ลืมรหัสผ่าน?
  • Narrow screen resolution
  • Wide screen resolution
  • Auto width resolution
  • Increase font size
  • Decrease font size
  • Default font size
  • default color
  • red color
  • green color
Home arrow ข่าวจากสื่อ arrow น้ำหมากมนต์ โดย สิริอัญญา
น้ำหมากมนต์ โดย สิริอัญญา PDF พิมพ์ อีเมล์

fire.jpgคอลัมน์ประจำคอลัมน์หนึ่งในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งได้ประชดประชันหลวงตาพระมหาบัวมาโดยลำดับ เพราะคงจะคิดว่าทำให้พระเสียอกเสียใจ หรือทำให้รัฐมนตรีสบายอกสบายใจ ได้เขียนบทความประจำวันที่  ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๓ ตำหนิติเตียนหลวงตาพระมหาบัวค่อนข้างจะรุนแรง

         ดังนั้น แม้ว่าคอลัมน์นี้มิได้มีความประสงค์ที่จะโต้แย้งใด ๆ กับชาวหนังสือพิมพ์แต่มาครั้งนี้จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นอย่างหนึ่ง และเพื่อให้สติคนไทยเพื่อระลึกถึงบาปบุญคุณโทษและผิดถูกชั่วดี ดังนั้น หากจะมิต้องด้วยความเห็นอันถูกใจแล้วก็จงอภัยให้แก่กันเถิด               

          บทความดังกล่าวได้ระบุว่า หลวงตาพระมหาบัวเป็นคนดื้อรั้น ไม่ฟังเหตุผลไม่ฟังผล ใช้น้ำหมากมาละเลงให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีบางคนเปรอะเปื้อน และยังยกอุปมาว่าเงินบริจาคช่วยชาตินั้นเหมือนกับข้าวเปลือกถังเล็ก ๆ ถังหนึ่ง ครั้นเอาไปใส่ไว้ในยุ้งฉางแล้วก็ห้ามไม่ให้ใช้ข้าวเปลือกนั้นอีกต่อไป

          ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า หลวงตาพระมหาบัวนั้นมิใช่คนห่มผ้าเหลืองธรรมดา แต่เป็นพระอริยสงฆ์ที่ผู้คนทั้งประเทศได้แลได้เห็นกันมาเป็นเวลานาน และเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อถือศรัทธาของมหาชน ตั้งแต่คนยากจนสิ้นไร้ไม้ตอกไปจนถึงระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ดังนั้น การจะตำหนิติเตียนอะไรกันก็น่าจะได้ยับยั้งชั่งใจหรือยั้งคิดกันบ้าง               
         อย่างน้อยที่สุดท่านก็เป็นพระสงฆ์ทรงศีลอันบริสุทธิ์ เป็นที่รวมจิตใจของประชาชน เมื่อครั้งที่ท่านเริ่มโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ก็รัฐบาลมิใช่หรือ ก็หนังสือพิมพ์ด้วยกันมิใช่หรือ ที่ยกย่องสรรเสริญกันเป็นหนักหนา กระทั่งแอบอ้างเอาว่ารัฐบาลนี้มีความชอบธรรม เพราะขนาดพระอริยสงฆ์ก็ยังคงสนับสนุน 

         บัดนี้เวลาผ่านไปเพียงไม่นาน ไฉนจึงเปลี่ยนท่าทีและความเคารพศรัทธาที่เคยแสดงให้ประชาชนได้เห็นมาแต่ก่อน ไปเป็นการตำหนิติเตียนอย่างไม่กลัวบาปไม่กลัวนรกเล่า  

         อย่าได้คิดเลยว่าคนไทยจะโง่เขลาเบาปัญญาว่าใครเป็นใคร ว่าใครรับใช้ใคร หรือใครรับจ้างมาด่ากระทั่งพระ ดังนั้น สิ่งที่คิดกับสิ่งทีทำจึงอาจจะได้ผลไม่ตรงกับที่ต้องการ ให้ดูสีหน้าคนที่เกี่ยวข้อง ก็จะเห็นได้ชัดว่านรกกำลังกินอยู่ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตาย อันน้ำหมากนั้นหาใช่น้ำลายที่จะละเลงใส่ใครให้เปรอะเปื้อนไปได้ไม่ หากว่าเป็นชาวพุทธเคารพนับถือพระสงฆ์ก็ย่อมรู้ดีว่า แต่โบราณกาลมา น้ำหมากของพระสงฆ์ทรงศีลนั้นอย่างน้อยก็เป็นยาชนิดหนึ่ง ที่สามารถรักษาโรคไวรัสบางจำพวกที่มีอาการผื่นคันได้เป็นอย่างดี  

