดือน
หวุดหวิดเสียเอกราช ฝรั่งเศส คุมคามและกำลังเรือรบ เงินถุงแดงตั้งแต่รัชกาลที่ ๓และเงินบริจาคสมัยรัชกาลที่ ๕ ๔๘ ชั่วโมง
หวุดหวิดเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่น คุกคามและกำลังอาวุธ ขบวนการเสรีไทย ๔ ปี
วิกฤตเศรษฐกิจพ.ศ. ๒๕๔๐ ทุนข้ามชาติโดยอาศัยความฟุ้งเฟ้อของคนไทย ทุนต่างชาติโจมตีค่าเงินบาทจนตกต่ำจาก ๒๕ เป็น ๕๖ บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เพราะมีคลังหลวงจึงช่วยพยุงค่าเงินบาทไม่ให้กลายเป็นเศษกระดาษ  
จำยอมทำสนธิสัญญาขายชาติเพราะกู้ IMF ความสามัคคีของคนไทย ส่วนหนึ่งจากโครงการช่วยชาติ ๖ ปีใช้หนี้คืนIMF 
เกิดหนี้กองทุนฯ จำนวนมหาศาล ดอกผลคลังหลวง ๒๐-๓๐ ปีใช้หนี้หมด
          จากนั้นท่านก็เริ่มเก็บหอมรอมริบขึ้นใหม่โดยกันพระราชทรัพย์ในคลังหลวงตั้งเป็นทุนสำรองในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ และก็เพิ่มเติมอีก ๑๒ ล้านบาทในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระองค์ทรงเก็บรักษา ทุนสำรองแผ่นดิน อย่างเข้มงวดโดยตรากฎหมายไว้มิให้ปะปนกับสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยเป็นกรณีพิเศษ ใช้เป็นหลักประกันชาติ เป็นทุนสำรองก้อนสุดท้ายของชาติเผื่อไว้ในยามฉุกเฉิน และเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลานภายภาคหน้า           ตลอดเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้ประเทศจะอยู่ในภาวะสงคราม หรือเกิดวิกฤตการณ์รุนแรงเพียงใด หรือถูกเบียดเบียนและคุกคามจากต่างชาติอันเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างยิ่งก็ตาม ก็ยังมิเคยปรากฏสักครั้งว่าบูรพมหากษัตริย์และบรรพบุรุษ ท่านได้แปรเปลี่ยนหลักการและเจตนารมณ์ของ ทุนสำรองแผ่นดิน กองนี้ให้ผิดไป ท่านดำรงรักษาหลักการและเจตนารมณ์นี้ไว้อย่างมั่นคง และยังได้รับการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน           แม้จะตรากฎหมายผ่านไปแล้วนับสิบฉบับ ตั้งแต่กฎหมายตราสามดวงสมัยอยุธยา, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น, พ.ร.บ.เงินกระดาษหลวง ร.ศ. ๑๑๒, พ.ร.บ.ธนบัตรสยาม ร.ศ. ๑๒๑, พ.ร.บ.มาตราทองคำ ร.ศ. ๑๒๗, พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. ๒๔๗๑, พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ กระทั่งถึง พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑ ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน          แม้จะเรียกนามของ ทุนสำรองแผ่นดิน แตกต่างกันไป เช่น ทุนสำรองในคลังหลวง, เงินถุงแดง, ทุนสำรองธนบัตร, ทุนสำรอง กระทั่งถึง ทุนสำรองเงินตรา ในปัจจุบัน           แม้จะเรียกนามของหน่วยงานที่ดูแลรักษา ทุนสำรองแผ่นดิน แตกต่างกันไป·       นับแต่โบราณมีการเก็บรักษาใน คลังหลวง และรัชกาลที่ ๓ ทรงเพิ่มทุนสำรองโดยพระราชทาน เงินถุงแดง·   รัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริจะให้กรมเก็บเป็นผู้ดูแลรักษาแต่ไม่เป็นผลเพราะเกิดเหตุการณ์ รศ.๑๑๒ เสียก่อน ต่อมาก็ให้ดูแลรักษาโดย กรมธนบัตร·       รัชกาลที่ ๗ เปลี่ยนชื่อเป็น กรมเงินตรา และ กองเงินตรา ตามลำดับ·       รัชกาลที่ ๘  โอนงานให้ ฝ่ายออกบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแลรักษาจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า กว่าร้อยปีที่ผ่านมามีการปรับปรุงกฎหมาย เปลี่ยนแปลงนามและหน่วยงานที่ดูแลรักษาทุนสำรองแผ่นดินหลายวาระด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ตลอดจนบรรพบุรุษทุกยุคสมัยท่านไม่เคยแปรเปลี่ยนไปและยังดำรงรักษาไว้อย่างเหนียวแน่นมั่นคงตลอดกาล ก็คือหลักการและเจตนารมณ์ของความเป็น ทุนสำรองแผ่นดิน นั่นเอง ประวัติความเป็นมาของคลังหลวงดังกล่าวนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของคลังหลวงในการเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ และการกอบกู้ชาติบ้านเมืองในยามวิกฤตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ยิ่งต้องคำนึงถึงหลักประกันที่มั่นคงของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น อาหาร ยารักษาโรค เชื้อเพลิง เป็นต้น เฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งรวมถึงเสถียรภาพทางการคลังและการเงินก็จำเป็นต้องประคับประคองรักษาให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

