กฎหมายและนโยบายทางการเงิน...โจทย์สำคัญที่รัฐบาลใหม่ไม่ควรมองข้าม (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2094) |
|
|
|
หลังจากการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมาผ่านพ้นไปด้วยดี และการเมืองไทยกำลังก้าวย่างเข้าสู่จังหวะที่จะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เข้ามาบริหารประเทศ ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนว่า ประชาชนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ คงจะจับตามองทั้งการฟอร์มรัฐบาลใหม่ และนโยบายการบริหารประเทศในด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด ว่าจะสามารถนำพาเศรษฐกิจประเทศให้เฟื่องฟูขึ้นได้หรือไม่ ... เพียงใด
เนื่องจากในปี 2551 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทย จะต้องพึ่งพิงแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและลงทุนในประเทศมากขึ้น หลังจากที่ภาคการส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากปัญหาสินเชื่อซับไพร์ม ดังนั้น จึงทำให้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งพลิกฟื้นความเชื่อมั่น ซึ่งอาจนำมาสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะนโยบายด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่กำลังอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ โจทย์ด้านนโยบาย ที่อาจถือเป็นหนึ่งในการบ้านสำคัญของรัฐบาลใหม่ คือ การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.เงินตรา การยกขีดความสามารถของระบบสถาบันการเงินไทยภายใต้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่สอง ตลอดจน การเพิ่มความชัดเจนด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการต่างๆ ดังกล่าว รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบจากการออกมาตรการ/นโยบายใหม่ให้ถี่ถ้วนและรอบคอบ ภายใต้หลักและเหตุผลทางวิชาการที่ชัดเจน นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ยังควรตระหนักว่า ในปัจจุบัน ก็มีสถาบัน หรือองค์กรทางการเงินต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและติดตามนโยบายเหล่านั้น อีกทั้งได้มีการวางแนวทางในการพัฒนาสถาบันการเงิน รวมทั้ง ตลาดเงิน ตลาดทุนในอนาคต หรือ Road Map อยู่แล้ว ดังนั้น การดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลจึงควรจะต้องรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน ตลอดจน นักลงทุนโดยรวมทั้งในและนอกประเทศ
|