          คนปักษ์ใต้ที่รู้จักพ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน ยังคงจะจำกันได้ว่าพ่อท่านคล้ายองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์ น้ำหมากของท่านเป็นทั้งน้ำมนต์ เป็นทั้งยารักษาโรคหลายชนิด เป็นที่นับถือบูชาของชาวภาคใต้ทั้งภาค แม้พระสงฆ์ทรงศีลองค์อื่น ๆ อีกหลายองค์ก็มีกิตติศัพท์ทำนองเดียวกันนี้ ดังนั้น ผู้รู้จึงไม่พึงดูหมิ่นเหยียดหยามน้ำหมากเป็นอันขาด โดยเฉพาะคนภาคใต้ ดีร้ายอาจจะเคยกินหรือเคยทาน้ำหมากมาบ้างแล้ว แต่เอาเถิด คนบางคนอาจจะไม่รู้ ก็ไม่อาจจะถือสาในเรื่องนี้   

          ส่วนข้อที่ว่าหลวงตาพระมหาบัวเป็นคนดื้อรั้น และกล่าวเป็นทำนองว่าใส่ร้ายรัฐบาลและรัฐมนตรีอย่างไม่ลืมหูลืมตา และยังพาประชาชนให้หลงผิด เหมือนกันเอาข้าวเปลือกถังหนึ่งไปใส่ไว้ในยุ้งแล้วใช้สอยข้าวเปลือกนั้นอีกไม่ได้ ข้อนี้เป็นการบิดเบือนความจริงโดยแท้ และเป็นการบิดเบือนความจริงที่จำจะต้องทำความจริงให้ประจักษ์ชัด ด้านหนึ่งเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง อีกด้านหนึ่งเพื่อทำลายการโกหกใส่ร้ายพระให้สูญสิ้นไป

          คำอุปมานั้นไม่ตรงกับเรื่อง เพราะข้าวเปลือกยุ้งที่ว่านั้นไม่ใช่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่ของรัฐบาลไทย หากเป็นของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

          เพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนี้ จำเป็นจะต้องยกเรื่องเก่ามาแสดงเพื่อจะได้เห็นที่มาและที่ไป               
         สิ่งที่หลวงตาพระมหาบัวเรียกว่า “คลังหลวง” นั้น อาจเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปฏิรูประบบภาษีและการคลังของประเทศ  

         ในครั้งนั้นทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น มีหน้าที่สามประการ คือ

         ประการแรก         จัดเก็บภาษีอากรที่กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยราชการต่าง ๆ และประเภทต่าง ๆ ให้เป็นระบบระเบียบ มีความชัดเจน 

         ประการที่สอง      รับผิดชอบเกี่ยวกับเงินตรา โดยในขั้นแรกให้ออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อแทนค่าของเงินที่เป็นเงินจริง ๆ แทนการที่จะต้องแบกหามหรือหอบหิ้วตัวเงินจริง ๆ ที่ใช้กัน ตั๋วเงินนี้จะออกให้แก่ผู้ที่นำตั๋วเงินมาแลกตามมูลค่าที่เท่ากันอย่างหนึ่ง ครั้งต่อมาได้เปลี่ยนรูปจากตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นธนบัตร ซึ่งใช้สืบเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้    

         ในประการที่สามนี่แหละที่กำลังเป็นปัญหากันอยู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเพราะเงินก้อนนี้คือเงินของราษฎรทั้งประเทศ เป็นตัวเงินจริง ๆ ที่ราษฎรได้รับธนบัตรไปถือไว้แทน และไม่เพียงแต่ราษฎรเท่านั้น หน่วยงานต่าง ๆ ก็เป็นเจ้าของเงินก้อนนี้ถ้าหากว่ามีธนบัตรหรือมีเงินตามมูลค่าที่ตราไว้ 

          ครั้นต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ คณะราษฎร์ได้มอบหมายให้นายปรีดี  พนมยงค์ ทำการปฏิรูประบบภาษีและการคลังของประเทศ นายปรีดี  พนมยงค์ ได้ดำเนินการสองเรื่อง คือ  

          เรื่องที่ ๑     ในปี ๒๔๘๕ ได้สถาปนาธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นธนาคารกลางของชาติ มีการออกกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยและกฎหมายเงินตรารองรับเพื่อการนี้ ให้โอนหน้าที่ของหอรัษฎาพิพัฒน์ในประการที่สองและประการที่สามมาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล  