การมีอยู่ของคลังหลวงเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ในรูปแบบของการออมของประเทศ และในรูปแบบเงินทุนสำรองสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน หรือในสภาวะวิกฤตที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศชาติ บทบาทของคลังหลวงในฐานะเป็นภูมิคุ้มกันของประเทศนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และยิ่งชัดเจนมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งบรรพบุรุษของพวกเราได้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า p37.1.jpgแม้แต่ประเทศชาติก็ต้องมีเงินก้อนเก็บไว้ใช้ในคราววิกฤตจำเป็น และไม่สมควรที่จะนำออกมาใช้โดยไม่มีเหตุผล

 เหตุผลหลักของการต้องมีคลังหลวง หรือสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราของประเทศก็เพราะการดำรงอยู่ของคลังหลวงจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ทำให้เงินบาทมีค่า หรือมีเครดิตเป็นที่ยอมรับกันทั้งในและต่างประเทศ แต่การจะรักษาเครดิตหรือมูลค่าของเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือมีเสถียรภาพอย่างพอเพียงนั้น จำเป็นต้องมีการดูแลรักษาระดับปริมาณของสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา ให้มีความสมดุลกับปริมาณเงินที่ใช้หมุนเวียนภายในประเทศ และจำเป็นต้องมีระบบการดูแลรักษาที่สร้างความไว้วางใจให้แก่สาธารณชนได้ว่า จะสามารถรักษาเครดิตของเงินบาทให้มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องได้ โดยไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยต่อการถูกหยิบนำออกมาใช้ได้โดยง่าย อย่างไม่สมเหตุสมผล ผิดต่อเจตนารมณ์ของการก่อตั้งและสะสมคลังหลวงมาแต่โบราณ กล่าวคือ การที่จะรักษามูลค่าของเงินบาทให้คงที่อย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่ารักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่สมดุล พอเหมาะ พอประมาณกับปริมาณจำนวนเงินที่ใช้จ่ายหมุนเวียนภายในประเทศ ในแต่ละช่วงเวลา ถ้ามีปริมาณเงินไหลเวียนมาก เงินทุนสำรองเงินตราก็จะต้องมีปริมาณมากเพียงพอที่จะรักษาค่าของเงิน เพราะถ้าทุนสำรองเงินตรามีปริมาณน้อยเกินไป ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นในค่าเงินลดลง และอาจนำไปสู่การลดต่ำลงของค่าเงินในที่สุด ฉะนั้น สินทรัพย์ในคลังหลวงจึงทำให้ธนบัตรเงินบาทเป็นของมีค่า เป็นที่ยอมรับในสังคมว่าสามารถนำไปใช้หนี้ตามกฎหมายได้ อย่างไรก็ดี การรักษาความเชื่อมั่นในคุณค่าที่เรายอมรับ หรือที่เรียกว่า เครดิตนี้ ในระยะยาวจะทำให้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศจำเป็นต้องพัฒนาระบบที่ดีและมั่นคงที่จะช่วยคุ้มครองและรักษาค่าของเงินให้มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง และไม่มีความเสี่ยงต่อการรับผลกระทบต่างๆ ซึ่งระบบที่จะคุ้มครองและรักษาค่าของเงินบาทที่ดี ก็คือ กลไก ขั้นตอน กระบวนการและกฎระเบียบกติกา ในการดูแลรักษาคลังหลวงหรือทุนสำรองเงินตรา ให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง รวมถึงการคัดสรรบุคลากรที่มีคุณภาพและคุณธรรมมาเป็นผู้ดูแลรักษา ซึ่งระบบนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีของการรักษามูลค่าหรือรักษาความมั่นใจในค่าของเงินบาท กล่าวคือ ต้องมีระบบการดูแลรักษาทุนสำรองเงินตราที่ทุกคนมั่นใจว่า ไม่มีช่องว่างรูโหว่ของระบบหรือกฎหมายที่เปิดโอกาสให้สามารถนำเงินนี้ไปใช้ได้อย่างง่ายดาย โดยขาดเหตุผลที่ดี บนพื้นฐานของความจำเป็นระดับวิกฤตของชาติตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติมา  ถ้าไม่มีระบบ กฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา ที่ดีเป็นเครื่องคุ้มกัน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ก็จะทำให้ฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายบริหารสามารถยื่นมือเข้ามานำสินทรัพย์ส่วนนี้ไปใช้ได้โดยง่าย ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงในการรักษาค่าของเงินบาท บุคคลทั่วไปเมื่อมองเห็นว่าระบบคุ้มครองค่าของเงินบาทมีความหละหลวม มีความเสี่ยงสูง ก็จะทำให้ไม่มีความเชื่อมั่นในค่าของเงินบาทว่าจะมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่องไปถึงอนาคต ซึ่งก็จะส่งผลสะท้อนมาถึงความมั่นใจของค่าของเงินบาทในปัจจุบันไม่ควรนำเงินออมหรือทุนสำรองในคลังหลวง มาใช้ในการบริหารประเทศ เพราะเงินออมเป็นส่วนของเงินที่ควรเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือเกิดวิกฤตจริงๆ เพื่อให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันที่ดี จะนำไปใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีวิกฤตจำเป็นจริงๆ การนำเงินที่เก็บออมไว้ในยามฉุกเฉิน ย้ายมาเข้าบัญชีฝ่ายบริหารหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากเพื่อความแน่นหนามั่นคงทางการเงินจึงเป็นการทำลายภูมิคุ้มกันของประเทศ เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามหลักเหตุหลักผล แต่หากจำเป็นต้องนำออกมาใช้เพื่อแก้วิกฤตของประเทศในยามฉุกเฉินจริงๆ และเมื่อนำเอาออกมาใช้แล้วก็ต้องหาทางนำมาใช้คืน เพื่อให้รักษาระดับเงินออมไว้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ด้วยเหตุที่ทุนสำรองเงินตราเป็นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ เริ่มก่อตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และได้รับการสืบทอดตามราชประเพณีพระมหากษัตริย์โดยแยกเก็บรักษาไว้ในคลังหลวง ประจวบกับเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน p37.2.jpgประกาศเจตนารมณ์อาสาเข้ามาช่วยกอบกู้บ้านเมืองโดยรับบริจาคเงินทอง เข้าหนุนคลังหลวงจนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ทำให้ คลังหลวง ตามคำเรียกของหลวงตามีความแน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น และ ดอกผลคลังหลวง ยังสามารถช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินชาติจำนวนมหาศาลให้พอมีทางออกได้โดยไม่กระทบต่อเอกราชของชาติเหมือนเมื่อครั้ง เงินถุงแดง ซึ่งเท่ากับว่า ทุนสำรองแผ่นดิน หรือ คลังหลวง ได้เข้ามากอบกู้สถานการณ์บ้านเมืองจนเป็นผลสำเร็จได้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้สายทางของ ทุนสำรองแผ่นดิน ในอดีต กับ คลังหลวง ในความหมายของหลวงตาในปัจจุบัน ได้ถูกหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันอย่างเหนียวแน่นจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้          การบริจาคเงินทองเข้าสู่ คลังหลวง ของหลวงตาและประชาชนทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จนกระทั่งปัจจุบัน จึงเป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงความรักความเสียสละและสามัคคีของชนในชาติ ตลอดจนเป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินรอยตามบรรพบุรุษเพื่อปกป้อง คลังหลวงจะรักษาหลักการและเจตนารมณ์ของ คลังหลวง อย่างมั่นคง เพราะคลังหลวงคือหัวใจของชาติ  สิ้นคลังหลวงก็เท่ากับสิ้นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้อง ๓ เสาหลักให้อยู่คู่ชาติคู่แผ่นดินตลอดไป เราชาวไทยต้องพร้อมใจกันพิทักษ์รักษา คลังหลวง ให้มีความมั่นคงถาวรสืบไป          สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นการแก้ปัญหาและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชาติได้อย่างแท้จริงคือ หลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันปัญหาในวันหน้าได้อีกด้วย อย่างเช่น ธรรมในบทที่ว่า  โภควิภาค ๔ ท่านสอนให้รู้จักจัดสรรทรัพย์ออกเป็นส่วน รู้จักว่าส่วนใดควรใช้ ส่วนใดควรลงทุน และส่วนใดพึงเก็บรักษาไว้ในยามจำเป็น มิให้สุรุ่ยสุร่าย และ ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔ ท่านสอนให้ขยันหมั่นเพียรในการงานชอบ รู้จักรักษาทรัพย์ไม่ให้เสื่อมสูญไป คบคนดีเป็นมิตร และมีประมาณในการกินอยู่ใช้สอย หลวงตาเมตตาแสดงธรรมp37.3.jpgเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจพี่น้องชาวไทยโดยกล่าวถึงสาเหตุแห่งความเสื่อมของชาติในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ ไว้ว่า ...ถ้าพิจารณาหาถึงความล่มจมใครมาทำให้เมืองไทยเราล่มจม มองไปที่ไหนชาติใหญ่ชาติโตที่ไหนเขาก็ไม่เคยมาเบียดเบียนทำลายชาติไทยของเราให้ล่มจม สุดท้ายก็คนไทยของเราเองทุกคนๆ มีแต่ผู้สร้างความล่มจมให้เจ้าของโดยความไม่รู้จักประมาณ ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม การอยู่การกินการใช้การสอยไม่รู้จักประมาณ ถือความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเป็นแนวหน้าก็กลายเป็นยักษ์มากินp37.4.jpg  บ้านกินเมืองของเรา สุดท้ายเมืองไทยก็จะจม นี่เกิดขึ้นเพราะคนไทยของเราทุกคนลืมตัว ให้พากันจำเอาไว้ ธรรมข้อนี้สำคัญมากนะ อย่าพากันลืมตัว มีมากมีน้อยการเก็บรักษาให้รู้จักวิธี การจับจ่ายให้มีเหตุมีผลพาจับจ่าย อย่าจ่ายแบบนิสัย..นิสัยนี้เป็นความฟุ้งเฟ้อติดตัวมาแล้วแต่ดั้งเดิม ธรรมะเป็นความรู้จักประมาณในการจับจ่ายใช้สอย การอยู่การกินให้รู้จักประมาณ อย่าพากันลืมเนื้อลืมตัว จะประคองตัวเอง ครอบครัวตัวเอง ตลอดส่วนรวมทั้งประเทศก็ได้ เพราะความรู้จักประมาณ นี่ละความรู้จักประมาณคือธรรม ถ้ารู้จักประมาณแล้วเป็นธรรม
ต่างคนต่างนับแต่หนึ่งถึงสองทั่วคนไทยทั้งประเทศ ๖๒-๖๓ ล้านคนเป็นคนเรียนวิชา รู้จักประมาณ ปฏิบัติตามหลักวิชา ความรู้จักประมาณด้วยความพอเหมาะพอดีทุกสิ่งทุกอย่าง  แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะค่อยดีขึ้นไป ดีขึ้นไป ก็เป็นอันกว่าเมืองไทยของเราฟื้นฟูเมืองตัวเอง เพราะเราเป็นคนจะทำให้บ้านเมืองของเราล่มจมเพราะความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ทีนี้ให้รู้จักประมาณเสร็จแล้วก็มาแก้ไขดัดแปลงตัวเองก็กลายเป็นคนดีขึ้นมา บ้านเมืองก็มีความสงบร่มเย็นเจริญรุ่งเรืองไม่เดือดร้อนมาก แล้วหันเข้าสู่ธรรมะ ธรรมะก็เป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจให้มีความสงบภายในใจอีก เป็นหลายขั้นหลายภูมิ ให้พากันนำไปปฏิบัตินะ...”

           หากประชาชนไทยสมัยปัจจุบันและลูกหลานในภายภาคหน้ายึดถือหลักธรรมดังกล่าวนี้ ตลอดจนช่วยกันรักษาหลักการและสืบทอดเจตนารมณ์ คลังหลวง ตามรอยบูรพกษัตริย์และบรรพบุรุษที่ท่านพาดำเนินไว้ดีแล้ว มาปรับใช้เป็นแนวทางในการดูแลรักษาชาติและสมบัติของชาติอย่างเคร่งครัด จักเป็นที่แน่ใจได้ว่า ชาติไทยเราจะสามารถฟันฝ่าวิกฤตการณ์ต่างๆ ไปได้อย่างมั่นคงปลอดภัย p37.5.jpgไม่มีภยันตรายใดๆ เข้ามาย่างกรายต่อเอกราชและอธิปไตยของไทยได้อีกต่อไป

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิต ด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี----------------

ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระราชทานในวโรกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำรัสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป

 พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เจ้าหัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในปี 2517 เกี่ยวกับการพออยู่พอกินซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงมีข้อความดังนี้คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขาจะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกินและขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งจิตอธิษฐานที่จะให้เมืองไทยอยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอดแต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้

ประเทศต่างๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวดทั้งในอำนาจทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้น ถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดและมีอิทธิพล มีหวังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

Website ที่เกี่ยวข้อง

 

ติดต่อ

www.luangta.com