ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ 3 นโยบายการเงินสำคัญที่รอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ |
กรุงเทพฯ 26 ธ.ค.- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้นโยบายการเงิน 3 เรื่องสำคัญที่รอรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งเข้ามาตัดสินใจ ทั้ง พ.ร.บ.เงินตรา, แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน แต่แนะการดำเนินนโยบายการเงินใด ๆ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า หลังการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา ผ่านพ้นไปด้วยดี และการเมืองไทยกำลังก้าวย่างเข้าสู่จังหวะที่จะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติคงจะจับตามองการฟอร์มรัฐบาลใหม่ และนโยบายการบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดว่าจะสามารถนำพาเศรษฐกิจประเทศให้เฟื่องฟูขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่สำคัญและหลายฝ่ายให้ความสนใจคือ นโยบายที่มุ่งแก้ประเด็นปัญหาทางการเงินของประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายทางการเงินและความชัดเจนด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ในส่วน พ.ร.บ.เงินตรา สมควรจะได้รับการหยิบยกขึ้นมาปรับปรุงอีกครั้ง เพื่อเพิ่มศักยภาพของทางการไทยในการจ่ายชำระคืนหนี้พันธบัตรที่กระทรวงการคลังออกเพื่อชดเชยความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลควรสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณะควบคู่กับการหาทางออกที่ประนีประนอม เพื่อให้การปรับปรุงกฎหมายในรอบนี้เป็นที่ยอมรับและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุดนอกจากนี้ แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 แม้ยังไม่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ เพราะยังอยู่ระหว่างการจัดทำ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินดังกล่าว เนื่องจากเป็นการเตรียมความพร้อมให้ระบบสถาบันการเงินไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐน่าจะหยิบยกเรื่องการเปิดเสรีภาคการเงินขึ้นมาเจรจากับไทยอีกครั้งหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปี 2551 และรัฐบาลใหม่ควรให้น้ำหนักกับการเพิ่มความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินไทย ขณะที่นโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่า ธปท.ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจเป็นบันไดไปสู่การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 และอาจช่วยผ่อนคลายแรงกดดันทางสังคมต่อนโยบายดังกล่าวลงได้บ้าง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงจะให้ความสนใจกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเป็นอันดับต้น ๆ และในที่สุดแล้วมาตรการกันสำรองคงจะต้องถูกยกเลิกไป แม้มาตรการดังกล่าวจะมีผลช่วยยับยั้งการแข็งค่าและสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นมาตรการชั่วคราว อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนของประเทศในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในการยกเลิกมาตรการดังกล่าว รัฐบาลใหม่ควรคำนึงถึง 3 เงื่อนไขหลักอย่างรอบคอบ คือการหาจังหวะเวลาที่เหมาะสม การส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับตลาด รวมทั้งการสรรหามาตรการที่มีประสิทธิภาพมารองรับ โดยสรุปเนื่องจากในปี 2551 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยจะต้องพึ่งพิงแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและลงทุนในประเทศมากขึ้น หลังจากที่ภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจากปัญหาสินเชื่อซับไพร์ม จึงทำให้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งพลิกฟื้นความเชื่อมั่น ซึ่งอาจนำมาสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะนโยบายด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่กำลังอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในปัจจุบัน การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.เงินตรา การยกขีดความสามารถของระบบสถาบันการเงินไทย ภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ตลอดจนการเพิ่มความชัดเจนด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ยังควรตระหนักว่าในปัจจุบันก็มีสถาบันหรือองค์กรทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและติดตามนโยบายเหล่านั้น อีกทั้งได้มีการวางแนวทางในการพัฒนาสถาบันการเงิน รวมทั้งตลาดเงิน ตลาดทุนในอนาคต หรือ Road Map อยู่แล้ว ดังนั้น การดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐบาลจึงควรจะต้องรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน ตลอดจนนักลงทุนโดยรวมทั้งในและนอกประเทศ.-สำนักข่าวไทย |
< ก่อนหน้า | ถัดไป > |
---|