          ดังนั้น คลังหลวงจึงถูกโอนมาให้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลและมีการตั้งหน่วยงานระดับฝ่ายขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบ เรียกว่าฝ่ายออกบัตร ทำหน้าที่เกี่ยวกับการออกบัตรและรักษาเงินที่หนุนค่าธนบัตรหรือคลังหลวงนั้น ตลอดจนการหาดอกผลจากเงินดังกล่าวเข้าคลังหลวง ซึ่งเป็นที่รู้เป็นที่เข้าใจและเป็นที่ยอมรับกันตลอดมาว่า คลังหลวงนั้นเป็นเงินของราษฎรทั้งประเทศและของทุกหน่วยงานที่มีเงิน ความยอมรับนับถือนี้ยังดำเนินต่อมาทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่งในวาระที่ พลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังยึดมั่นในหลักการนี้อยู่ ดังนั้น แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินมาเป็นทุนสำรองเพียงประมาณ ๑๗,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ไม่อาจแตะต้องเงินในคลังหลวงซึ่งมีอยู่ถึงประมาณ ๕๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ เพราะมันจะทำให้ธนบัตรของราษฎรทั้งประเทศกลายเป็นเงินกงเต็กอย่างหนึ่ง และบรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่ยอมรับนับถือให้กระทำเช่นนั้นอีกอย่างหนึ่ง    

          เรื่องที่ ๒   ตราประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๔๘๗ ให้ยกเลิกบรรดาภาษีและอากรทั้งหลายที่เก็บตามกฎหมายต่าง ๆ เรียกว่าอากรแสตมป์ ซึ่งต่อมาภายหลังได้แก่ประเภทภาษีต่าง ๆ ออกไปตามกรมที่มีหน้าที่จัดเก็บ   

          เงินของคลังหลวงที่โอนมา ให้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลรับผิดชอบ หากจะเป็นข้าวเปลือก จึงไม่ใช่ข้าวเปลือกของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือของรัฐบาล หากเป็นข้าวเปลือกของคนไทยทั้งชาติ    

          เงินทอดผ้าป่าช่วยชาติของหลวงตาพระมหาบัว คือเงินที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะส่งเข้าสมทบคลังหลวงหรือยุ้งข้าวเปลือกของราษฎรทั้งชาติ และเมื่อรวมเข้ากันแล้วก็ยังคงเป็นข้าวเปลือกของราษฎรทั้งชาติอยู่นั่นเอง    

           เมื่อเป็นเงินของราษฎรทั้งชาติ ก็ต้องพูดให้ชัดว่านี่เป็นเงินของราษฎร ไม่ใช่เงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะไปใช้สอยอย่างอื่นได้ นอกจากเพื่อราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของเงินนั้น               
         การที่หลวงตาพระมหาบัวและประชาชนจำนวนมากคัดค้านการรวมบัญชี ก็เพราะว่านี่คือการหลอกลวงต้มตุ๋นมนุษย์ ที่ทำให้คนหลงผิดว่าเงินของราษฎรทั้งชาติเป็นเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเป็นเงินของธนาคารแห่ประเทศไทยเสียแล้ว จะเอาไปทำอะไรก็ได้เหมือนที่ทำกันอยู่นี้

          ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการรวมบัญชี เนื้อแท้ก็คือการปล้นเงินของราษฎรทั้งชาติเอามาเป็นเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ต่างอะไรกับการออกกฎหมายและให้เอาบัญชีเงินฝากของคนไทยทั้งชาติมาเป็นของรัฐบาลนั่นเอง  

           ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่หลวงตาพระมหาบัวคัดค้านและประณามว่าเป็นการปล้นชาติปล้นประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ตรงกับข้อเท็จจริงและสอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชนทั้งชาติ เพราะบัดนี้ไม่ว่าโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือบิดเบือนอย่างไร คนไทยทั้งชาติเชื่อพระเชื่อความจริงดังกล่าวนี้

           หลวงตาพระมหาบัวจึงเป็นที่พึ่งทางความคิดและเป็นที่พึ่งทางใจของคนไทยทั้งชาติที่จะปกป้องทรัพย์สมบัติของราษฎรทั้งมวลไม่ให้ถูกเขายึดไปทำปู้ยี่ปู้ยำ ดักว่านักการเมืองจำนวนมากที่ไม่รู้สึกเจ็บแค้นด้วยราษฎรในเรื่องนี้

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >